เอเชียเป็นเป้าหมายอันดับหนึ่งของจดหมายภาษีทรัมป์
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯกำลังลงนามในเอกสาร ที่ห้องทำงานรูปไข่ในทำเนียบขาว (Photo by JOE RAEDLE / GETTY IMAGES NORTH AMERICA / Getty Images via AFP)
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ส่งจดหมายถึง 14 ประเทศซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเอเชีย แจ้งว่าภาษีนำเข้าอัตราสูงจะเริ่มใช้ในวันที่ 1 สิงหาคม เว้นแต่ว่าพวกเขาจะบรรลุข้อตกลงกับสหรัฐฯ
เป็นครั้งที่สองที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กำหนดเส้นตายหลังจากที่เขาเลื่อนภาษีกับเกือบทุกประเทศในเดือนเมษายน เป็นเวลา 90 วัน
ประเทศที่มีการค้าไม่สมดุลกับสหรัฐฯ จำนวนมากเป็นเป้าหมายสำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น (เกินดุล 68,500 ล้านดอลลาร์ในปี 2024), เกาหลีใต้ (เกินดุล 66,000 ล้านดอลลาร์), ไทย (เกินดุล 45,600 ล้านดอลลาร์) และอินโดนีเซีย (เกินดุล 17,900 ล้านดอลลาร์)
นี่คือความหมายของจดหมายของทรัมป์สำหรับประเทศเหล่านี้:
- เกาหลีใต้ : ยังมองในแง่ดีสำหรับข้อตกลง -
เกาหลีใต้ซึ่งแบกรับภาระภาษีเหล็กและรถยนต์อยู่แล้ว กำลังเผชิญกับการขึ้นภาษี 25% สำหรับสินค้าส่งออกที่เหลือไปยังสหรัฐฯ แต่ยังคงมีแง่ดีให้พิจารณาอย่างระมัดระวังสำหรับการบรรลุข้อตกลง
ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติของเกาหลีใต้กล่าวหลังจากพบกับมาร์โก รูบิโอ รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เมื่อวันจันทร์ว่า รัฐบาลวอชิงตันคาดหวังให้ทั้งสองฝ่ายสามารถบรรลุข้อตกลงได้ก่อนหน้าเส้นตาย 1 สิงหาคม
เกาหลีใต้ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ต่อเรือที่ใหญ่ที่สุดในโลก ตกลงที่จะประสานงานอย่างใกล้ชิดกับสหรัฐฯ เพื่อให้บรรลุผลลัพธ์ที่จับต้องได้และเป็นประโยชน์ร่วมกัน
- ญี่ปุ่น : ข้าวและรถยนต์ -
ญี่ปุ่นซึ่งเป็นพันธมิตรใกล้ชิดของสหรัฐฯ และเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สุด ต้องรับมือกับการเก็บภาษี 25% จากอุตสาหกรรมรถยนต์หลักของตน
ญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับการเก็บภาษีสินค้าอื่น ๆ ในอัตราเดียวกัน โดยเพิ่มขึ้นจาก 24% ที่ประกาศเมื่อเดือนเมษายน แต่ก็ยังดีกว่า 30%, 35% หรือตัวเลขใด ๆ ก็ตามที่ทรัมป์ขู่ไว้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว
นายกรัฐมนตรีชิเงรุ อิชิบะ กล่าวในการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า "ภาษีศุลกากรที่ระบุไว้ในจดหมายนั้นน่าเสียใจจริง ๆ"
เขากล่าวว่าเหตุผลที่ไม่บรรลุข้อตกลงกับสหรัฐฯก็คือ "รัฐบาลญี่ปุ่นหลีกเลี่ยงการประนีประนอมแต่ฝ่ายเดียว, เรียกร้องสิ่งที่ควรเรียกร้อง, ปกป้องสิ่งที่ควรปกป้อง และดำเนินการเจรจาอย่างเข้มงวด"
ทั้งนี้ ทรัมป์เคยวิพากษ์วิจารณ์ญี่ปุ่นที่ไม่เปิดตลาดให้ข้าวและรถยนต์ของสหรัฐฯ มากเพียงพอ
รัฐบาลโตเกียวกล่าวว่ากำลังปกป้องผลประโยชน์ของเกษตรกรในท้องถิ่นและใช้แนวทางที่แข็งกร้าวในการเจรจา
"เราไม่มีเจตนาจะเจรจาโดยเอาเปรียบภาคเกษตรกรรม" เรียวเซอิ อากาซาวะ ผู้แทนการค้าญี่ปุ่นด้านภาษีศุลกากรกล่าว
- อินโดนีเซีย : มองในแง่ดีไว้ก่อน -
อินโดนีเซียซึ่งเผชิญกับภาษีนำเข้า 32% กล่าวว่ายังคงมองในแง่ดีมากว่าจะสามารถบรรลุข้อตกลงกับสหรัฐฯได้ ขณะที่แอร์ลังก้า ฮาร์ตาร์โต หัวหน้ารัฐมนตรีเศรษฐกิจกำลังมุ่งหน้าไปยังสหรัฐเพื่อเริ่มการเจรจาอีกครั้ง
ฮัสซัน นาสบี โฆษกของประธานาธิบดีอินโดนีเซียกล่าวว่า รัฐบาลจาการ์ตามองในแง่บวกเกี่ยวกับการเจรจาครั้งนี้ เนื่องจากยังพอมีเวลาหายใจอีกหลายสัปดาห์
ทั้งนี้ อินโดนีเซียมีแผนจะเพิ่มการนำเข้าสินค้าเกษตรและพลังงานจากสหรัฐเพื่อสรุปข้อตกลง
อินโดนีเซียประกาศก่อนหน้านี้ว่าตกลงที่จะนำเข้าข้าวสาลีสหรัฐฯอย่างน้อย 1 ล้านตันต่อปีในช่วงเวลา 5 ปีข้างหน้า ด้วยมูลค่ารวม 1,250 ล้านดอลลาร์
- กัมพูชา, เมียนมา, ลาว : พันธมิตรจีนเผชิญภาษีสูง -
ทรัมป์ประกาศขึ้นภาษีกัมพูชา 49% เมื่อเดือนเมษายนซึ่งเป็นหนึ่งในอัตราที่สูงที่สุดในการโจมตีครั้งนั้น แต่จดหมายที่ส่งถึงประเทศที่มีโรงงานของจีนจำนวนมาก กลับปรับลดอัตราภาษีนี้ลงเหลือ 36%
นายกรัฐมนตรีฮุน มาเนต รับรองกับทำเนียบขาวว่า กัมพูชาขอแสดงความจริงใจด้วยการลดภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ 19 ประเภท
เมียนมาและลาวซึ่งเผชิญภาษี 40% ต้องพึ่งพาการลงทุนจากจีน ในขณะที่ห่วงโซ่อุปทานของทั้งสองประเทศเชื่อมโยงกันอย่างใกล้ชิดกับมหาอำนาจของเอเชีย
รัฐบาลวอชิงตันเน้นย้ำซ้ำแล้วซ้ำเล่าถึงความเสี่ยงที่สินค้าจีนจะใช้ทางผ่านประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีของสหรัฐฯ ที่กำหนดเป้าหมายต่อจีน
- ไทยและมาเลเซีย : ให้คำมั่นสัญญา -
ไทยได้รับแจ้งว่าเผชิญกับภาษี 36% และรัฐบาลของพวกเขาเสนอช่องทางเข้าถึงตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรและอุตสาหกรรมของสหรัฐฯ มากขึ้น, เพิ่มการซื้อพลังงาน และเพิ่มคำสั่งซื้อเครื่องบินโบอิ้ง
ภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการนายกรัฐมนตรีไทยกล่าวว่า เขาต้องการข้อตกลงที่ดีกว่า และเสริมว่าสิ่งที่สำคัญที่สุดคือการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับสหรัฐอเมริกา
พิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีคลังเปิดเผยกับสำนักข่าวบลูมเบิร์กว่า รัฐบาลตั้งเป้าลดดุลการค้าสหรัฐฯ ลงร้อยละ 70 ภายใน 5 ปี และจะบรรลุความสมดุลภายใน 7-8 ปีข้างหน้า
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานด้วยว่า การบินไทยอาจซื้อเครื่องบินโบอิ้งมากถึง 80 ลำในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
ขณะที่มาเลเซียเผชิญภาษีนำเข้า 25% และกระทรวงการค้ากล่าวว่าจะยังคงเจรจาต่อไปเพื่อบรรลุข้อตกลงการค้าที่สมดุล, เป็นประโยชน์ร่วมกัน และครอบคลุม
- บังกลาเทศ : สิ่งทอเสี่ยง -
ผู้ผลิตสิ่งทอรายใหญ่อันดับสองของโลกกำลังเผชิญกับภาษีนำเข้าสินค้า 35% แต่ยังหวังว่าจะลงนามในข้อตกลงกับสหรัฐฯได้ภายในต้นเดือนกรกฎาคม
การผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มของบังกลาเทศคิดเป็นประมาณ 80% ของการส่งออกและการจัดหาสินค้าให้กับแบรนด์สหรัฐฯ เช่น Vans, Timberland และ The North Face
นอกจากนี้ รัฐบาลธากายังเสนอที่จะซื้อเครื่องบินโบอิ้งและเพิ่มการนำเข้าข้าวสาลี, ฝ้าย และน้ำมันจากสหรัฐฯ
"เราได้กำหนดเงื่อนไขเรียบร้อยแล้ว" มะห์บูร์ ราห์มาน เลขาธิการกระทรวงพาณิชย์กล่าว และเสริมว่าคณะเจรจากำลังอยู่ในขั้นตอนหารือ
- ประเทศเป้าหมายอื่นๆ -
คาซัคสถาน (25%), แอฟริกาใต้ (30%), ตูนิเซีย (25%), เซอร์เบีย (35%) และบอสเนีย (30%) เป็นกลุ่มประเทศซึ่งได้รับจดหมายที่ทรัมป์เปิดเผยต่อสาธารณะล่าสุด.