สศก. จับตาเดือน ก.ค.- ต.ค. ทุเรียน ภาคเหนือตอนล่างราคากิโลละ 35-45 บาท
สศก. จับตาผลิต ทุเรียน ภาคเหนือตอนล่าง ปี 68 ทะลัก 55,000 ตัน เพิ่มขึ้น 12.47% ฉุดราคาเหลือกิโลละ 35-45 บาทสร้างรายได้รวม 5,300 กว่าล้านบาท
นางธัญญ์พิชชา เถระรัชชานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 พิษณุโลก (สศท.2) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การผลิต ทุเรียน ภาคเหนือตอนล่าง ปี 2568 ในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย แพร่ พิษณุโลก ตาก และน่าน (ข้อมูล ณ 4 มิ.ย.2568) พบมีเนื้อที่ยืนต้นรวม 100,559 ไร่ เพิ่มขึ้น 9% หรือ เพิ่มขึ้น 8,085 ไร่ จากปีที่ผ่านมาที่มีจำนวน 92,474 ไร่ เนื้อที่ให้ผลรวม 71,513 ไร่ เพิ่มขึ้น 5.20% หรือ เพิ่มขึ้น 3,533 ไร่ จากปีที่ผ่านมาที่มีจำนวน 67,980 ไร่
ด้านผลผลิตรวม 54,486 ตัน เพิ่มขึ้น 12.47% หรือ เพิ่มขึ้น 6,039 ตัน จากปีที่ผ่านมาที่มีจำนวน 48,447 ตัน ผลผลิตเฉลี่ย 3,620 กิโลกรัม/ไร่ เพิ่มขึ้น 3.72% หรือเพิ่มขึ้น 130 กิโลกรัม จากปีที่ผ่านมาที่มีจำนวน 3,490 กิโลกรัม/ไร่ ขณะนี้ ผลผลิตทุเรียนทั้ง 6 จังหวัด ทยอยออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนปลายเดือนเม.ย. - มิ.ย.2568 แล้ว รวม 24,612 ตัน ในส่วนของเดือนก.ค.ออกมากถึง 20,755 ตัน และจะออกต่อเนื่องถึงเดือนต.ค. 2568 อีก 9,119 ตัน
ทั้งนี้ เกษตรกรทั้ง 6 จังหวัดนิยมปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ซึ่งเป็นพันธุ์ทางการค้าผู้บริโภคตลาดทั้งในและต่างประเทศ
ด้านสถานการณ์ราคาทั้ง 6 จังหวัด ที่เกษตรกรขายได้ (ราคา ณ 7 ก.ค. 2568) ผลผลิตส่วนใหญ่ 83% จำหน่ายแบบแบ่งเกรด ได้แก่ อุตรดิตถ์ และสุโขทัย จำหน่ายเกรด A – AB ราคา 75 - 80 บาท/กิโลกรัม เกรด C ราคา 50 - 70 บาท/กิโลกรัม และแบบตกเกรด (น้ำหนักต่อผลเกิน 5 กก. และผลไม่สวย) ราคา 35- 45 บาท/กิโลกรัม ส่วนจังหวัดพิษณุโลก ตาก และน่าน จำหน่ายแบบคละเกรด ราคา 70 - 85 บาท/กิโลกรัม
สำหรับความโดดเด่นของทุเรียนแต่ละพื้นที่ พบว่า อุตรดิตถ์ แหล่งผลิตทุเรียนที่ใหญ่ที่สุด มีเนื้อที่ยืนต้นมากถึง 57.89% ของเนื้อที่ยืนต้นทุเรียนภาคเหนือ สร้างรายได้ให้จังหวัดกว่า 5,300 กว่าล้านบาท เกษตรกรปลูกพันธุ์หมอนทองเป็นส่วนใหญ่ รองลงมาพันธุ์หลงลับแล และพันธุ์หลินลับแล ซึ่ง “ทุเรียนหลง - หลินลับแล” ได้รับการขึ้นทะเบียน GI เนื้อของทุเรียนเนียนละเอียด หอมอ่อน ๆ รสชาติหวานมัน
สุโขทัย เกษตรกรปลูกพันธุ์หมอนทอง ภายใต้ชื่อ “หมอนพระร่วง สุโขทัย” ปลูกบนภูเขาและที่ราบเชิงเขา แร่ธาตุอุดมสมบูรณ์ ส่งผลให้ทุเรียนมีรสชาติดี เนื้อหนาเนียนละเอียด รสชาติเข้มข้นไม่หวานจัด ซึ่งหน่วยงานในพื้นที่ได้ส่งเสริมการผลิตและการจัดการแปลงให้ได้คุณภาพมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ทุเรียนหมอนพระร่วงสุโขทัยเป็นที่รู้จักในวงกว้าง และก้าวขึ้นเป็นผลไม้เศรษฐกิจอันดับต้น ๆ ของจังหวัด สร้างรายได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 800 ล้านบาท
และ พิษณุโลก จังหวัดมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร (Agro-tourism) เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะทุเรียนในพื้นที่ตำบลบ้านแยง อำเภอนครไทย ภายใต้ชื่อ “ทุเรียนหมอนทอง บ้านแยงนครไทย พิษณุโลก” ปลูกในพื้นที่ภูเขา แร่ธาตุอุดมสมบูรณ์ ส่งผลให้ทุเรียนมีเนื้อสีเหลืองเข้ม เนื้อแน่นละเอียด รสชาติหวานมันครีมมี่ และมีกลิ่นหอม ซึ่งจังหวัดตั้งเป้ากระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ และส่งเสริมการแปรรูปทุเรียนสร้างมูลค่าเพิ่ม
อย่างไรก็ตาม การผลิตทุเรียนภาคเหนือบนพื้นที่ภูเขาและลาดเชิงเขายังมีข้อจำกัดต่อการบริหารจัดการตลอดช่วงอายุต้น ขณะที่การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ รวมถึงโรคและแมลงศัตรูพืช ยังกระทบต่อคุณภาพและปริมาณผลผลิต ดังนั้น การยกระดับคุณภาพการผลิตทุเรียนภาคเหนือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ควรบูรณาการจัดทำโครงการพัฒนาโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม
เน้นพื้นที่เป้าหมายในจังหวัดและกลุ่มจังหวัดสำคัญการสร้างต้นแบบ “ฟาร์มทุเรียนอัจฉริยะ” สู่การขยายผลในแหล่งผลิตสำคัญอื่น ๆ ควบคุมมาตรฐานโรงรวบรวม คัดบรรจุ และล้งทุเรียน พร้อมการกำกับติดตามอย่างเคร่งครัด รวมถึงการประชาสัมพันธ์การผลิตทุเรียนคุณภาพ เพื่อลดความเสี่ยงจากการถูกยกเลิกคำสั่งซื้อ และเร่งผลักดันทุเรียน GI พร้อมคงคุณภาพผลผลิต เพื่อสร้างโอกาสซื้อซ้ำและความมั่นคงในรายได้ของเกษตรกร
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : สศก. จับตาเดือน ก.ค.- ต.ค. ทุเรียน ภาคเหนือตอนล่างราคากิโลละ 35-45 บาท
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
- Website : https://www.khaosod.co.th