ปรากฏการณ์ 'Money Flood' ในตลาด ETF ไต้หวัน
นักลงทุนแห่เข้าซื้อกองทุนหุ้นแบบ Exchange-Traded Fund (ETF) ที่จดทะเบียนในไต้หวันจนเกิดปรากฏการณ์ "Money Flood" หรือการไหลเข้าของเงินลงทุนอย่างล้นหลาม โดยดึงดูดเงินลงทุนมากกว่า 1.94 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2025 ตามข้อมูลจาก Bloomberg Intelligence
นอกจากนี้ จำนวนเงินลงทุนที่ไหลเข้าไต้หวันในปีนี้ยังมีมูลค่ามากกว่าเม็ดเงินที่ไหลเข้าเกาหลีใต้และจีน (1.73 หมื่นล้านดอลลาร์) รวมกัน ซึ่งเป็นจำนวนที่ใกล้เคียงกับปี 2024 แสดงให้เห็นถึงอัตราการเติบโตที่รวดเร็วอย่างไม่เคยมีมาก่อน
แรงขับเคลื่อนจากนักลงทุนรายย่อย
สาเหตุหลักของการไหลเข้าของเงินลงทุนมาจากพลังของนักลงทุนรายย่อยในประเทศ Eddie Cheng หัวหน้าเจ้าหน้าที่ลงทุนของ Cathay Securities Investment Trust อธิบายว่า"การไหลเข้าสู่ Taiwan stock ETFs มักเพิ่มขึ้นเมื่อตลาดปรับตัวลง เนื่องจากนักลงทุนท้องถิ่นชอบซื้อในช่วงที่ราคาตกต่ำ" ขณะเดียวกันยังเป็นผลจากการที่นักลงทุนหนีจากการลงทุนในสินทรัพย์ดอลลาร์และหันมาลงทุนในหุ้นไต้หวันแทน
นักลงทุนรายย่อยไต้หวันประมาณ 2 ล้านคนเข้าร่วมในแผนการลงทุนแบบสมทบเงินคงที่เป็นประจำ ซึ่งทำให้มีเม็ดเงินประมาณ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ไต้หวัน หรือ 519 ล้านดอลลาร์ เข้าสู่Taiex ETFs ทุกเดือนตามที่ Julian Liu ประธานกรรมการ Yuanta Securities Investment Trust กล่าวไว้
ความเชื่อมั่นในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์
ปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งคือความเชื่อมั่นต่ออุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของไต้หวัน โดยเฉพาะ Taiwan Semiconductor Manufacturing Company(TSMC) ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปรายใหญ่ที่สุดของโลก น่าสนใจว่า ETF หุ้นที่มีสัดส่วนสินทรัพย์ภายใต้การดูแล (AUM) ลงทุนใน TSMC เกือบ 60% ของมูลค่าพอร์ตทั้งหมดและมีเงินไหลเข้าทั้งหมด 6.2 พันล้านดอลลาร์ซึ่งเป็นจำนวนสูงสุดในภูมิภาคสำหรับปี 2025
มากไปกว่านั้น การลดค่าธรรมเนียมและการแบ่งหุ้นที่ทำให้ราคาลดลงสำหรับนักลงทุนรายย่อยยังเป็นปัจจัยที่ช่วยดึงดูดเงินลงทุนเพิ่มขึ้น
ภาพรวมตลาดไต้หวันยังแข็งแกร่งแม้เงินทุนต่างชาติไหลออก
แม้ว่านักลงทุนต่างชาติจะขายสุทธิหุ้นไต้หวันไป 3 พันล้านดอลลาร์ในปีนี้ ซึ่งเป็นจำนวนมากอันดับสี่ของเอเชีย แต่ดัชนี Taiex กลับลดลงเพียงประมาณ 2% เท่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของการสนับสนุนจากนักลงทุนในประเทศ
การฟื้นตัวของดอลลาร์ไต้หวันยังช่วยผลักดันการลงทุนในสกุลเงินท้องถิ่น โดยมีกระแส"Sell America" หรือการขายสินทรัพย์อเมริกันที่เป็นแรงผลักดันความคาดหวังให้เกิดการเติบโตเพิ่มเติม
การไหลออกของเงินลงทุนจากประเทศอื่นในเอเชีย
ในขณะที่ไต้หวันเป็นจุดหมายของเงินลงทุน หลายประเทศในเอเชียกลับประสบปัญหาการไหลออกของเงินลงทุนจาก ETF ตามข้อมูลจาก Bloomberg Intelligence ยกตัวอย่างเช่น “ประเทศไทย” ประสบการไหลออกสุทธิ 100 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ฮ่องกงมีการไหลออกมากกว่าคือ 700 ล้านดอลลาร์
สถานการณ์นี้สะท้อนให้เห็นถึงการหมุนเวียนของเงินลงทุนในภูมิภาคเอเชีย โดยนักลงทุนหันไปมองหาโอกาสใหม่ในตลาดที่มีศักยภาพสูงกว่า เช่น ไต้หวันที่มีพื้นฐานทางเทคโนโลยีแข็งแกร่ง รวมทั้งในประเทศไทยยังเผชิญกับความผันผวนจากปัจจัยในประเทศอย่างการเมืองที่ผันผวนจากการที่ล่าสุดนางสาวแพทองธาร ชินวัตร ถูกศาลสูงสุดสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวขณะสอบสวนเรื่องคลิปเสียงหลุดกับผู้นำของกัมพูชาว่าผิดจริยธรรมหรือไม่
แนวโน้มการเติบโตต่อเนื่อง
สินทรัพย์รวมในตลาด ETF ของไต้หวันเพิ่มขึ้น 64% มาอยู่ที่ 6.4 ล้านล้านดอลลาร์ไต้หวันในปีที่แล้ว และปัจจุบันอยู่ในอันดับสามของภูมิภาค ผู้เชี่ยวชาญจาก Bloomberg Intelligence คาดการณ์ว่าการไหลเข้าที่แข็งแกร่งนี้จะดำเนินต่อไป โดยตลาดรายย่อยที่พัฒนาแล้วและนักลงทุนที่มีความรู้ความเข้าใจด้านการลงทุนของไต้หวันจะช่วยให้ ETF ท้องถิ่นเติบโตได้เร็วกว่าส่วนอื่นของภูมิภาค
หน่วยงานกำกับดูแลยังใช้มาตรการเพื่อกระตุ้นภาคการเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเพิ่งอนุมัติ ETF ข้ามตลาดระหว่างไต้หวันและญี่ปุ่น ซึ่งอนุญาตให้ผลิตภัณฑ์สามารถจดทะเบียนในทั้งสองตลาดได้
ในขณะเดียวกัน นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อ ETF ของไต้หวันนี้เพื่อเก็งกำไรจากดอลลาร์ท้องถิ่น ขณะที่ธนาคารกลางกำลังขอความเห็นเกี่ยวกับแผนการเข้มงวดการซื้อสกุลเงินโดยนักลงทุนหุ้นต่างชาติ
จากข้อมูลที่อธิบายมาทั้งหมด “ตลาดไต้หวัน” จึงกลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดเงินลงทุนในภูมิภาคเอเชียขณะที่ประเทศอื่นรวมทั้งไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายในการรักษาเงินลงทุนในตลาดกองทุนของตนเอง
อ้างอิง: Bloomberg