กสทช.ลงมติ 5:1:1 รับรองผลประมูลคลื่นมือถือ "พิรงรอง" ไม่รับรอง
นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า วันนี้ (6 ก.ค.2568) กสทช.มีมติรับรองผลประมูลคลื่นความถี่มือถือ1500 MHz 2100 MHz และ 2300 MHz เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.ที่ผ่านมา 5:1:1 เสียง
กรรมการกสทช.ที่ลงมติรับรอง 5 เสียง ประกอบด้วย นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกสทช.,นายต่อพงศ์ เสลานนท์,พลตำรวจเอก ณัฐธร เพราะสุนทร ,นายสมภพ ภูริวิกรัยพงศ์และ พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ
ส่วน 1 เสียงที่ไม่รับรอง คือ นางสาวพิรงรอง รามสูต ขณะที่อีก 1 เสียง คือ นายศุภัช ศุภชลาศัย งดออกเสียง
สำหรับประเด็นเงื่อนไขเพิ่มเติมท้ายใบอนุญาตที่ทำให้กสทช.ถกกันนานกว่า 3 ชั่วโมงนั้น ต้องให้ที่ปรึกษากฎหมายไปตีความก่อน ว่าสามารถทำได้หรือไม่
สำหรับการประมูลความถี่เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.ที่ผ่านมานั้น ได้เริ่มต้นเมื่อเวลา 09.30 น. และสิ้นสุดลง ณ เวลา 10.48 น. ในวันเดียวกัน มีราคาประมูลรวมทั้งสิ้น 41,273,960,346 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) โดยมีผู้ชนะการประมูล 2 ราย คือ
ย่าน 2100 MHz มีผู้ชนะการประมูล 1 ราย ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จํากัด หรือ เอดับบลิวเอ็น ในเครือบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอสได้รับการจัดสรรชุดคลื่นความถี่จํานวน 3 ชุด ในช่วงความถี่ 1965-1980 MHz คู่กับ 2155-2170 MHz โดยมีราคาสุดท้าย 14,850,000,010 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
ย่าน 2300 MHz มีผู้ชนะการประมูล 1 ราย ได้แก่ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จํากัด หรือ TUC ในเครือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้รับการจัดสรรชุดคลื่นความถี่จํานวน 7 ชุด ในช่วงความถี่ 2300-2370 MHz โดยมีราคาสุดท้าย 21,770,000,168 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
3 ย่าน 1500 MHz มีรอบในการประมูล 1 รอบ มีผู้ชนะการประมูล 1 ราย ได้แก่ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จํากัด หรือ TUC ในเครือบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้รับการจัดสรรชุดคลื่นความถี่จํานวน 4 ชุด ในช่วงความถี 1452-1472 MHz โดยมีราคาสุดท้าย 4,653,960,168 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)
ปัจจุบัน ทรูมีคลื่นความถี่รวม 1,350 MHz หลังจากการประมูลครั้งนี้ ต้องชำระค่าใบอนุญาตรวม 26,423,960,336 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ส่งผลให้มีคลื่นความถี่ทั้งสิ้น 1380 MHz ขณะที่เอไอเอสต้องชำระค่าใบอนุญาตรวม 14,850,000,010 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) แต่ปริมาณคลื่นความถี่เท่าเดิม ที่ 1,460 MHz
ขั้นตอนหลังจากนี้ 7 – 29 ก.ค. 2568 ผู้ชนะการประมูลชำระเงินงวดที่ 1 และ 4 ส.ค. 2568 เริ่มต้นการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่