เช็กผลรถไฟฟ้า 20 บาท ปี 2 “สายสีแดง/ม่วง” ผู้โดยสารยังพุ่ง-รายได้เพิ่ม
“ทีมข่าวนวัตกรรมขนส่งเดลินิวส์” รายงานว่า ผลการดำเนินมาตรการค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย ในระยะ(เฟส)แรก ปีที่ 2 สำหรับรถไฟชานเมืองสายสีแดง(รถไฟฟ้าสายสีแดง) ช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน และรถไฟฟ้า MRT สายสีม่วง ช่วงเตาปูน-บางใหญ่ เพื่อลดภาระค่าครองชีพให้ประชาชน ตามนโยบายกระทรวงคมนาคม โดยจากข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2567 ถึงวันที่ 31พ.ค.2568 ยังได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชน ปริมาณผู้โดยสารทั้ง 2 สาย เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ส่วนการดำเนินมาตรการฯ ในระยะที่ 2 ซึ่งจะใช้ได้กับรถไฟฟ้าทุกสายทั้ง 8 สาย ที่จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย.2568 ตามนโยบายนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คมนาคม โดยขณะนี้กระทรวงคมนาคม ได้เสนอแนวทางการดำเนินมาตรการฯ เฟสที่ 2 ไปยังคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อพิจารณาแล้ว อย่างไรก็ตามสำหรับผลการดำเนินการในปีที่ 2 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (1 ต.ค.2566-31พ.ค.2567) พบว่า ปริมาณผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดงเฉลี่ย เพิ่มขึ้น 26.93% โดยปีก่อนผู้โดยสาร 27,299 คนต่อวัน และปีที่ 2 ผู้โดยสาร 34,652 คนต่อวัน แต่หากเปรียบเทียบกับช่วงก่อนดำเนินมาตรการฯ (16 ต.ค.2565 – 30 ก.ย.2566) ที่มีผู้โดยสาร 19,335 คนต่อวัน พบว่า ผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดง เพิ่มขึ้น 79.22% หรือ 15,317คนต่อวัน
ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีม่วง ปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 5.10% โดยปีก่อนผู้โดยสาร63,303 คนต่อวัน และปีที่ 2 ผู้โดยสาร 66,533 คนต่อวัน หากเปรียบเทียบกับช่วงก่อนดำเนินมาตรการฯ ที่มีผู้โดยสาร 56,208 คนต่อวัน พบว่า ผู้โดยสารรถไฟฟ้าสายสีม่วง เพิ่มขึ้น 18.37% หรือ 10,325 คนต่อวัน และหากรวมทั้งสองสาย (สีแดง และสีม่วง) ปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 11.68% โดยปีก่อนผู้โดยสาร 90,602 คนต่อวัน และปีที่ 2 ผู้โดยสาร 101,185 คนต่อวัน แต่หากเปรียบเทียบกับช่วงก่อนดำเนินมาตรการฯ ที่มีผู้โดยสาร 75,543 คนต่อวัน พบว่า ผู้โดยสารรถไฟฟ้าทั้งสองสาย เพิ่มขึ้น 33.94% หรือ 25,642 คนต่อวัน
สำหรับปริมาณรายได้ค่าโดยสารจากการดำเนินมาตรการฯ พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1ต.ค.2567 – 31 พ.ค.2568 รถไฟฟ้าสายสีแดง มีรายได้เฉลี่ย 6.5 แสนบาทต่อวัน เมื่อเปรียบเทียบกับกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (1 ต.ค.2566-31พ.ค.2567) ที่มีรายได้ 5.5 แสนบาทต่อวัน พบว่า เพิ่มขึ้น 18.18% แต่หากเปรียบเทียบกับช่วงก่อนดำเนินมาตรการฯ ที่มีรายได้ 5.8 แสนบาทต่อวัน พบว่า รายได้เพิ่มขึ้น 12.07% หรือ 7 หมื่นบาทต่อวัน
ส่วนสายสีม่วง มีรายได้ 9.9 แสนบาทต่อวัน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีรายได้ 9.5 แสนบาทต่อวัน พบว่า เพิ่มขึ้น 4.07% แต่หากเปรียบเทียบกับช่วงก่อนดำเนินมาตรการฯ ที่มีรายได้ 1.31 ล้านบาทต่อวัน พบว่า รายได้ลดลง 24.43% หรือ 3.2 แสนบาทต่อวัน หากรวมทั้งสองสาย(สีแดง และสีม่วง) มีรายได้ 1.64 ล้านบาทต่อวัน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีรายได้ 1.55 ล้านบาทต่อวัน พบว่า เพิ่มขึ้น 9.33%แต่หากเปรียบเทียบกับช่วงก่อนดำเนินมาตรการฯ ที่มีรายได้อยู่ที่ 1.89 ล้านบาทต่อวัน พบว่า รายได้ลดลง 13.23% หรือ 2.5 แสนบาทต่อวัน
อย่างไรก็ตามในการจัดทำวงเงินชดเชยรายได้ให้กับรถไฟฟ้าสายสีแดง และสายสีม่วง จะประเมินเมื่อสิ้นสุดเวลาการดำเนินมาตรการฯ โดยในปีที่ 2 ครม. มีมติดำเนินมาตรการฯ ตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.2567 สิ้นสุดวันที่ 30 พ.ย.2568วงเงินชดเชย 400 ล้านบาท ซึ่งประมาณการว่า รถไฟฟ้าสายสีแดง จะสูญเสียรายได้ 35.35 ล้านบาท และรถไฟฟ้าสายสีม่วง 272.99 ล้านบาท แต่ปัจจุบันดำเนินมาตรการฯ ผ่านมาแล้ว 6 เดือน พบว่า รถไฟฟ้าสายสีแดง มีรายได้มากกว่ารายได้ที่เคยได้รับแล้ว ส่วนสายสีม่วง รายได้ยังน้อยกว่าที่เคยได้รับ โดยสูญเสียรายได้ไปประมาณ 57.6 ล้านบาท คาดว่าเมื่อครบ 30 พ.ย.2568 ยังต่ำกว่าที่ประมาณการเสนอ ครม.