หุ้นอสังหา ฯ ไร้สัญญาณฟื้น ครึ่งปีหลังยังต้องลุ้นเหนื่อย
คาดไตรมาส 2 ปีนี้ผลประกอบการหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์อาจแย่ยิ่งกว่าไตรมาสแรก ส่วนครึ่งปีหลังยังต้องลุ้นเหนื่อย แม้มีมาตรกระตุ้นจากภาครัฐ เหตุยอดค้างสต๊อกอื้อ เศรษฐกิจไม่เอื้ออำนวย สินเชื่อบ้านยังถูกคุมเข้ม อีกทั้งการเมืองไม่มีเสถียรภาพ กดทั้งกลุ่มไม่น่าลงทุน ขณะ SPALI ASW และ AP สถานะการเงินแข็งแกร่ง บริหารจัดการเด่น ช่วยฝ่าวิกฤตอสังหาฯซบ
หลังบริษัทกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ (ตลท.) รายงานผลการดำเนินงานไตรมาสแรก ปี 2568 โดยรายได้รวม มีมูลค่ารวม 56,134.39 ล้านบาท และกำไรสุทธิที่ 2,860.15 ล้านบาท ลดลง 21.04% และ 47.63% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปี 2567
เหตุผลโดยรวมที่ทำให้รายได้และกำไรลดลง มาจากมีการโอนกรรสิทธิ์ที่อยู่อาศัยจำนวนมากในไตรมาสสุดท้ายของปี 2567 ก่อนที่มาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองจะหมด ณ วันที่ 30 ธันวาคม 2567 ทำให้ยอดขายและรายได้ในไตรมาสแรกของปี 2568 ชะลอตัว
และหลังจากนั้นผู้ซื้อที่อยู่อาศัย ชะลอการซื้อ เพื่อรอการต่ออายุมาตรการการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง จากภาครัฐ ขณะที่ยังมาจากความไม่แน่นอนและความผันผวนของเศรษฐกิจโลกที่กระทบกับเศรษฐกิจไทย ส่งผลให้ผู้ซื้ออสังหาริมทรัพย์ชะลอการตัดสินใจซื้อในช่วงไตรมาสแรก นำไปสู่ความสามารถในการทำกำไรที่ลดลงเหลือ 5.09% จาก 7.68% ในช่วงเวลาเดียวกันปีก่อนหน้า
ไม่เพียงเท่านี้ยังพบว่า ตลาดอสังหาริมทัพย์ยังมีสินค้าคงเหลือ บวกกับสินค้าที่อยู่ระหว่างการพัฒนาของทุกบริษัท ในไตรมาส 1/68 อยู่ที่ 718,904.31 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก สินค้าคงเหลือและที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ณ สิ้นปี 2567 ที่ อยู่ที่ 716,560.50 ล้านบาท
คาด Q2 อสังหา ฯ ไม่สู้ดี
สิ่งน่าสนใจต่อจากนี้ นั่นคือ ในช่วงเดือนกรกฏาคมนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย ซึ่งรวมถึงกลุ่มอสังหาริมทรัพย์จะทยอยประกาศผลดำเนินงานไตรมาส 2/68 ออกมา แต่จากสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจของประเทศ และสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังมีความผันผวน จึงเริ่มทำให้นักลงทุนเกิดความกังวลต่อการลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้
ที่ผ่านมามีการประเมินทิศทางหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ในไตรมาส 2/68 ว่า ยังไม่พบสัญญาณในการฟื้นตัว เนื่องจากมีผลกระทบเรื่องแผ่นดินไหว บวกกับเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัวกว่าไตรมาสแรก โดยตลาดเชื่อว่าสัญญาณการฟื้นตัวของหุ้นกลุ่มนี้น่าจะเห็นได้บ้างในช่วงครึ่งปีหลัง 2568 มากกว่า เนื่องจากเชื่อว่า อาจจะมีนโยบายของภาครัฐเข้ามาช่วยผลักดันเพิ่มเติม โดยเฉพาะการปลดล็อกให้ต่างชาติสามารถซื้ออสังหาริมทรัพย์ให้มากขึ้น
สอดคล้องกับความเห็นของนักวิเคาะห์หลายแห่งเชื่อว่า ไตรมาส 2/68 น่าจะเป็นไตรมาสที่หนักที่สุดของกลุ่มอสังหาฯ เนื่องจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ส่งผลกระทบยอดพรีเซลล์ และมีการยกเลิกการจองค่อนข้างหนัก เห็นได้จากมีการยกเลิกและเลื่อนซื้อออกไปในช่วง 1-2 เดือน รวมถึงการเปิดตัวคอนโดมิเนียมที่ชะลอออกไปหลายโครงการ นั่นทำให้ไตรมาส 2/68 น่าจะเป็นไตรมาสที่หนักสุดสำหรับปี 2568
อย่าฝากความหวังรัฐบาล
ส่วนการฝากความหวังว่า การปรับอัตราดอกเบี้ย การปรับลดค่าธรรมเนียมการโอน หรือ การจดจำนองนั้น นักวิเคราะห์หลายค่าย เชื่อว่า ประเด็นดังกล่าวไม่ได้ช่วยในหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ได้มากนัก นั่นเพราะกำลังซื้อในประเทศถูกบั่นทอนจากเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัวหนัก อีกทั้งยังมีปัจจัยใหม่ที่กดดันเข้ามาเพิ่มเติม นั่นคือ สถานการณ์ทางการเมืองที่ง่อนแง่น เมื่อรัฐบาลมีสภาพ “เสียงปริ่มน้ำ” หลังบางพรรคการเมืองถอนตัวออกไป เพราะกรณีคลิปเสียงของนายกรัฐมนตรีกับผู้นำกัมพูชา
นั่นทำให้ หลายฝ่ายกังวลต่อนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่มีพรรค “เพื่อไทย”เป็นแกนนำ อาจจะไม่สามารถไปต่อได้ โดยเฉพาะเมื่อล่าสุดนายกรัฐมนตรีถูกสั่งให้ยุติทำหน้าที่ แม้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่จะได้รับการแต่งตั้งแล้วก็ตาม “หลายนโยบายของพรรคเพื่อไทย น่าจะสะดุดจากจำนวน ส.ส.ที่ลดลง การปรับคณะรัฐมนตรี และการถูกสังยุติทำหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี นั่นเท่ากับนโยบายในการผลักดันภาวะเศรษฐกิของประเทศให้ผ่านพ้นวิกฤตน่าจะมีปัญหามากกว่าจะมองเห็นทางออก ดังนั้น การเปิดตัวโครงการที่จะออกมากระตุ้นภาคอสังหาฯ น่าจะช้าลงไปอีก”
ทำให้เริ่มมีความกังวลว่า สถานการณ์ในช่วงครึ่งปีหลัง 2568 ของกลุ่มอสังหาริมทรัพย์อาจไม่ดีขึ้นกว่าช่วงครึ่งปีแรกเช่นกัน เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ ก็กดดันให้ผู้ประกอบการเลื่อนการเปิดตัวโครงการออกไป ขณะที่สินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ก็ยังคงเข้มงวด
อีกประเด็นที่น่าสนใจ นั่นคือสต๊อกโครงการที่ค้างอยู่ในระดับสูง ยิ่งเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวยิ่งทำให้การฟื้นตัวของกลุ่มอสังหาฯช้าลง ทั้งที่ก่อนหน้านี้ต่างคาดหวังว่าปีนี้จะเป็นปีแห่งการระบายสต็อก นั่นทำให้หุ้นกลุ่มอสังหาอยู่ในสภาวะ underweight
ครึ่งปีแรกกำลังซื้ออ่อนแอ
โดยสรุปภาพรวมหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ในครึ่งปีแรก 2568 (มกราคม - มิถุนายน) แสดงให้เห็นถึง ความท้าทายต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่ปัจจัยกดดัน อย่างเศรษฐกิจชะลอตัวและกำลังซื้ออ่อนแอ นั่นเพราะผู้บริโภคยังคงมีความกังวลต่อทิศทางเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ฟื้นตัวช้า โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลาง-ล่าง ทำให้การตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยเป็นไปอย่างระมัดระวัง
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยกดดันจาก อัตราดอกเบี้ยและเกณฑ์สินเชื่อที่เข้มงวด แม้จะมีแนวโน้มว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาจพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย แต่เกณฑ์การปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV) ยังคงเข้มงวด ส่งผลให้อัตราการปฏิเสธสินเชื่อสูง และเป็นอุปสรรคต่อการซื้อบ้าน
นั่นทำให้สต๊อกสินค้าคงเหลือสูง โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมบางทำเลที่ยังมีสตีอกสะสมอยู่มาก ซึ่งต้องใช้เวลาในการระบาย อีกทั้งความไม่แน่นอนทางการเมืองยังคงเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ชะลอการตัดสินใจลงทุนและการเปิดตัวโครงการใหม่ของผู้ประกอบการรวมไปถึงเหตุการณ์แผ่นดินไหว แม้จะทำให้ความต้องการที่อยู่อาศัยแนวราบในเมืองใหญ่เพิ่มขึ้นบ้าง แต่ก็สร้างความกังวลและผลกระทบต่อภาพรวมได้
ส่วนสัญญาณบวกและโอกาสของกลุ่มอสังหาริมทรัพย์นั้น นักวิเคราะห์เทน้ำหนักไปที่ มาตรการภาครัฐ หลังจากรัฐบาลได้ออกมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ เช่น การปรับลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง รวมถึงการผ่อนคลายเกณฑ์ LTV ชั่วคราวสำหรับที่อยู่อาศัยทุกระดับราคา (มีผลตั้งแต่ 1 พ.ค. 2568 - 30 มิ.ย. 2569) ซึ่งคาดว่าจะช่วยลดปัญหาบ้านค้างสต๊อกและกระตุ้นยอดโอนกรรมสิทธิ์ได้ในระดับหนึ่งแต่ไม่มากนัก
ขณะที่แนวโน้มอัตราดอกเบี้ย มีการคาดการณ์ว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) อาจพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลง ซึ่งจะช่วยลดภาระดอกเบี้ยเงินกู้และกระตุ้นการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค
นอกจากนั้น หุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ยังต้องหวังพึ่งพิงปัจจัยอื่นๆ เพื่อผลทางอ้อม อาทิ การฟื้นตัวของการท่องเที่ยว เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มขึ้นจะมีส่วนช่วยกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะในพื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญ รวมถึงการกระตุ้นการเบิกจ่ายและการลงทุนภาครัฐมีส่วนช่วยสร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นเศรษฐกิจ เห็นได้จากโครงการแนวราบ โดยเฉพาะบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์ ยังคงมีการฟื้นตัวของยอดจองซื้อที่ดีในหลายพื้นที่ เนื่องจากตอบโจทย์ความต้องการของกลุ่มคนทำงานและครอบครัว ขณะเดียวกันตลาดอสังหาริมทรัพย์ระดับกลางถึงบน ยังคงมีแนวโน้มเติบโตได้ดี เนื่องจากตอบโจทย์กลุ่มผู้ซื้อที่มีกำลังซื้อสูง
ทิศทางครึ่งปีหลัง
สำหรับแนวโน้มของหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ในไตรมาส 3/68 และไตรมาสสุดท้ายปีนี้ นักวิเคราะห์คาดว่าจะยังคงเป็นช่วงที่ ต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิดและมีปัจจัยทั้งหนุนและกดดันที่ซับซ้อน เริ่มที่สัญญาณเชิงบวกที่คาดว่าจะเริ่มเห็นผลมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ได้แก่ มาตรการภาครัฐที่เริ่มส่งผล นำโดยมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนอง รวมถึงการผ่อนคลายเกณฑ์ LTV ที่มีผลตั้งแต่ 1 พ.ค. 2568 จะเริ่มส่งผลกระตุ้นยอดโอนกรรมสิทธิ์และยอดขายในไตรมาส 3 และ 4 มากขึ้น และผู้ประกอบการจะยังคงใช้มาตรการนี้เป็นจุดขายสำคัญในการกระตุ้นยอดขาย
จากนั้นคือแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาลง แม้ กนง. จะยังคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในการประชุมล่าสุด (25 มิ.ย. 68) แต่มีสัญญาณชัดเจนว่ามีโอกาสปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงในช่วงครึ่งปีหลัง (Q3-Q4) หากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ โดยการปรับลดดอกเบี้ยจะช่วยลดภาระการผ่อนชำระของผู้ซื้อ และลดต้นทุนทางการเงินของผู้ประกอบการ ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกสำคัญที่ช่วยกระตุ้นกำลังซื้อและความเชื่อมั่น
รวมถึงการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวที่ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง จะช่วยหนุนตลาดอสังหาริมทรัพย์ในเมืองท่องเที่ยวสำคัญ เช่น ภูเก็ต, พัทยา โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์เพื่อการลงทุน หรือบ้านพักตากอากาศ
ขณะที่อสังหาริมทรัพย์แนวราบยังคงแข็งแกร่ง เห็นได้จากความต้องการบ้านเดี่ยวและทาวน์โฮม โดยเฉพาะในทำเลชานเมือง ราคา 2-5 ล้านบาท ยังคงแข็งแกร่ง เนื่องจากตอบโจทย์ Real Demand (ความต้องการซื้อจริงเพื่ออยู่อาศัย) ที่มองหาบ้านพร้อมอยู่และโปรโมชั่นที่ลดภาระค่าใช้จ่าย
ส่วนตลาดคอนโดมิเนียมในเมืองเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัว โดยเฉพาะในโซนใจกลางเมืองอย่างสุขุมวิท สีลม รัชดา เริ่มมีการขยับราคาขึ้นเล็กน้อย และนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะจากจีน ไต้หวัน ฮ่องกง เริ่มกลับมาให้ความสนใจ แม้จะยังไม่เท่าช่วงก่อนโควิดก็ตาม
อย่างไรก็ตาม ใน 2 ไตรมาสสุดท้ายปี 2568 ยังมีปัจจัยกดดันที่ยังคงต้องเผชิญ นั่นคือกำลังซื้อที่เปราะบางของผู้บริโภค แม้จะมีมาตรการกระตุ้นและแนวโน้มดอกเบี้ยลดลง แต่กำลังซื้อของประชาชนโดยรวม โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้ปานกลาง-ล่าง ยังคงฟื้นตัวช้าและเผชิญกับภาระหนี้ครัวเรือนที่สูง
ถัดจากนั้นคือเกณฑ์การปล่อยสินเชื่อของธนาคาร ถึงแม้ LTV จะผ่อนคลาย แต่เกณฑ์การพิจารณาสินเชื่อของธนาคารยังคงเข้มงวด โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูง ทำให้ยอดปฏิเสธสินเชื่อยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญ อีกประเด็นคือ สต๊อกคอนโดมิเนียมคงค้าง มีรายงานว่าบางทำเลและบาง Segment ของคอนโดมิเนียมยังคงมีสต๊อกคงค้างสูง ซึ่งต้องใช้เวลาในการระบายและอาจทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคา
รวมถึงการแข่งขันสูงและโปรโมชั่นดุเดือด นั่นเพราะคาดว่าผู้ประกอบการยังคงต้องแข่งขันกันอย่างหนักด้วยการออกแคมเปญและโปรโมชั่นต่างๆ เพื่อกระตุ้นการตัดสินใจซื้อ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่ออัตรากำไร (Margin)
ขณะที่ราคาที่ดิน โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และจังหวัดท่องเที่ยว รวมถึงต้นทุนการก่อสร้างที่ยังคงอยู่ในระดับสูง เป็นปัจจัยที่กดดันความสามารถในการทำกำไรของผู้ประกอบการ ทำให้โดยรวมสำหรับครึ่งหลังปี 2568ตลาดหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ในช่วงไตรมาส 3 และ 4/2568 คาดว่าจะค่อยๆ ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป (Gradual Recovery) โดยได้รับอานิสงส์จากมาตรการภาครัฐที่เริ่มส่งผล และแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่เป็นขาลง ทำให้คำแนะนำลงทุนยังคงเป็นแบบ "Selective Play" หรือเลือกเล่นเป็นรายตัว โดยบริษัทที่เน้นโครงการแนวราบ (บ้านเดี่ยว, ทาวน์เฮาส์) ที่ตอบโจทย์ Real Demand และมีโครงการพร้อมอยู่ รวมถึงผู้ที่สามารถบริหารจัดการสต๊อกและหนี้สินได้ดี จะมีแนวโน้มผลประกอบการที่ดีกว่า
ขณะที่ตลาดคอนโดมิเนียมโดยรวมยังคงท้าทาย แต่คอนโดในทำเลศักยภาพสูงหรือกลุ่ม Luxury อาจเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้นจากกำลังซื้อของต่างชาติที่กลับมา
3 หุ้นอสังหา ฯ โดดเด่น
ดังนั้นในการลงทุนหุ้นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ในช่วงเวลานี้ นักลงทุนควรพิจารณาบริษัทที่มี Backlog (ยอดรอรับรู้รายได้) ที่แข็งแกร่ง มีฐานะทางการเงินที่มั่นคง และสามารถปรับกลยุทธ์ให้เข้ากับสภาวะตลาดได้ดี เพราะโดยรวมกลุ่มนี้ อาจจะยังไม่ได้โดดเด่นเป็นพิเศษเมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น ๆ แต่คาดว่ามีโอกาสจะเห็นสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้นกว่าครึ่งปีแรก
นอกจากนี้สิ่งที่น่าสนใจในหุ้นอสังหาริมทัพย์กับสถานการณ์ปัจจุบันนั่นคือแม้หุ้นกลุ่มอสังหาฯ ยังคงไม่ฟื้นตัว แต่ Valuation ไม่แพง ขณะที่เงินปันผลค่อนข้างสูง แต่อาจจะต้องรอให้ผ่านช่วงครึ่งปีแรกไปก่อน แล้วค่อยกลับมาทบทวนการลงทุน ในช่วงครึ่งปีหลัง เพื่อพิจารณาในต่อไป หลังแนวโน้มไตรมาส 2/68 ประเมินว่า Earning ยังคงไม่ค่อยดี
โดยหุ้นอสังหาริมทรัพย์ ที่น่าสนใจ คือ SPALI ( บมจ.ศุภาลัย) เนื่องจากมีสัดส่วนรายได้หลักมาจากโครงการแนวราบ (บ้านเดี่ยว, ทาวน์โฮม) ซึ่งเป็นตลาดที่ยังคงมีความต้องการซื้อจริง (Real Demand) อย่างต่อเนื่องและได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อที่ชะลอตัวน้อยกว่าคอนโดมิเนียม โดยเฉพาะในทำเลรอบนอกเมืองและต่างจังหวัด
ไม่เพียงเท่านี้บริษัทยังมี Backlog ที่แข็งแกร่งและรองรับรายได้ โดย SPALI มียอดขายรอโอนที่สูง ซึ่งเป็นเครื่องยืนยันรายได้ในอนาคต ทำให้ผลประกอบการมีเสถียรภาพและสามารถรับรู้รายได้ได้อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนั้น SPALI ยังเป็นบริษัทที่มีวินัยทางการเงินสูง มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) ต่ำ และมีกระแสเงินสดที่ดี ทำให้มีความยืดหยุ่นในการดำเนินงานและรองรับความผันผวนของตลาดได้ดีกว่าคู่แข่ง
ดังนั้น หากอัตราดอกเบี้ยปรับลดลงตามคาด จะช่วยลดภาระดอกเบี้ยของลูกค้า ทำให้การตัดสินใจซื้อบ้านง่ายขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อยอดขายของ SPALI
ถัดมาคือ ASW ( บมจ.แอสเซทไวส์ ) เนื่องจากเป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่แสดงการเติบโตของยอดขาย (Presale) ได้อย่างโดดเด่นในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะการขยายพอร์ตไปยังโครงการแนวราบ และโครงการอสังหาริมทรัพย์เพื่อการพักผ่อน (Leisure Residences) ในแหล่งท่องเที่ยว
ที่ผ่านมา ASW มีการปรับกลยุทธ์ที่รวดเร็วและตอบสนองความต้องการของตลาดได้ดี ทั้งการรุกตลาดบ้านแนวราบและการเจาะกลุ่มโครงการ Leisure Residences ในภูเก็ต ซึ่งได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและกำลังซื้อของชาวต่างชาติ โดยมีพอร์ตโครงการที่หลากหลายและมีคุณภาพ แม้จะเน้นคอนโดมิเนียมในเมือง แต่ก็มีการขยายไปยังโครงการแนวราบและโครงการเฉพาะกลุ่มที่สร้างมูลค่าเพิ่มได้ดี ทำให้ลดความเสี่ยงจากการพึ่งพาตลาดใดตลาดหนึ่งมากเกินไป
นั่นทำให้ ASW มีความสามารถในการรักษาอัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) ได้ค่อนข้างดี สะท้อนถึงการบริหารจัดการต้นทุนและการกำหนดราคาที่เหมาะสม ดังนั้น การผ่อนคลาย LTV และลดค่าธรรมเนียมฯ จะช่วยหนุนยอดโอนของโครงการพร้อมอยู่ของ ASW ได้ดี โดยเฉพาะโครงการที่ใกล้แล้วเสร็จ
และท้ายสุด AP ( บมจ.เอพี ไทยแลนด์) เป็นอีกหนึ่งผู้ประกอบการที่มีความเชี่ยวชาญและเป็นผู้นำในตลาดบ้านเดี่ยวและทาวน์โฮม ซึ่งเป็น Segment ที่ยังคงมีความต้องการสูงและมียอดปฏิเสธสินเชื่อต่ำกว่าคอนโดมิเนียม
ที่ผ่านมา AP มีความสามารถในการเปิดตัวโครงการใหม่ที่หลากหลายและตรงกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ทำให้มียอด Presale ที่สม่ำเสมอ นอกจากนี้บริษัทยังมี Backlog จำนวนมากที่รองรับการรับรู้รายได้ในอนาคต ทำให้ผลประกอบการมีเสถียรภาพและมองเห็นการเติบโตได้
รวมถึง AP เป็นบริษัทที่มีการบริหารจัดการที่เป็นระบบ และมีฐานะทางการเงินที่มั่นคง ทำให้มีความสามารถในการลงทุนและพัฒนาโครงการได้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นหากเศรษฐกิจฟื้นตัวและกำลังซื้อกลับมาดีขึ้น AP ซึ่งเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดแนวราบ จะเป็นหนึ่งในบริษัทแรกๆ ที่ได้รับอานิสงส์เชิงบวก
website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO