งัดออฟชันเด็ดถกสหรัฐ ร่วมลงทุนอาหารแห่งอนาคต กล่อม “ทรัมป์”ลดภาษีไทยแข่งเวียดนาม
ในการเจรจาการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา ซึ่งนับเป็นก้าวแรกที่ไทยเริ่มต้นอย่างเป็นทางการ หลังสหรัฐประกาศใช้แนวทางการจัดเก็บ ภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariff) อัตราสูงถึง 36% กับประเทศไทยที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐ โดยไทยถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่สุ่มเสี่ยงจะถูกเรียกเก็บภาษีอัตราสูง หากไม่มีข้อเสนอที่จูงใจสหรัฐได้ภายในเส้นตาย 9 กรกฎาคม 2568
ล่าสุด นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้รับมอบหมายให้นำคณะ “ทีมไทยแลนด์” เจรจากับสหรัฐ เพื่อหาทางออกก่อนมาตรการภาษีของ โดนัลด์ ทรัมป์ จะมีผลบังคับใช้
ขณะที่เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคมที่ผ่านมา ประธานาธิบดีทรัมป์เพิ่งประกาศว่า สหรัฐได้บรรลุข้อตกลงทางการค้าใหม่กับเวียดนามแล้ว โดยสหรัฐจะเก็บภาษีจากเวียดนามลดลงจาก 46% ลงเหลือ 20% ขณะที่สินค้าสหรัฐเข้าเวียดนามภาษีเป็น 0% ยิ่งสร้างแรงกดดันต่อประเทศคู่ค้าอื่น ๆ รวมถึงไทย ที่ต้องรีบเสนอแนวทางใหม่ให้สหรัฐเห็นถึงผลประโยชน์ร่วมที่มากพอ
รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจระหว่างประเทศและอาเซียน ให้สัมภาษณ์กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ข้อเสนอ 5 ข้อที่ไทยเตรียมไว้ แม้มีเนื้อหาที่แสดงเจตนารมณ์ที่ดี เช่น การเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ หรือการส่งเสริมการลงทุนของไทยในสหรัฐ อาทิ โครงการ LNG ในรัฐอลาสก้า แต่ในความเป็นจริงยังไม่น่าเพียงพอที่จะโน้มน้าวให้สหรัฐยอมผ่อนปรนภาษีตอบโต้ได้
“การเสนอจะไปลงทุน LNG ในอลาสก้า ไทยต้องไปแข่งกับกลุ่มประเทศตะวันออกกลางและเอเชียตะวันออก ซึ่งมีทั้งเงินทุนและความสัมพันธ์เชิงยุทธศาสตร์กับสหรัฐมากกว่าไทย เช่น ซาอุดีอาระเบีย กาตาร์ ยูเออี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรือไต้หวัน ดังนั้นไทยจึงอาจเป็นตัวเลือกลำดับ 3 ในเรื่องนี้ซึ่งไม่ง่ายเลย”
เขาเสนอว่า ทีมเจรจาไทยควร เพิ่ม “ออฟชันใหม่” ที่ไม่ทับซ้อนกับข้อเสนอของประเทศอื่น และเน้นผลประโยชน์ร่วมในเชิงยุทธศาสตร์ โดยเสนอให้ไทยนำเงินลงทุนไปสร้างโรงงานแปรรูปอาหารและสินค้าเกษตรในสหรัฐ ที่เป็นเทรนด์อาหารแห่งอนาคต ที่ตอบโจทย์สุขภาพและการใช้เทคโนโลยีขั้นสูง
ทั้งนี้สหรัฐมีจุดแข็งด้านนวัตกรรมและการวิจัย ส่วนไทยมีวัตถุดิบหลากหลาย เช่น มังคุด ลำไย ยางพารา ฯลฯ หากไทยนำวัตถุดิบเหล่านี้มาสกัด หรือแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สุขภาพ เช่น บาล์ม สารต้านอนุมูลอิสระ หรือสารสกัดทางการแพทย์ และไปผลิตในสหรัฐด้วยความร่วมมือกับสถาบันวิจัยท้องถิ่น จะเป็นโมเดลธุรกิจที่ สหรัฐได้ลงทุน ได้จ้างงาน ได้เทคโนโลยี ส่วนไทยก็ได้ส่งออกวัตถุดิบ
“นี่คือโมเดล win-win ที่ไม่ทับซ้อนกับสินค้าเกษตรหลักของสหรัฐ เช่น ถั่วเหลืองหรือข้าวโพด เพราะไทยมีสินค้าเกษตรที่แตกต่างและมีเอกลักษณ์ เช่น มังคุด ลำไย ทุเรียน หรือแม้แต่ยางพารา”
นอกจากนี้ ยังเสนอให้ไทยพิจารณาตั้งโรงงานผลิตถุงมือธรรมชาติจากยางพาราในสหรัฐ โดยใช้ยางธรรมชาติที่ไม่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ และชูเป็นผลิตภัณฑ์ด้านสุขภาพที่อเมริกากำลังต้องการ เพื่อใช้ในภาคการแพทย์ การบริการ และส่งออกต่อไปยังภูมิภาคอื่น ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งโครงการที่จูงใจสหรัฐได้ และสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน
อนึ่ง ข้อเสนอเบื้องต้นของไทย ที่เตรียมใช้ในการเจรจากับสหรัฐ มีดังนี้1.เสริมความร่วมมือเชิงเศรษฐกิจ เช่น ความร่วมมือในอุตสาหกรรมแปรรูปดิจิทัล AI และการลดอุปสรรคการค้า 2.เพิ่มการนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ เช่น น้ำมันดิบ, LNG, เครื่องบิน, ถั่วเหลือง, ข้าวโพด
3.เปิดตลาดสินค้าเกษตร ไทยผ่อนปรนกฎระเบียบในการนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐ เช่น เนื้อสัตว์ ผลไม้ 4.ควบคุมการสวมสิทธิ์แหล่งกำเนิด เข้มงวดสินค้าจากประเทศที่สามที่อ้างว่า “Made in Thailand” และ 5.ส่งเสริมการลงทุนในสหรัฐ เช่น โครงการลงทุน LNG ในรัฐอลาสก้า
อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางการแข่งขันจากประเทศอื่น เช่น เวียดนาม ที่สามารถปิดดีลกับสหรัฐได้ก่อน ไทยจึงต้องเร่งนำเสนอข้อเสนอที่มีความแตกต่าง และโดดเด่น เพื่อให้สามารถหลุดพ้นจากมาตรการภาษีตอบโต้ และรักษาโอกาสทางการส่งออกในตลาดสำคัญอย่างสหรัฐ ไว้ได้