ลุ้นผู้ว่าแบงก์ชาติคนใหม่ จุดเปลี่ยนนโยบายการเงิน โอกาสลดดอกเบี้ยปลายปี
จากประเด็นการแต่งตั้ง ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ แบงก์ชาติคนใหม่ แทน ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าแบงก์ชาติที่กำลังจะครบวาระการดำรงตำแหน่งในวันที่ 30 กันยายน 2568 แม้ว่าจะยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน เนื่องด้วยสาเหตุบรรจุเข้าวาระไม่ทัน เพราะเสนอชื่อช้าไป
แต่ "พิชัย ชุณหวชิร" รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ยืนยันแล้วว่า การเสนอรายชื่อแต่งตั้งผู้ว่าการแบงก์ชาติคนใหม่ จะเข้าที่ประชุมครม. ภายในสัปดาห์หน้า (21-25 ก.ค. 68) นี้แน่นอน ซึ่งพบว่า "วิทัย รัตนากร" อดีตผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เป็นตัวเต็งในครั้งนี้
นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า จากประเด็นการแต่งตั้ง ผู้ว่าการ ธปท. คนใหม่ หากว่าเป็น "วิทัย รัตนากร" ตามกระแสข่าว เชื่อว่าจะหนุนให้บรรยากาศด้านการปล่อยสินเชื่อผ่อนคลายลง
ดูจากแนวทางผลงานในช่วงที่ยังดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการธนาคารออมสิน นายวิทัยมีการออกโครงการที่เป็นการช่วยเหลือโดยเฉพาะรายย่อยให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ง่ายมากขึ้น และสามารถกู้เงินได้ด้วยดอกเบี้ยที่ไม่แพง ทำให้คาดว่าแนวทางสินเชื่อจะไม่เข้มงวดมากนัก และผ่อนคลายลง
บทบาทการเป็นผู้ว่าการ ธปท. คือ เป็นผู้บริหารจัดการระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศ ดูแลและกำกับสถาบันการเงินต่างๆ กำหนดนโยบายและบริหารจัดการเงินสำรอง ดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน
หรือเรียกง่ายๆ ว่า เป็นผู้ดูแลเครื่องมือและเกณฑ์ ทางการเงินต่างๆ ของประเทศ ซึ่งดอกเบี้ยนโยบายก็เป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่เข้ามาช่วยสนับสนุนการเงินและระบบเศรษฐกิจในประเทศ
ส่วนโอกาสที่จะเห็นการลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมในช่วงที่เหลือของปี 68 นี้หรือไม่นั้น มองว่าที่ผ่านมา กนง. มีการปรับลดดอกเบี้ยลงแล้วถึง 2 ครั้ง ซึ่งกว่าที่การลดดอกเบี้ยจะเห็นผลอย่างชัดเจนก็ใช้ระยะเวลา 2-3 ไตรมาส หรือปลายไตรมาส 3 ต้นไตรมาส 4 จะเห็นผล
เป็นจังหวะที่ผู้ว่าการ ธปท. คนใหม่เข้ามารับตำแหน่ง หากว่า กนง. พิจารณาแล้วว่าอัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดมาก่อนหน้านี้เพียงพอแล้ว ก็อาจคงระดับอัตราดอกเบี้ยต่อไป แต่หากว่าเห็นแล้วว่ายังไม่เพียงพอ รวมถึงเห็นผลกระทบจากการขึ้นภาษีการค้าของสหรัฐฯ ที่ออกมาสูง ก็มีโอกาสที่จะเห็นการปรับลดดอกเบี้ยลงอีก 1 ครั้งในช่วงปลายปี 68 นี้
"นักลงทุนไม่ควรคาดหวังต่อประเด็นการลดดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปีนี้มากจนเกินไป เพราะจะลดดอกเบี้ยหรือไม่ขึ้นอยู่ที่การพิจารณาของ กนง. ไม่ใช่ความคิดของ ผู้ว่าการ ธปท. ฝ่ายเดียว ซึ่งมีหลายปัจจัยที่ต้องนำมาร่วมพิจารณา โดยเฉพาะภาษีการค้าสหรัฐฯ ว่าการลดดอกเบี้ยก่อนหน้านี้เพียงพอแล้วหรือไม่"
MTC-TIDLOR ต้นทุนการเงินลด
ด้วย ผู้ว่าธปท. คนใหม่ อาจมีแนวโน้มดำเนินนโยบายผ่อนคลายมากขึ้น มองว่าจะส่งอานิสงส์เชิงบวกต่อกลุ่มการเงิน และหุ้นได้ประโยชน์จากการลดดอกเบี้ย เช่น MTC และ TIDLOR เพราะมีต้นทุนทางการเงินที่ลดลง โดยทั้ง 2 หุ้น มีการตั้งสำรองที่ค่อนข้างสูง ทำให้จะไม่ถูกกดดันจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว อีกทั้งยังจ่ายปันผลที่สูงกว่า 5% ทำให้มีความน่าสนใจ
นอกจากนี้ ยังเป็นผลบวกต่อหุ้นกลุ่มสินค้าอุปโภคและบริโภค เมื่อบรรยากาศสินเชื่อผ่อนคลายลง การจับจ่ายใช้สอยเริ่มกลับมาฟื้นตัว อีกทั้งการกินอยู่ยังเป็นสิ่งจำเป็น ทำให้มองว่า CPALL CPAXT และ COM7 ยังมีความน่าสนใจ โดยคาดการณ์ว่าผลการดำเนินงานปี 68 จะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง
สวนทางกับกลุ่มค้าปลีกอย่าง DOHOME GLOBAL CRC และ BJC เนื่องจากมองว่าด้วยสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ได้ฟื้นตัวดีนัก ขณะเดียวกันมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลง ทำให้ประชาชนเพิ่มความระมัดระวังในการใช้จ่ายานค้าฟุ่มเฟือบ และการตกแต่งที่พักอาศัยลง
อย่างไรก็ตาม แน่นอนว่าด้วยการเข้าสู่ช่วงวัฏจักรดอกเบี้ยขาลง เป็นผลเชิงลบต่อหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เพราะจำทำให้ทั้งรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NII) และ อัตรากำไรสุทธิจากดอกเบี้ย (NIM) ลดลง กระทบต่อผลการดำเนินงาน