ราช กรุ๊ป พร้อมลุยเดินหน้าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMR
ราช กรุ๊ป ร่วม สหพัฒนา จ่อลุยเดินหน้าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ SMR ตั้งงบ 1 หมื่นล้าน/ปี พร้อมชี้โอกาสขยายลงทุนอินโด หลังสหรัฐปิดดีลภาษี 19%
17 ก.ค. 2568 -นายนิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เปิดเผยภายหลังการจัดงานสัมมนา “Thailand’s SMR Energy Forum-A Global Dialogue on SMR Deployment” ร่วมกับบริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เพื่อศึกษาความเป็นไปได้โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็กแบบโมดูล หรือโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) ที่มีกำลังการผลิตต่ำกว่า 300 เมกะวัตต์ ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ว่าราช กรุ๊ป พร้อมลงทุนร่วมกับสหพัฒนา และพันธมิตรที่สนใจ โดยวงเงินทุนจะพิจารณาอีกครั้ง ซึ่งปกติราช กรุ๊ปตั้งงบลงทุนตั้งกลุ่มปีละประมาณ 10,000 ล้านบาท สำหรับพื้นที่ยังไม่สามารถระบุได้แต่ทราบว่าทางสหพัฒนามีพื้นที่อยู่แล้ว
นายนิทัศน์ กล่าวถึงกรณีที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศว่าได้บรรลุข้อตกลงการค้าเบื้องต้นกับอินโดนีเซีย โดยระบุว่าจะมีการเรียกเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากอินโดนีเซียในอัตรา 19% ว่า บริษัทมีโอกาสการเติบโตเพิ่มขึ้นหลังจากการบรรลุข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและอินโดนีเซีย โดยสินค้าจากอินโดนีเซียจะถูกเก็บภาษีในอัตรา 19% ในขณะที่สินค้าส่งออกของสหรัฐฯ จะไม่ถูกเก็บภาษี
เนื่องจาก ราช กรุ๊ป มีโอกาสในการลงทุนในอินโดนีเซีย และตั้งเป้าหมายเติบโตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะช่วงครึ่งหลังของปีนี้ โดยปัจจุบัน บริษัท มีการลงทุนโรงไฟฟ้าในอินโดนีเซีย รวม 4 โครงการ ได้แก่ โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ โรงไฟฟ้าถ่านหิน และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ 2 แห่ง กำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นรวม 1,009.72 เมกะวัตต์ บริษัทฯ ยังคงมีอินโดนีเซียเป็นเป้าหมายการลงทุนด้วยเชื่อมั่นในศักยภาพทางเศรษฐกิจที่มีการขยายตัวเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ด้าน นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่าสำหรับเทคโนโลยีนิวเคลียร์ขนาดเล็กแบบโมดูลาร์ (SMR) ที่บรรจุในร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP 2024) ฉบับใหม่ ช่วงปลายแผนบรรจุไว้ที่ 600 เมกะวัตต์ เบื้องต้นประชาชนให้การตอบรับ SMR ดี แต่ยังต้องศึกษาอย่างรอบด้านต่อไป เพราะต้องใช้เวลาดำเนินการ 10-12 ปี เบื้องต้นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) จะเป็นหน่วยงานนำร่อง SMR แต่หากเอกชนพร้อมก็เสนอแผนมาได้ โดยจะมีสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติเป็นผู้กำหนดมาตรฐานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ
ขณะที่ ล่าสุด ราช กรุ๊ป และ สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง ได้จัดงานสัมมนาฯ เพื่อแสดงความพร้อมลงทุน และหาพาร์ทเนอร์จากประเทศต่าง ๆ ที่สนใจ พบว่าที่นักลงทุนทั้งจีน ญี่ปุ่น แคนาดา ยูเครน ให้ความสนใจร่วมงาน ทั้งนี้หาก SMR มีความต้องการสูงและประชาชนให้การตอบรับอาจเพิ่มสัดส่วนมากกว่า 600 เมกะวัตต์ เพราะปัจจุบันความต้องการไฟฟ้าในนิคมอุตสาหกรรม 1 แห่งก็หลักพันเมกกะวัตต์แล้ว
นายประเสริฐ กล่าวว่า กระทรวงพลังงาน โดยนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน อยู่ระหว่างตั้งกรรมการขึ้นมาจัดทำ PDP ฉบับใหม่ หลังประชาพิจารณ์ร่างPDP2024 แล้วมีเสียงสะท้อนหลากหลาย ขณะเดียวกันใน PDP ฉบับใหม่นี้จะพิจารณา SMR รวมทั้งจะพิจารณาเทคโนโลยีไฮโดรเจน และเทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์(CCS) ควบคู่ไปด้วย เพราะบางเทคโนโลยีอาจมีความพร้อมเดินหน้าได้เร็วขึ้น คาดว่า PDP ฉบับใหม่จะเสร็จและประกาศใช้ปีนี้ เป็น PDP2025.