ฝนมรสุมตกหนักช่วง 24 ชั่วโมงในปากีสถาน เสียชีวิต 54 ราย
ฝนตกหนักเชื่อมโยงกับการเสียชีวิต 54 รายในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา และทำให้ยอดสะสมผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 180 รายนับตั้งแต่ฤดูมรสุมมาถึงในช่วงปลายเดือนมิถุนายน
ผู้คนลุยน้ำท่วมสูงท่ามกลางสถานการณ์ฝนตกหนักในช่วงฤดูมรสุมในเมืองไฮเดอราบาด แคว้นสินธ์ ประเทศปากีสถาน เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม (Photo by Akram SHAHID / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 กรกฎาคม 2568 กล่าวว่า เกิดฝนมรสุมตกหนักในปากีสถานช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้คนเสียชีวิตไปแล้วอย่างน้อย 54 ราย
หน่วยงานบรรเทาสาธารณภัยของรัฐบาลปากีสถานเปิดเผยว่า ฝนที่ตกหนักอย่างต่อเนื่องในพื้นที่บางส่วนของแคว้นปัญจาบตั้งแต่เช้าวันพุธ ทำให้เกิดน้ำท่วมกลางเมืองและบ้านเรือนพังถล่ม
ทีมกู้ภัยใช้เรือยนต์และเรือพายในการอพยพครอบครัวออกจากหมู่บ้านริมแม่น้ำทางตอนใต้ในช่วงเช้า โดยระดับน้ำเริ่มลดลงในช่วงบ่าย
ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มใกล้แม่น้ำนุลลาห์ไลซึ่งไหลผ่านเมืองราวัลปินดีใกล้กับเมืองหลวงอิสลามาบัด ได้รับคำสั่งอพยพหลังจากระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
"ทีมกู้ภัยกำลังเตรียมพร้อมสำหรับการอพยพเพิ่มเติม" โฆษกหญิงของหน่วยงานบรรเทาสาธารณภัยกล่าว
สำนักงานจัดการภัยพิบัติแห่งชาติ (NDMA) ประกาศเพิ่มเติมในประกาศเตือนภัยว่า "ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยควรเตรียมชุดอุปกรณ์ฉุกเฉินพร้อมอาหาร, น้ำ และยารักษาโรคที่จำเป็นไว้ใช้ 3-5 วัน ในกรณีฉุกเฉิน"
รัฐบาลท้องถิ่นของราวัลปินดีประกาศวันหยุดราชการในวันพฤหัสบดี เพื่อให้ประชาชนอยู่แต่ในบ้าน โดยกรมอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติเตือนว่าฝนจะตกหนักต่อเนื่องไปจนถึงวันศุกร์
นับตั้งแต่ฤดูมรสุมเริ่มต้นขึ้นเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน มีผู้เสียชีวิตสะสมแล้วประมาณ 180 ราย รวมถึงเด็ก 70 ราย และผู้ได้รับบาดเจ็บประมาณ 500 คน
สำนักงานจัดการภัยพิบัติกล่าวว่า "ในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา มีผู้เสียชีวิตแล้ว 54 ราย และบาดเจ็บ 227 คนทั่วปากีสถาน โดยผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในแคว้นปัญจาบ" และเสริมว่ายอดผู้เสียชีวิตได้ถูกนับเมื่อเวลา 08.00 น. ตามเวลาท้องถิ่นของวันพฤหัสบดี
สาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดจากบ้านเรือนพังถล่มและน้ำท่วมฉับพลัน รวมทั้งกรณีการถูกไฟฟ้าดูด
ทั้งนี้ ฤดูมรสุมทำให้เอเชียใต้มีปริมาณน้ำฝนประจำปี 70-80% และกินเวลาตั้งแต่เดือนมิถุนายนถึงกันยายนในอินเดียและปากีสถาน
ปริมาณน้ำฝนประจำปีมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร รวมถึงวิถีชีวิตของเกษตรกรหลายล้านคน แต่ก็นำมาซึ่งความเสียหายเช่นกัน
เอเชียใต้มีอากาศร้อนขึ้นเรื่อยๆ และสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา แต่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่ยืนยันแน่ชัดว่าโลกที่ร้อนขึ้นส่งผลกระทบต่อมรสุมที่ซับซ้อนนี้อย่างไร
ปากีสถานเป็นหนึ่งในประเทศที่เปราะบางที่สุดของโลกต่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และประชากร 255 ล้านคนกำลังเผชิญกับสภาพอากาศสุดขั้วบ่อยครั้งขึ้น.