กรมทะเล เปิดเวทีชวนคนรุ่นใหม่ปั้นนวัตกรรมตรวจคุณภาพน้ำทะเล
ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวว่า ทะเล คือ ทรัพยากรล้ำค่าที่หล่อเลี้ยงชีวิต เศรษฐกิจ และความสมดุลของระบบนิเวศ การเฝ้าระวังคุณภาพน้ำทะเลเพื่อการป้องกันและลดมลพิษทางทะเล ตลอดจนการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจึงเป็นภารกิจที่สำคัญ เพื่อประเมินสถานการณ์และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของคุณภาพน้ำทะเล ซึ่งจะเป็นข้อมูลในการสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอย่างมีประสิทธิภาพ
โดยปัจจุบันบริบทของเทคโนโลยีในยุคดิจิทัลมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้การออกแบบระบบการติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเล จึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาเครื่องมือ เทคโนโลยี หรือนวัตกรรมที่สามารถสนับสนุนการรวบรวม วิเคราะห์ และบริหารจัดการข้อมูลทรัพยากรทางทะเลอย่างมีประสิทธิภาพ
ดังนั้น การจัดกิจกรรม Hackathon จะช่วยเปิดโอกาสให้เยาวชน คนรุ่นใหม่ และผู้ที่สนใจ ร่วมกันระดมสมองในการแก้ไขปัญหาหรือพัฒนานวัตกรรมใหม่ เพื่อออกแบบการติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเลให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในอนาคต
ทั้งนี้กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เปิดเวทีประชันไอเดียสุดเข้มข้นในกิจกรรม “Marine Monitoring Hackathon 2025” ภายใต้โจทย์ท้าทาย “คุณจะรู้ได้น้ำทะเลคุณภาพดีได้อย่างไร?” เพื่อชวนเยาวชน คนรุ่นใหม่ และผู้สนใจทั่วประเทศ ร่วมออกแบบนวัตกรรมหรือแนวคิดใหม่ในการตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเลไทย ด้วยเป้าหมายสำคัญในการอนุรักษ์ทะเลให้สะอาด ปลอดภัย และยั่งยืนสำหรับอนาคต
Hackathon ครั้งนี้แบ่งการแข่งขันออกเป็น 3 แทร็กหลัก เพื่อครอบคลุมทุกมิติของการติดตามคุณภาพน้ำทะเล ได้แก่
Track 1: Smart Monitoring – พัฒนาแนวทางใหม่ในการตรวจวัดคุณภาพน้ำทะเล
Track 2: Smart Sensor & Data Platform – ออกแบบระบบเซ็นเซอร์และวิธีจัดเก็บข้อมูลจากทะเลอย่างชาญฉลาด
Track 3: Citizen Science & Community Involvement – ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำ
กิจกรรม Hackathon มีลักษณะที่สำคัญ คือ Knowledge Sharing – การแบ่งปันองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี และการออกแบบ Mini-workshop – การสาธิตเทคโนโลยีใหม่ ๆ และการฝึกทักษะด้านการคิด ออกแบบ และการนำเสนอ Mentoring Session – การให้คำปรึกษาแบบเจาะลึกจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อปรับปรุงแนวคิดของแต่ละทีม
และ Idea Pitching – การนำเสนอผลงานต่อคณะกรรมการ เพื่อคัดเลือกแนวคิดที่มีศักยภาพสูงสุดในการพัฒนาใช้จริง ซึ่งนอกจากกิจกรรมแต่ละลักษณะของ Hackathon จะสามารถทำให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาทักษะที่จำเป็นครอบคลุมทั้งทักษะพื้นฐานและทักษะขั้นสูงแล้ว ยังสามารถเป็นกระบวนการประเมินผลการพัฒนาทักษะ และการสร้างผลกระทบต่อสาธารณะในวงกว้างได้อีกด้วย
“กิจกรรมนี้ไม่ใช่เพียงเวทีแข่งขัน แต่เป็นเวทีแห่งโอกาสในการสร้างนวัตกรรมเพื่อรักษาทะเลไทยให้ยั่งยืน เพราะทะเลคือทรัพยากรสำคัญที่หล่อเลี้ยงชีวิต เศรษฐกิจ และระบบนิเวศ หากเราสามารถพัฒนาเครื่องมือหรือระบบที่ช่วยตรวจสอบคุณภาพน้ำทะเลได้อย่างแม่นยำและทันเวลา ก็จะสามารถลดมลพิษทางทะเล ฟื้นฟูทรัพยากร และสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลที่มีประสิทธิภาพในระยะยาวได้อย่างแท้จริง”
ผู้ที่สนใจสามารถสมัครได้ตั้งแต่วันที่ 14 – 29 กรกฎาคม 2568 ทาง https://bit.ly/regisMMH2025 โดยผู้สมัครจะต้องทำแบบทดสอบในวันที่ 29 กรกฎาคม 2568 เพื่อคัดเลือก และประกาศผลผู้ผ่านเข้ารอบในวันที่ 31 กรกฎาคม 2568 ซึ่งผู้ที่ผ่านเข้ารอบจะได้ฟังการบรรยายออนไลน์และคำแนะนำจากอาจารย์ และผู้เชี่ยวชาญ เพื่อใช้พัฒนาแนวคิดสู่การแข่งขันต่อไป