อุตสาหกรรมไทยเผชิญ “ภาษีทรัมป์” ส.อ.ท. ชี้รัฐเร่งเจรจาเชิงรุก เปิดทางส่งออก
รองประธาน ส.อ.ท ชี้ภาค อุตสาหกรรมไทย เผชิญความท้าทายรอบด้าน ทั้งนโยบายกีดกันการค้า ข้อพิพาทชายแดน และปัญหาภายในกดดันเศรษฐกิจไทย แนะเร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ สู่นวัตกรรม ลดพึ่งพิงต่างชาติ สร้างภูมิคุ้มกันรับมือวิกฤต จี้รัฐเร่งเจรจาภาษี 2 อัตรา 40% สำหรับสินค้าจีนผ่านไทยและ 20-25%สำหรับสินค้าไทย เปิดทางส่งออก
นายวิวรรธน์ เหมมณฑารพ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงภาพรวมและแนวทาง “ปลดล็อก” ศักยภาพภาคอุตสาหกรรมไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 ในงานสัมมนา ibusiness Forum 2025 “Decode 2025: The Mid-Year Signal” ถอดสัญญาณเศรษฐกิจโลก พลิกอนาคตเศรษฐกิจไทย ว่า ปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตามองในครึ่งปีหลังมี 8 ประการ ได้แก่
- มาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ โดยเฉพาะนโยบายภาษีของนายโดนัลด์ ทรัมป์
- ปัญหาสินค้าทุ่มตลาดและการสวมสิทธิ์ส่งออก
- ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยเฉพาะสงครามอิสราเอล-อิหร่าน
- ข้อพิพาทพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา
- ภาวะหนี้ครัวเรือนและหนี้ธุรกิจที่พุ่งสูง
- ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- แนวโน้มจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ
- ความไม่แน่นอนทางการเมือง
ภาษี "ทรัมป์" กับวิกฤตคู่แข่งและทางออกของไทย
ประเด็นเรื่องภาษีการค้าของสหรัฐฯ ถูกยกมาเป็นความกังวลลำดับต้น ๆ โดยวิวรรธน์กล่าวว่า ประเทศที่ถูกเก็บภาษีต่ำกว่า 36% ล้วนเป็นคู่แข่งสำคัญของไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง
“เราคาดหวังว่าการเจรจาจะได้ผลลัพธ์ที่เป็นบวกมากกว่านี้ แต่ขนาดเศรษฐกิจของไทยไม่ได้ใหญ่มากพอที่เมื่อลดภาษีให้สหรัฐฯจำนวนมากจะสร้างการเปลี่ยนแปลงต่อ GDP ของสหรัฐฯ ได้อย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นเชื่อว่าผลกระทบทางการเมืองและประเด็นความมั่นคงเป็นสิ่งที่สหรัฐฯ น่าจะให้ความสำคัญอย่างมาก แต่ขณะเดียวกันประเทศไทยก็อยู่ในจุดที่ล่อแหลมการอนุญาตให้สหรัฐฯ ตั้งฐานทัพจึงอาจไม่ใช่แนวทางที่เหมาะสมในการเจรจา”
นายวิวรรธน์ย้ำว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับ “กับดัก” ที่ขาดแคลนสินค้าที่มี นวัตกรรม ทำให้ประเทศมีอำนาจต่อรองในเวทีโลกน้อยลง เนื่องจากไทยยังคงพึ่งพิงการรับจ้างผลิตเป็นหลัก “เราเป็นประเทศที่ไม่มีอำนาจต่อรองในเวทีโลก เราผลิตสินค้าแบบรับจ้าง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเมื่อเผชิญกับการกีดกันทางการค้า เราจะประสบปัญหาหนัก
ถ้าประเทศไทยไม่มีการปรับตัวเพื่อสร้างความเป็นตัวตนของเราให้หลุดพ้นจากสถานการณ์นี้เราจะลำบากเพราะปัจจุบันประเทศไทยพึ่งพิงต่างประเทศถึง 80% เราไม่ได้มีนวัตกรรมเป็นของตนเอง นอกจากภาคการท่องเที่ยวที่คิดเป็น 15-20% แล้ว เราก็ไม่มีอะไรอื่นที่โดดเด่น”
แนวโน้มการส่งออกครึ่งปีหลังชะลอตัว จับตา "China Flooding" ฉุดภาคผลิตไทย
สิ่งที่น่ากังวลคือ แม้ว่าอัตราการส่งออกในช่วงครึ่งปีแรกส่วนใหญ่จะอยู่ในภาวะขยายตัว โดยเฉพาะตลาดอินเดีย สหรัฐอเมริกา และจีน แต่คาดการณ์ว่าการส่งออกไปยังตลาดเหล่านี้จะเริ่มชะลอตัวลงในช่วงครึ่งปีหลัง
นอกจากนี้ ปัญหา "China Flooding" หรือการที่จีนผลิตสินค้าได้ปริมาณมากและราคาถูก จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่ออุตสาหกรรมการผลิตของไทย สินค้าใดก็ตามที่จีนสามารถผลิตได้ ไทยจะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่ยากลำบากและเหน็ดเหนื่อย เนื่องจากจีนมีทั้งขนาดการผลิตที่ใหญ่ ต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้ และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า
ดังนั้น สิ่งที่ประเทศไทยต้องเร่งดำเนินการคือ การเปลี่ยนให้จีนเป็น "ตลาด" มากกว่า "คู่แข่ง" โดยมุ่งเน้นการส่งออกสินค้าที่ไทยมีศักยภาพ เช่น อุตสาหกรรมอาหารและไบโออีโคโนมี
ทั้งนี้โครงสร้างเศรษฐกิจที่ยังไม่แข็งแกร่งทำให้ไทยยังคงผลิตสินค้าและชิ้นงานที่คล้ายคลึงกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม จีน และอินโดนีเซีย ซึ่งประเทศเหล่านี้กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันของไทยลดลง
เจรจาภาษีสหรัฐฯ 2 อัตรา- 40% สินค้าจีนผ่านไทย และ 20-25%สำหรับสินค้าไทย
สำหรับแนวทางการรับมือกับภาษีที่อาจเกิดขึ้น นายวิวรรธน์เสนอให้ภาครัฐเจรจาโดยแบ่งอัตราภาษีเป็น สองระดับ ได้แก่ การรักษาสัดส่วน 40% สำหรับสินค้าที่เป็นทางผ่าน เช่น สินค้าจากจีนที่ผ่านไทยและประกอบเพื่อให้เทียบเท่ากับเวียดนาม และลดภาษีเหลือ 20-25% สำหรับสินค้าไทยที่มีสัดส่วน Made in Thailand หรือมี Local Content สูงเกิน 50-60% โดยเฉพาะอุปกรณ์ดิจิทัล เช่น ฮาร์ดดิสก์ ชิปต่างๆ ที่ผลิตในไทยโดยบริษัทอเมริกาหรือภาคการเกษตรที่เป็นของไทย
ทั้งนี้กลุ่มสินค้าไทยที่มีความเสี่ยงสูงจากมาตรการภาษีชุดนี้ ได้แก่ เฟอร์นิเจอร์ เหล็ก และอะลูมิเนียม ซึ่งจะได้รับผลกระทบอย่างมาก ส่วนยานยนต์และส่วนประกอบยางรถยนต์ จัดอยู่ในกลุ่มความเสี่ยงปานกลาง เนื่องจากมูลค่าการส่งออกไม่สูงนัก ขณะที่เภสัชกรรมและเชื้อเพลิงจัดเป็นความเสี่ยงต่ำ เพราะไทยส่งออกให้สหรัฐฯ น้อยอยู่แล้ว
ในส่วนของเทคโนโลยีขั้นสูงอย่าง AI และชิป นายวิวรรธน์กล่าวว่าสหรัฐฯ มีความเข้มงวดเป็นพิเศษ เนื่องจากกังวลว่าไทยอาจเป็นทางผ่านในการส่งชิปไปยังจีน ซึ่งอาจนำไปสู่การถูกบล็อก อย่างไรก็ตามเชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวม เนื่องจากบริษัทข้ามชาติจากสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และไต้หวันที่ประกอบกิจการในไทยสามารถเจรจากับรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อขอโควตาเป็นรายกรณีได้
ความขัดแย้งชายแดนไทย-กัมพูชากระทบเศรษฐกิจแสนล้าน
นายวิวรรธน์ชี้ว่าจาก 8 ปัจจัยเสี่ยง มี 4 ข้อที่ทั่วโลกกำลังเผชิญร่วมกันคือ มาตรการกีดกันทางการค้า สินค้าทุ่มตลาด ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่สำหรับประเทศไทย มีปัจจัยข้อ 4 คือ "ข้อพิพาทพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา" เพิ่มเข้ามา ซึ่งมีผลกระทบทางเศรษฐกิจมหาศาลถึงหลัก “แสนล้านบาท” เนื่องจากมีการค้าชายแดนจำนวนมาก
“ข้อพิพาทพื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชาเป็นเรื่องใหม่ที่เข้ามาแต่อิมแพคเศรษฐกิจเป็นแสนล้าน เพราะฉะนั้นก็เป็นเรื่องที่น่ากังวล เพราะเรามีมูลค่าการค้าชายแดนไทยประมาณแสนล้าน” นายวิวรรธน์เสนอให้ภาครัฐควบคุมเฉพาะส่วนที่เป็นผิดกฎหมาย เช่น สแกมเมอร์ หรือคาสิโน แต่ควรเปิดให้มีการค้าขายทั่วไปตามปกติ เนื่องจากกัมพูชาเองก็ได้รับความเสียหายทางเศรษฐกิจกว่า 40,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจ
หนี้ครัวเรือนและความไม่แน่นอนทางการเมือง
นอกจากนี้ หนี้ครัวเรือน ที่ทะลุ 80% ของ GDP เป็นอีกหนึ่งความกังวล โดยนายวิวรรธน์ระบุว่าแม้จะมีการแก้ไขจากธนาคารแห่งประเทศไทยและสมาคมธนาคารไทย แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือในอดีตผู้เป็นหนี้ครัวเรือนยังพอมีรายได้ที่มั่นคง แต่ปัจจุบัน รายได้ไม่มั่นคง ทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้
สุดท้าย นายวิวรรธน์ย้ำว่า ความไม่แน่นอนทางการเมือง เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข “ประเทศไทยวันนี้มีปัจจัยอิมแพคเยอะมาก เพราะฉะนั้นถ้ายังมีปัจจัยภายในที่เรายังไม่สามารถควบคุมให้นิ่งเราจะลำบาก”