ทำงาน 4 วัน ดีจริงหรือ? เปิด 5 เหตุผลทำไมการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ถึงดีต่อพนักงานและบริษัท
คนทำงานจำนวนไม่น้อยรู้สึกว่าวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ผ่านไปรวดเร็วเหลือเกิน จนกระทั่งเมื่อถึงช่วงเย็นวันอาทิตย์ก็ต้องเตรียมกลับไปทำงานในเช้าวันจันทร์อีกแล้ว ดังนั้นฝันของคนทำงานที่ต้องการพักผ่อน การใช้ชีวิต พร้อมๆ กับดูแลตัวเองและครอบครัวอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งอาจดูเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ แต่มีโอกาสเกิดขึ้นจริงแล้วถ้าหากเทรนด์การทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ถูกใช้จริง
แนวคิดดังกล่าวไม่ได้เป็นแนวคิดที่ลอยอยู่บนอากาศ แต่จากงานวิจัยของจูเลียต ชอร์ ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาจากบอสตัน คอลเลจ และผู้เชี่ยวชาญเรื่องวัฒนธรรมการทำงาน พบว่าการลดวันทำงานลงเหลือ 4 วัน ไม่ได้มีดีแค่กับพนักงาน แต่ยังส่งผลบวกมหาศาลต่อองค์กรด้วย
หยุดเพิ่ม 1 วันเหมือนการชุบชีวิต
ในยุคที่ชีวิตการทำงานมีความซับซ้อนมากขึ้น ภาระการทำงานที่สูงขึ้น การหยุดเพียงสองวันจึงไม่เพียงพอ ทั้งในแง่การจัดการชีวิต การพบปะเพื่อนฝูง และการฟื้นตัวจากการทำงานในแต่ละสัปดาห์ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจึงเกิดความเครียดสะสม และภาวะหมดไฟตามมา
การหยุดเพิ่มอีกเพียง 1 วัน จึงเปรียบเสมือนเป็นการชุบชีวิตทำให้สุขภาพกายดีขึ้น มีเวลานอนเต็มอิ่ม จัดการความเครียดได้ดีขึ้น มีเวลาใช้ชีวิตที่เป็นชีวิตจริงๆ กับครอบครัว เพื่อนฝูง หรือทำงานอดิเรก อีกทั้งเมื่อได้พักเต็มที่สมองก็ปลอดโปร่งและกลับมาทำงานเต็มร้อยขึ้น
ทำงานน้อยลง แต่ประสิทธิผลดีขึ้น
อาจฟังดูไม่น่าเชื่อ แต่การทำงานน้อยลงกลับทำให้เรามีประสิทธิภาพมากขึ้นได้จริงๆ เมื่อพนักงานรู้ว่ามีเวลาทำงาน 4 วัน การจัดการลำดับความสำคัญจะเฉียบแหลมขึ้น โฟกัสเฉพาะสิ่งที่จำเป็น พนักงานไม่ต้องกลัวปัญหาวันอาทิตย์สุดเหงาที่วันหยุดกำลังจะหมดไป และวันจันทร์กำลังจะมา
ในแง่มุมขององค์กร การทำงานเหลือ 4 วัน จะเร่งให้องค์กรหันมาปรับประสิทธิภาพการทำงานที่ไม่จำเป็นลด เช่น การประชุมที่มากเกินไป หรือการทำงานซ้ำซ้อน
ผลกระทบที่สำคัญในแง่มุมขององค์กรก็คือ การทำงาน 4 วันช่วยหยุดปัญหาการลาออกได้ดีทีเดียว โดยเฉพาะเมื่อองค์กรมีสวัสดิการที่สามารถตอบโจทย์ชีวิตแบบนี้ ทำให้พนักงานอยากอยู่กับองค์กรมากขึ้น จากข้อมูลที่สัมภาษณ์ในกลุ่มตัวอย่างประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่า ต่อให้เพิ่มเงินเดือนก็ไม่สามารถจูงใจให้พวกเขากลับมาทำงาน 5 วันได้
ลดภาวะความตึงเครียดในการทำงาน
เป็นเวลาหลายปีที่บริษัทต่างๆ พยายามจัดการความเครียดและภาวะหมดไฟของพนักงาน ด้วยการปรับเวลาการทำงานให้ยืดหยุ่นขึ้น มีคลาสออกกำลังกาย หรือการอบรมเรื่องความสุข แต่จากผลวิจัยชี้ว่าสิ่งนี้ไม่ได้ผลลัพธ์ที่ดีนัก
ในทางกลับกันการลดเวลาชั่วโมงการทำงานลงเป็นการปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำงานให้ทุกคนต้องร่วมมือกัน จากเดิมที่ทำงานให้ครบชั่วโมงไปเป็นการทำงานโดยวัดจากผลงานเป็นหลัก
เปลี่ยนจาก 5 วันเป็น 4 วัน ไม่เปลี่ยนกลับอีกเลย
หลายคนอาจสงสัยว่าผลดีเหล่านี้จะอยู่ได้นานแค่ไหน? จากการติดตามผลในระยะยาว 1-2 ปี พบว่าบริษัทเกือบทั้งหมดกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ที่เข้าร่วมโครงการ ยังคงใช้ระบบทำงาน 4 วันต่อไป
สาเหตุสำคัญที่ทำให้บริษัทที่ทดลองใช้ระบบการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์แล้วไม่เปลี่ยนกลับไปอีกเลยนั่นเป็นเพราะผลงานโดยรวมของบริษัทไม่ตกลง คุณภาพงานก็ดีขึ้น พนักงานลาออกน้อยลง แถมมีความสุขมากขึ้น
การทำงาน 4 วัน คลื่นลูกใหม่ที่กำลังจะมาถึง
การลดชั่วโมงการทำงานเกิดขึ้นครั้งล่าสุดเมื่อ 85 ปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม เทรนด์การทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป รัฐบาลของประเทศโปแลนด์, สเปน, สกอตแลนด์, เบลเยียม, โปรตุเกส, โดมินิกัน รวมถึงญี่ปุ่น เริ่มนำร่องและออกกฎหมายสนับสนุนการทำงานในลักษณะนี้แล้ว
พร้อมกันนี้ การมาของเทคโนโลยี AI ก็ถือเป็นตัวเร่งที่ทำให้การเปลี่ยนแปลงนี้เร็วขึ้นอีก โดยเฉพาะทางแยกของทางเลือกที่ว่า เราจะปล่อยให้ AI เข้ามาแย่งงานคน หรือเราจะใช้ AI เป็นเครื่องมือช่วยให้เราทำงานเสร็จเร็วขึ้น เพื่อปลดล็อกเวลาให้เราได้ไปใช้ชีวิต
ดังนั้นการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ในมุมมองของผู้ทำวิจัยมองว่าอาจไม่ใช่แค่ทางเลือก แต่อาจเป็นทางรอดสำหรับโลกการทำงานยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับทั้งผลงานและคุณภาพชีวิตของคนทำมาหากินอย่างแท้จริง
ที่มา: Fast Company
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ทำงาน 4 วัน ดีจริงหรือ? เปิด 5 เหตุผลทำไมการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ถึงดีต่อพนักงานและบริษัท
ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง
- ค่าเงินบาท อ่อน-แข็ง ใครได้ ใครเสีย ? ผันผวนทั้งสัปดาห์ สะเทือนกระเป๋าทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย
- แรงแบบนี้พี่คงไม่ไหว Xiaomi SU7 Ultra ราคาในจีน 3,700,000 บาท
- “มนพร” เหน็บ ภท. เป็นฝ่ายค้าน หรือฝ่ายแค้น รับเลื่อนร่างเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์
ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : www.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath