โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

‘เที่ยวไทยคนละครึ่ง’ อลหม่าน ปัญหารอบทิศ-สั่งปิดระบบชั่วคราว

ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดต 1 ชั่วโมงที่ผ่านมา • เผยแพร่ 8 ชั่วโมงที่ผ่านมา

ในที่สุด “สรวงศ์ เทียนทอง” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ก็ตัดสินใจประกาศปิดระบบลงทะเบียน “เที่ยวไทยคนละครึ่ง” จำนวน 5 แสนสิทธิ์ ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ออกไปก่อน หลังจากที่เกิดปัญหาซ้ำแล้วซ้ำเล่า ทั้งระบบการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการของผู้ประกอบการเมื่อวันที่ 25 มิถุนายน ระบบลงทะเบียนจองสิทธิ์ของนักท่องเที่ยวไทยเมื่อ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา

แค่ชั่วโมงแรกที่เปิดลงทะเบียน “ทัวร์ลง” ที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ในฐานะผู้ดูแลระบบอย่างหนักตลอดทั้งวัน คนกระหน่ำทั้งบ่นทั้งด่าผ่านสื่อทุกแพลตฟอร์ม เพราะระบบลงทะเบียน “ล่ม” ตั้งแต่เปิดให้ลงทะเบียน (08.00 น.) โดยเฉพาะประเด็นการรอ OTP ที่ระบบจะส่งเข้ามาทางอีเมล์

ท่ามกลางความอลหม่านนี้ยังเกิดประเด็นปัญหาเรื่องผู้ประกอบการโรงแรมฉวยโอกาสขึ้นราคาที่สูงแบบเว่อร์ เมื่อนำไปเปรียบเทียบกับราคาขายบนแพลตฟอร์มออนไลน์ หรือ OTA อย่าง Agoda, Traveloka ฯลฯ

โดยวันแรกของการเปิดลงทะเบียน (ณ เวลา 20.00 น.) มีคนลงทะเบียนรับสิทธิผ่าน www.เที่ยวไทยคนละครึ่ง.com และชำระเงินเพื่อใช้สิทธิสำเร็จแค่ 272 ราย ทำเอา ททท.นั่งไม่ติด สั่งฝ่ายประชาสัมพันธ์ออกจดหมายเชิญสื่อมวลชนร่วมแถลงข่าวชี้แจงประเด็นปัญหาและแนวทางแก้ไขในช่วงเช้าวันที่ 2 กรกฎาคมทันที

ททท.น้อมรับปัญหาพร้อมเรงแก้ไข

“ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์” ผู้ว่าการ ททท. ยอมรับว่าระบบมีปัญหาจริงใน 2 ประเด็น คือ 1.ปัญหาคอขวดในการรองรับผู้ใช้งาน โดยเบื้องต้นระบบออกแบบมาให้ผู้ลงทะเบียนต้องยืนยันตัวตนผ่านระบบ ThaID ควบคู่กับการลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชั่น Amazing Thailand เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ ซึ่งเป็นปัญหาของการดำเนินงานในโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน”

โดยระบบ ThaID รองรับคนใช้งานได้ 100 Session ต่อวินาที ขณะที่ระบบของแอปพลิเคชั่น Amazing Thailand สามารถรองรับผู้ใช้งานได้สูงสุด 600 Session ต่อวินาที ซึ่ง ททท.ได้เร่งแก้ไขทันทีด้วยการปรับ Flow ระบบให้ Bypass การยืนยันตัวตนผ่าน ThaID ในขั้นตอนการลงทะเบียนเบื้องต้น เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าระบบได้ แต่ให้ผู้ที่จองสิทธิดำเนินงานยืนยันตัวตนผ่านระบบ ThaID เมื่อมีการเช็กอินเข้าพัก

และ 2.ปัญหาการส่งอีเมล์ยืนยันจากโดเมนใหม่ (OTP) โดยการส่ง OTP เพื่อยืนยันตัวตนผ่านอีเมล์ Gmail เจอปัญหาความล่าช้า หรือไม่ได้รับ ซึ่งเกิดจากระบบรักษาความปลอดภัยของ Google ที่ตรวจพบว่ามีอีเมล์จากโดเมน @tat.or.th ในปริมาณที่มากกว่าปกติ จึงเข้าใจว่าเป็นพฤติกรรมที่เข้าข่ายเป็นภัยคุกคาม (Spam-like Behavior)

ประเด็นนี้“ราเวนเชอร์” บริษัทร่วมพัฒนาแอปพลิเคชั่นรายงานว่า ได้ดำเนินการปรับการตั้งค่าระบบภายในเครื่องมือ Google Workspace และ Google Postmaster ไปแล้ว และระบบของ Gmail เริ่มทยอยปลดล็อกการรับอีเมล์จาก @tat.or.th โดยคาดว่าปัญหานี้จะหมดไปภายใน 7 วัน

ท่ามกลางความไม่แน่นอนนี้ ทำให้ผู้บริหาร ททท.ลังเลอย่างหนักว่าควรจะเปิดระบบให้ลงทะเบียนต่อไป หรือว่าจะปิดระบบก่อนสัก 7 วัน เพื่อให้ระบบมีความเสถียรก่อน แต่ในที่สุดก็ตัดสินใจเดินหน้าต่อ ด้วยหวังว่าการแก้ปัญหาระบบจะดีขึ้นเรื่อย ๆ

ชี้ป้องกันสวมสิทธิ-มีฐานข้อมูล

เมื่อถามว่าเรามีแอปพลิเคชั่นอยู่แล้ว ตอนทำโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ทำไมถึงไม่ใช้ระบบเดิม “ฐาปนีย์” บอกว่า เหตุผลที่ต้องใช้แอปพลิเคชั่น Amazing Thailand นั้น เนื่องจาก ททท.ต้องการยกระดับความปลอดภัย และเป็นเจ้าของข้อมูล (Data Ownership)

โดยมองว่าหัวใจสำคัญของโครงการ “เที่ยวไทยคนละครึ่ง” คือการใช้ระบบยืนยันตัวตน ThailD ของภาครัฐ ซึ่งเป็นการยกระดับมาตรฐานการยืนยันตัวตน ป้องกันการสวมสิทธิ ซึ่งเป็นปัญหาเดิมของโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ที่ได้ดำเนินการมาแล้ว

“ในอดีตโครงการเราเที่ยวด้วยกัน พึ่งพาระบบ Mobile Banking ของธนาคารพาณิชย์ในการยืนยันตัวตน แม้จะสะดวกแต่ก็อาจมีข้อจำกัดในเรื่องการป้องกันการสวมสิทธิและการเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกบางประการ”

เช่นเดียวกับการเป็นเจ้าของข้อมูล เพราะการมีข้อมูลผู้ซื้อ ผู้ขาย และปฏิสัมพันธ์ระหว่าง 2 ฝ่าย ถือเป็น Asset ที่มีค่ามหาศาล ซึ่งจะทำให้ ททท.สามารถเข้าถึงและบริหารจัดการข้อมูลเชิงลึกได้อย่างเต็มที่ และนำไปใช้วิเคราะห์ ประเมินผล และวางแผนนโยบายสาธารณะด้านการท่องเที่ยวได้อย่างแม่นยำ และตอบโจทย์ประเทศในระยะยาว

ผู้ประกอบการโอดปัญหาเยอะ

ขณะที่ในฟากของผู้ประกอบการ ทั้งโรงแรม แหล่งท่องเที่ยว ร้านอาหาร ฯลฯ ก็เกิดปัญหาในด้านการลงทะเบียน และขั้นตอนการพิจารณาหลักฐานเพื่ออนุมัติให้เข้าร่วมโครงการ รวมถึงกระแสถูกด่าว่าอัพราคาขึ้นสูงเกินเหตุเช่นกัน

แหล่งข่าวในธุรกิจโรงแรมรายหนึ่งบอกกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้มีผู้ประกอบการลงทะเบียนและผ่านการพิจารณาให้เข้าร่วมโครงการแล้วราว 3,000 ราย ส่วนใหญ่เป็นรายใหญ่ ซึ่งเคยเข้าร่วมโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน”

ส่วนผู้ประกอบการรายเล็กยังมีสัดส่วนที่น้อย ซึ่งอาจเป็นเพราะว่ากลุ่มนี้ยังมีปัญหาเรื่องการเตรียมการด้านเอกสาร ทั้งใบอนุญาตประกอบกิจการ ใบแสดงผู้เสียภาษี รายละเอียดของราคาขาย ฯลฯ รวมถึงยังไม่เข้าใจในรายละเอียดของโครงการ

สอดคล้องผู้ประกอบการร้านอาหารและแหล่งท่องเที่ยวในหลายจังหวัด เช่น เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ชลบุรี ที่ให้ข้อมูลในทิศทางเดียวกันว่า ยังคงติดขัดอยู่ที่ระบบลงทะเบียนที่ยังไม่สามารถเข้าร่วมได้ และเชื่อว่ามีผู้ประกอบการอีกจำนวนมากที่เจอปัญหาเดียวกัน

ขณะที่ ททท.ให้ข้อมูลว่า มีผู้ประกอบการลงทะเบียนเข้ามาแล้วกว่า 30,000 ราย ผ่านการพิจารณาแล้วราว 3,000 ราย และได้ระดมทีมบุคลากรในการพิจารณาอนุมัติเพิ่มแล้ว คาดว่าจะทยอยประกาศรายชื่อสถานประกอบการได้เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

วิจารณ์ยับโรงแรมแห่ขึ้นราคา

ท่ามกลางปัญหาของระบบลงทะเบียนทั้งในส่วนของนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการที่ยังสับสนอลหม่านและเร่งดำเนินการแก้ไขนี้ ปัญหาใหม่ก็เกิดขึ้นอีกเป็นระลอก นักท่องเที่ยวและชาวโซเชียลด่ากระหน่ำบนโลกออนไลน์ว่า โรงแรม “ฉวยโอกาส” แห่ขึ้นราคาไปรอแล้ว

บางรายบอกว่า “ราคาห้องพักเที่ยวไทยคนละครึ่งไม่ถูกจริง โปรโมชั่นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ยังถูกกว่า” บางเพจโพสต์เปรียบเทียบราคาห้องพักระหว่างโครงการเที่ยวไทยคนละครึ่ง และ OTA เช่น Agoda, Traveloka พร้อมให้ข้อมูลว่า ราคาขายในช่องทาง OTA ถูกกว่า

เช่น “เพจท่านเปา” ที่ระบุชัดว่า ราคาเที่ยวไทยคนละครึ่งแพงกว่าแอปจองห้องพัก ทั้งที่เป็นห้องพักแบบเดียวกัน สถานที่เดียวกัน พร้อมยกตัวอย่างราคาเที่ยวไทยคนละครึ่ง 7,200 บาท Traveloka 3,800 บาท Agoda 3,753 บาท

และบางเพจระบุว่า โรงแรม 5 ดาวหลายแหล่งในเมืองท่องเที่ยว เช่น เพชรบุรี หัวหิน (ประจวบคีรีขันธ์) ราคาขยับไปคืนละกว่า 7,000 บาท (ก่อนหักส่วนลด)

พร้อมตั้งคำถามถึงกลไกการบริหารจัดการและความโปร่งใสของโครงการว่า แท้จริงแล้ว“ใครได้ประโยชน์ ?”

รายใหญ่ไม่ทน “ปิดจองชั่วคราว”

ล่าสุดมีโรงแรมชื่อดังหลายแห่งทั่วประเทศออกประกาศผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียของตัวเองว่า ขอระงับการรับจองห้องพักภายใต้โครงการ “เที่ยวไทยคนละครึ่ง” เป็นการชั่วคราว พร้อมระบุสาเหตุว่า เป็นผลจากความไม่เสถียรของระบบ และความไม่สอดคล้องของข้อมูลราคาในระบบแอปพลิเคชั่น Amazing Thailand

ที่ชัดเจนคือโรงแรมใน“กลุ่มอมารี” ทั้งอมารี หัวหิน, อมารี พัทยา ที่ประกาศผ่านเพจเฟซบุ๊กว่า ขอบคุณลูกค้าทุกท่านที่ให้ความสนใจในการจองห้องพักผ่านโครงการ “เที่ยวไทยคนละครึ่ง” แต่ขณะนี้ทางโรงแรมไม่สามารถดำเนินการจองผ่านโครงการได้ เนื่องจากเกิด“ปัญหาราคาที่ไม่สอดคล้อง” ระหว่างราคาที่โรงแรมแจ้งไว้กับระบบของโครงการ กับราคาที่แสดงในระบบจริง

พร้อมระบุว่า ได้แจ้งปัญหาไปยังหน่วยงานผู้ดูแลโครงการแล้ว แต่ยังไม่ได้รับการตอบกลับหรือแนวทางแก้ไข จึงไม่สามารถแจ้งราคาที่แน่นอน หรือรับการจองผ่านโครงการได้ในตอนนี้ พร้อมแนะนำลูกค้าสามารถจองในราคาปกติได้แทน

เช่นเดียวกับ โรงแรม“ทอสกานา วัลเล่ เขาใหญ่” โรงแรมหรูชื่อดังในพื้นที่เขาใหญ่ ที่ประกาศ “ปิดรับจองชั่วคราว” สำหรับสิทธิในโครงการ เนื่องจากระบบฝั่งผู้ประกอบการยังไม่เสถียร เข้าระบบได้ แต่ขึ้นแจ้งเตือนว่า “Server Error” แล้วออกจากระบบเองโดยอัตโนมัติ ทำให้ไม่สามารถทำรายการจองห้องพักได้ จึงยังไม่สามารถเปิดการจองแบบใช้สิทธิในโครงการได้

พร้อมให้ข้อมูลว่า ทางโรงแรมจะเปิดรับการจองอีกครั้งเมื่อระบบสามารถดำเนินการได้อย่างปกติ และจะแจ้งให้ทราบผ่านช่องทางต่าง ๆ ของทอสกานาวัลเล่ แต่สำหรับการจองโดย “ไม่ใช้สิทธิ” โครงการ สามารถดำเนินการจองได้ปกติ ผ่าน Website หรือ LINE

ขณะที่โรงแรม “เทมส์ วัลลีย์ เขาใหญ่” ระบุว่า ได้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแล้ว แต่ยังอยู่ในขั้นตอน “รอพิจารณา” จากระบบ และจะเปิดรับจองทันทีเมื่อได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการ

ยันระบบ One Price ของ ททท. คือปัญหาใหญ่

“เทียนประสิทธิ์ ไชยภัทรานันท์” นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) อธิบายกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เท่าที่รับทราบปัญหาในช่วงที่ผ่านมา ส่วนใหญ่คือเรื่องของ “ราคา” โดยผู้ประกอบการส่วนใหญ่เข้าใจว่าราคาที่กรอกเข้าระบบสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามดีมานด์-ซัพพลายของตลาด เหมือนกับโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน”

แต่ปรากฏว่ารอบนี้กรอกราคาไหนต้องขายราคานั้น ไม่ว่าจะเป็นวันหยุด วันเสาร์-อาทิตย์ หรือวันธรรมดา ให้ขายราคาเดียวกันหมด คือต้อง One Price

พร้อมอธิบายว่า “ปกติรูปแบบการขายห้องพักของโรงแรมจะมีความไดนามิกสูงมาก ราคาจะเปลี่ยนทุกวัน บางครั้งเปลี่ยนวันละหลาย ๆ รอบ ตามหลักดีมานด์-ซัพพลาย แต่พอถูกฟิกซ์ว่าต้องขายราคาเดียว ตามที่ระบุไว้ในระบบเท่านั้น ทำให้ไม่สามารถปรับราคาขึ้น-ลงได้ หลายครั้งเรารู้ว่าห้องพักขายไม่หมดก็ตัดราคาขายถูก ๆ ไปให้ OTA ช่วยขาย ซึ่งประเด็นนี้เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ราคาขายบน OTA ต่ำกว่าราคาในระบบ”

สอดคล้องกับความเห็นของผู้ประกอบการโรงแรมหลายรายที่สะท้อนว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ราคาจองผ่านโครงการแพงกว่าปกติมาจากข้อจำกัดในการลงทะเบียนของฝั่งผู้ประกอบการที่ระบบให้ใส่ราคาห้องพักเพียงเรตเดียว ทั้งวันธรรมดาและวันหยุดสุดสัปดาห์ ซึ่งโดยปกติราคาวันหยุดจะสูงกว่า ทำให้โรงแรมหลายแห่งเลือกใส่เรตราคาสูงสุดเข้าไปก่อน

ที่สำคัญ ระบบยังไม่อนุญาตให้ผู้ประกอบการแก้ไขราคาภายหลังจากลงทะเบียนแล้ว ทำให้เกิดปัญหาการตั้งราคาไม่สมเหตุสมผลในวันธรรมดา จนประชาชนหลายรายเลือกหันไปใช้บริการผ่านช่องทางอื่น ๆ แทน

ปัญหาต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้ผู้ประกอบการจำนวนหนึ่งต้อง “ปิดระบบชั่วคราว” เพราะไม่คุ้มกับการถูกด่าว่า “ฉวยโอกาส” และบางส่วนเลือกถอนตัวจากโครงการดังกล่าว

ททท.ขู่ใครฉวยโอกาสระงับสิทธิทันที

ผู้ว่าการ ททท.แจงในประเด็นที่ว่าผู้ประกอบการบางรายขึ้นราคาห้องพักสูงเกินจริงนี้ว่า เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ประกอบการใช้โครงการนี้เป็นช่องทางในการปรับขึ้นราคา ททท.ได้กำหนดราคาของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการว่า ต้องอิงตามราคาช่วง “Green Season” ของปีก่อน หรือไดนามิกได้ไม่เกิน 10%

และเพื่อควบคุมราคาของโรงแรมที่เข้าร่วมโครงการให้มีความเหมาะสม ททท.จะมีทีมเจ้าหน้าที่จากสำนักงานภายในประเทศทำการตรวจสอบ หากพบว่ามีโรงแรมใดตั้งราคาสูงเกินกว่ามาตรฐานจะปิดระบบการจองทันที

คงต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป เพราะจนถึงเวลานี้ยังไม่ได้รับแจ้งว่า โครงการ “เที่ยวไทยคนละครึ่ง” จะเปิดระบบการลงทะเบียนอีกครั้งวันไหน และจะยังคงให้ลงทะเบียนผ่านแอป Amazing Thailand และ www.เที่ยวไทยคนละครึ่ง.com เหมือนเดิมหรือไม่ หรือว่าจะเปลี่ยนไปใช้แอป “ทางรัฐ” ตามที่เป็นข่าวไปแล้ว

อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ‘เที่ยวไทยคนละครึ่ง’ อลหม่าน ปัญหารอบทิศ-สั่งปิดระบบชั่วคราว

ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.prachachat.net

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก ประชาชาติธุรกิจ

มนุษย์ต่างวัย Fest 2025 ชีวิตดี...ชีวิต ซีซั่น 2

21 นาทีที่แล้ว

50 ปี ตลาดหลักทรัพย์ฯ มองอดีต-สร้างสะพานสู่อนาคต

1 ชั่วโมงที่ผ่านมา

บริษัทเทค ‘ผลัดใบ’ พร้อมใจตั้ง ‘แม่ทัพ’ ใหม่ ขับเคลื่อนองค์กร

1 ชั่วโมงที่ผ่านมา

รมว.คลัง เร่งปรับข้อเสนอดีลภาษี ส่งกลับให้สหรัฐโดยเร็ว

2 ชั่วโมงที่ผ่านมา

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความธุรกิจ-เศรษฐกิจอื่น ๆ

ยอดหนี้ปริศนา! ลูกหนี้ กยศ. งง จ่ายครบจนเป็น 0 ยอดใหม่ โผล่เพิ่ม 2,000

Thaiger

“ฝุ่นพีเอ็ม” เพิ่มความรุนแรงของมะเร็งปอด แม้กับคนไม่สูบบุหรี่

เดลินิวส์

'ฉันทวิชญ์' ดูการตรวจสอบทุเรียนส่งออกจีน ก่อนตรวจศูนย์ OSS ด่านหนองคาย

Khaosod

เปิดโรงเรียนอินเตอร์คึกคัก 3 ทัพทุนต่างชาติ โกยกำไรกว่า 4 พันล้านบาท | คุยกับบัญชา | 28 พ.ค. 68

BTimes

เงินเยียวยา 3 กลุ่มเปราะบาง เดือนกรกฎาคม 68 โอนเข้าบัญชีเร็วกว่าเดิม เช็กด่วน

sanook.com

กยศ. แจ้งลูกหนี้ 3.5 ล้านบัญชี เร่งชำระเงินคืนภายในวันนี้ 5 ก.ค.นี้

PPTV HD 36

คลังตั้งหลักปรับข้อเสนอดีลภาษีสหรัฐใหม่เอื้อผลประโยชน์ 2 ประเทศ

The Better

กยศ. เตือนลูกหนี้ 3.5 ล้านบัญชี เร่งจ่ายเงินคืนภายใน 5 ก.ค. 68

sanook.com

ข่าวและบทความยอดนิยม

รมว.คลัง เร่งปรับข้อเสนอดีลภาษี ส่งกลับให้สหรัฐโดยเร็ว

ประชาชาติธุรกิจ

‘เมเจอร์ฯ’ ออกหุ้นกู้ 2 ชุด เสริมแกร่งการเงิน-แจกดอกเบี้ย 7.1-7.3%

ประชาชาติธุรกิจ

เงินบาทแข็งโป๊กรอบ 9 เดือน จับตาสัปดาห์หน้า 5 ปัจจัยสำคัญ-ทองโลก

ประชาชาติธุรกิจ
ดูเพิ่ม
Loading...