50 ปี ตลาดหลักทรัพย์ฯ มองอดีต-สร้างสะพานสู่อนาคต
“สิ่งที่ถูกต้องคือถูกต้อง แม้ไม่มีใครทำสิ่งนั้น…สิ่งที่ผิดคือผิด แม้ทุกคนทำสิ่งนั้น” ศาสตราจารย์สังเวียน อินทรวิชัย อดีตประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
นี่คือรากฐานสำคัญของการสร้างบรรษัทภิบาลของตลาดทุนไทย
ท่ามกลางมรสุมและการเปลี่ยนแปลง ตลาดหลักทรัพย์ฯได้ทำหน้าที่เป็นแหล่งระดมทุน ขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจมายาวนาน 50 ปี
และค่ำคืนวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ฯได้จัดงานสัมมนา “Legacy & Future : 50 Years of Thai Capital Market”
“อัสสเดช คงสิริ” กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภารกิจสำคัญของตลาดหลักทรัพย์ฯ คือการสร้างโอกาสให้ทุกภาคส่วน ทั้งนักลงทุนและผู้ประกอบการ พร้อมส่งเสริมให้ธุรกิจสามารถระดมทุนจากตลาดทุนเพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน
โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาเครื่องมือการลงทุนใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับนักลงทุนในการกระจายความเสี่ยง
“50 ปีข้างหน้าคงต้องเจออะไรอีกมากมาย แต่วันนี้มีความสามัคคีและความตั้งใจที่จะพัฒนาตลาดทุนไทยเพื่อสร้างโอกาสให้ประชาชนและนักลงทุนมีทางเลือก มีข้อมูลและความรู้เพียงพอในการตัดสินใจลงทุนอย่างรอบคอบ สร้างโอกาสให้ธุรกิจเข้าถึงแหล่งทุนที่เหมาะสมและเติบโตไปกับเศรษฐกิจไทย”
3 ยุคบนเส้นทาง “บรรษัทภิบาล”
พร้อมด้วยช่วงพิเศษ “The Legacy : มองอดีต สร้างอนาคต บรรษัทภิบาลไทย” กับประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์ฯ 3 คน-3 ยุค ร่วมถ่ายทอดมุมมองการสร้างบรรษัทภิบาลไทยแต่ละแง่มุมในแต่ละยุคสมัย
เริ่มจาก ดร.ชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์ ประธานกรรมการ ตลท. คนที่ 16 (ปี 2558-2563) กล่าวว่า แม้ช่วงเวลาที่ดำรงตำแหน่ง ภาวะเศรษฐกิจเอื้ออำนวยทำให้ทุกอย่างไปได้ดี แต่ตลาดหลักทรัพย์ฯต้องสร้างเสถียรภาพให้ระบบ 2 ด้าน คือดูแลระบบตลาดให้มีความมั่นคงผ่านระบบ FinNet เพื่อลดจำนวนธุรกรรมระหว่างลูกค้าและบริษัทหลักทรัพย์
และการดูแลความมั่นคงของระบบจัดการความเสี่ยง (Risk Management) ทำให้เกิดการร่วมมือข้ามองค์กรระหว่างตลาดหลักทรัพย์ฯ ก.ล.ต. และ ธปท. เพื่อเชื่อมข้อมูลและประเมินความเสี่ยง เช่น ในช่วงที่เกิดปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ตั๋ว B/E ทำให้สามารถบริหารจัดการเพื่อไม่ให้กระทบกับความเชื่อมั่นของระบบตลาดตราสารหนี้
ตลอดจนการผลักดันงานด้านความยั่งยืน ส่งเสริมให้บริษัทขนาดใหญ่เข้ารับการประเมินตามมาตรฐานสากล เข้าเป็นสมาชิก DJSI จากเดิมมีเพียง 2 บริษัท ได้แก่ ปตท. และเอสซีจี เมื่อ ตลท. สร้างองค์ความรู้และส่งเสริมทำให้ปัจจุบันมีมากกว่า 20 บริษัท
บทเรียน Black Swan
สำหรับดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการ ตลท. คนที่ 17 (ปี 2564-2567) กล่าวว่า ในรอบ 50 ปี มี Legacy ที่สำคัญมากของตลาดทุนไทยคือ ปี 2535 ที่มีการจัดตั้ง ก.ล.ต. และออก พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ เพื่อวางกรอบ IPO และการบูรณาการเชื่อมโยงธุรกิจที่เกี่ยวข้องในตลาดทุน
อย่างไรก็ดี รูปแบบตลาดทุนในอนาคตที่เหมาะสม อาจไม่ใช่รูปแบบที่คุ้นเคยในปัจจุบัน ต้องคิดสิ่งใหม่สำหรับอนาคต
แม้ช่วงที่ผ่านมาเกิดคดีใหญ่ตลาดหุ้น คือ MORE และ STARK ถือเป็น Black Swan ที่เกิดขึ้นกับทั้งตลาดหลักทรัพย์ไทย ตลาดหุ้นโลกที่โยงกับ Legacy อยู่ที่ว่าจะบริหารจัดการอย่างไร
ซึ่งทำให้ตลาดทุนไทยตื่นตัวจัดการปัญหา ทั้งการนำ AI มาจับ Financial Ratio การสร้างความแข็งแกร่งด้านบรรษัทภิบาล การดำเนินคดีร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ทำให้เกิด Good Governance และการบังคับใช้กฎหมายให้เข้มแข็งขึ้น
เร่งสร้าง Trust & Confidence
ขณะที่ ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์ฯคนปัจจุบัน กล่าวว่า ช่วงของการดำรงตำแหน่งประธาน สิ่งสำคัญที่กำลังทำอยู่และจะทำต่อไป คือ การสร้าง Trust and Confidence ให้เกิดขึ้นกับตลาดทุนไทย
โดยมุ่งเน้นการปรับปรุงแก้ไขกฎระเบียบ กฎหมาย เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ เท่าเทียม พร้อมไปกับทำงานร่วมกันกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
รวมถึงการขับเคลื่อนโครงการ Thailand Individual Saving Account (TISA) เพื่อส่งเสริมคนไทยซื้อหุ้นระยะยาว
การนำเทคโนโลยี AI มาใช้ มุ่งเน้นไปที่ Future ตลาดหลักทรัพย์ฯต้องเป็นฐานข้อมูลให้นักลงทุน ครบ เข้าถึงได้ เพื่อนำไปตัดสินใจ ถ้าสามารถขับเคลื่อนสิ่งเหล่านี้ได้ อนาคตประเทศไทยจะเห็นสิ่งใหม่ ๆ
อนาคต SET สไตล์ ดร.สันติธาร
ดร.สันติธาร เสถียรไทย นักยุทธศาสตร์แห่งอนาคต และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ คณะกรรมการนโยบายการเงิน ธปท. มองอนาคตตลาดหุ้นไทย “The Future : SET NEXT 50” กล่าวว่า ในอนาคตความท้าทายจะมีมากขึ้น ทั้งจากสงครามการค้าที่ทำให้โลกเปลี่ยน การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี หรือภาวะสังคมสูงวัยขั้นสุดยอดของประเทศไทยในอีก 5 ปีข้างหน้า คนรุ่นหลังจะได้รับผลกระทบโดยตรง
ดร.สันติธารกล่าวว่า การลงทุนยังคงมีความจำเป็นเพื่อสร้างรายได้ในอนาคต และตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังมีความจำเป็น แต่ต้องเป็นตลาดทุนที่เป็นสะพานสู่อนาคต
“ตลาดทุนที่จะเป็นสะพานสู่อนาคตให้กับคนได้ ต้องมี 3 คำ 1.Future คือต้องมีบริษัทเพื่อลงทุนสำหรับอนาคต เช่น ต้องมีบริษัทเกี่ยวกับ AI หรือควอนตัม รวมถึงเรื่อง ESG ก็ต้องมีบริษัทแบบนั้นอยู่ในตลาดหุ้นเป็นทางเชื่อมอนาคต 2.คำว่า Trust และ Equity Culture ทำให้มีความเชื่อมั่นเรื่อง Governance ให้มีเสาที่เข้มแข็ง และปกป้องนักลงทุนรายเล็ก”
และ 3.Access ต้องเป็นสะพานที่กว้างและเรียบเพื่อให้เข้าถึงง่ายและต้นทุนต่ำ
“ถ้ามีทั้ง 3 คำนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯก็จะเป็นสะพานสู่อนาคตให้กับทุกคนได้” ดร.สันติธารสรุป
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : 50 ปี ตลาดหลักทรัพย์ฯ มองอดีต-สร้างสะพานสู่อนาคต
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.prachachat.net