ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงสภา เร่งผลักดันนิรโทษกรรมประชาชน
เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงผู้นำรัฐบาลและฝ่ายค้าน ย้ำต้องผลักดันนิรโทษกรรมประชาชนอย่างเร่งด่วน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนางสาวชนก จันทาทอง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทย ในฐานะรองประธานคนที่ 3 ในคณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1 ในกิจกรรม “ไปบอกสภาว่าเราเอานิรโทษกรรมประชาชน” โดยมีเป้าหมายเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลผลักดันให้ประเทศไทยผลักดันนิรโทษกรรมประชาชนอย่างเร่งด่วน พร้อมย้ำ 3 ข้อเรียกร้องเพื่อคืนความยุติธรรมให้กับประชาชนที่ใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ นับตั้งแต่หลังรัฐประหารปี 2549 เป็นต้นมา
นายณธกร นิธิศจรูญเดช เจ้าหน้าที่อาวุโสฝ่ายรณรงค์สาธารณะ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย พร้อมด้วยนางสาวพูนสุข พูนสุขเจริญ ทนายความ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตัวแทนเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน กล่าวว่า รัฐบาลและรัฐสภาไทย ต้องแสดงความจริงใจในการแก้ไขสถานการณ์สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก มากกว่าการใช้การนิรโทษกรรมประชาชนเพื่อต่อรองผลประโยชน์ทางการเมือง ซึ่งมีแนวโน้มเป็นมาโดยตลอด
“ในวันนี้เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนต้องการเน้นย้ำว่า นิรโทษกรรมประชาชนเป็นทางออกของความขัดแย้งทางการเมืองสำหรับทุกคนและทุกฝ่าย ทั้งเพื่อผู้ที่ถูกจับกุมคุมขังในปัจจุบัน และผู้ที่จะออกมาใช้สิทธิและเสรีภาพในอนาคต เพื่อประกันว่าจะไม่มีใครถูกดำเนินคดีอาญาเพียงเพราะใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและชุมนุมประท้วงโดยสงบอีกต่อไป” ตัวแทนทั้งสองคนย้ำ
โดยข้อเรียกร้องของเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนในวันนี้ ได้ครอบคลุม 3 ประเด็น ได้แก่
1.ผลักดันร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนทุกฉบับเข้าสู่วาระสมัยประชุมนี้
2.รวมคดีตามมาตรา 112 ไว้ในการนิรโทษกรรม เพื่อคลี่คลายความขัดแย้งและยืนยันสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบ
3.นิรโทษกรรมต้องครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม ทุกสี ทุกฝ่าย เพื่อไม่ให้ทิ้งประชาชนคนไหนไว้ข้างหลัง
ตัวแทนเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนยังยืนยันในจุดยืนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง คือทางการไทยต้องไม่ลืมเรื่องนิรโทษกรรมประชาชน ในฐานะวาระเร่งด่วน ที่ถูกเลื่อนมาพูดคุยในการประชุมสภา ในระหว่างวันที่ 3 กรกฏาคม-30 ตุลาคมนี้ เพราะเราตระหนักดีว่า “การเพิกเฉยต่อปัญหานี้ไม่ใช่ทางออก”
“การเดินหน้าพิจารณา พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน ต้องไม่ใช่เป็นเพียงหน้าที่ แต่คือการแสดงเจตจำนงของรัฐบาลในการสะสางอดีต เพื่อคืนความยุติธรรมให้กับผู้ถูกดำเนินคดีการเมือง โดยการพิจารณาร่างดังกล่าวในวาระหนึ่งและวาระสองจะต้องแล้วเสร็จภายใน 120 วัน”
“รัฐบาลต้องไม่ใช้ข้ออ้างใดมาเป็นเหตุผลในการประวิงเวลาอีกต่อไป การสะสางอดีตนี้จะต้องนำไปสู่การคลี่คลายสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน และรับประกันการวางรากฐานสำหรับสิทธิเสรีภาพในอนาคตอย่างแท้จริง”
ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชนถูกเสนอเข้าพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร ผ่านการเสนอรายชื่อของประชาชนกว่า 36,723 คน โดยครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม ทุกสี ทุกฝ่าย ที่เคยถูกดำเนินคดีทางการเมืองตั้งแต่หลังรัฐประหารปี 2549 และเป็นร่างนิรโทษกรรมฉบับเดียวที่ครอบคลุมการนิรโทษกรรมคดีมาตรา 112 โดยอัตโนมัติ
ปัจจุบันทางการไทยมีบทบาทในฐานะสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNHRC) วาระ 2568-2570 และมีพันธกรณีสำคัญในการปรับปรุงสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายในประเทศให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล โดยเฉพาะในปี 2569 ที่ประเทศไทยจะต้องเข้าสู่กระบวนการการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (UPR) รอบที่ 4 โดยองค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและรัฐสมาชิก UN ได้แนะนำอย่างต่อเนื่องให้ไทยทบทวนกฎหมายอาญามาตรา 112 และดำเนินมาตรการนิรโทษกรรมต่อผู้ที่ถูกดำเนินคดีทางการเมือง
อย่างไรก็ตาม จากการติดตามข้อมูลโดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า ปัจจุบันยังมีประชาชนอย่างน้อย 51 คน ถูกคุมขังในเรือนจำจากการแสดงออกทางการเมือง หรือกรณีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง โดยอย่างน้อย 32 คน ถูกคุมขังโดยมูลเหตุจากประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ขณะที่อย่างน้อย 26 คน ถูกคุมขังระหว่างต่อสู้คดีโดยไม่ได้รับสิทธิประกันตัว
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงสภา เร่งผลักดันนิรโทษกรรมประชาชน
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.prachachat.net