” เพอร์มาตา ” ใต้ร่มบัวหลวง ก้าวสำคัญ ธนาคารกรุงเทพ เติบโตในประเทศเศรษฐกิจเบอร์ 1 อาเซียน
เจาะลึกบทบาท ธนาคารกรุงเทพ ที่จะใช้ ธนาคาร เพอร์มาตา เป็นสะพานลงทุนไทย และ อินโดนีเซีย ชาติเศรษฐกิจอันดับ 1 ของอาเซียน หลังจากเข้าไปวางรากฐานในอินโดนีเซียมานาน 57 ปี
อินโดนีเซียเป็นศูนย์กลางการลงทุนและการเติบโตที่สำคัญของภูมิภาค ด้วยจีดีพีที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 16 ของโลก (ขณะที่ไทยอยู่ในอันดับ 29 ของโลก) และอินโดนีเซียมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นที่ 6 ในภูมิภาคเอเชีย และเป็นที่ 1 ในอาเซียน
อินโดนีเซียเป็นประเทศมีศักยภาพสูงทั้งด้านทรัพยากรและแรงงาน รัฐบาลกำลังดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์"Golden Indonesia" ที่เน้นขับเคลื่อนโครงการเศรษฐกิจสีเขียว การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และโครงการด้านเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อมุ่งสู่การเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกภายในปี 2588
ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 การลงทุนของไทยในอินโดนีเซียมีมูลค่าสูงถึง 225 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และในช่วงปี 2560-2565 นักลงทุนไทยมีการลงทุนรวม 1.52 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในกว่า 1,400 โครงการทั่วประเทศอินโดนีเซีย
อินโดนีเซียนับเป็นคู่ค้าที่มีความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ของไทย ซึ่งในปีที่ผ่านมาไทยส่งออกสินค้าไปยังอินโดนีเซียมูลค่า 10.25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ไทยเป็นจุดหมายส่งออกใหญ่อันดับ 4 ของอินโดนีเซีย โดยมีมูลค่าส่งออกถึง 7.22 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
57 ปีในอินโดนีเซียของธนาคารกรุงเทพ
ธนาคารกรุงเทพ เป็น ธนาคารต่างชาติแห่งแรกของอาเซียนที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารในอินโดนีเซีย ตั้งแต่ปี 2511 หรือเมื่อ 57 ปีที่แล้ว เพราะเล็งเห็นศักยภาพทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียในระยะยาว โดยเลือกที่ตั้งของสำนักงานสาขาอยู่ใจกลางเมือง ซึ่งลูกค้าท้องถิ่นชาวอินโดนีเซียรู้จักธนาคารกรุงเทพในฐานะธนาคารต่างชาติก่อนธนาคารจากซีกโลกตะวันตก เช่น ซิตี้แบงก์ เสียอีก
ชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวในงาน Meet the press Bangkok Bank Press Trip Tpur Vosit Permata Bank Indonesia 2025 ว่า ธนาคารกรุงเทพเล็งเห็นศักยภาพทางเศรษฐกิจของอินโดนีเซียในระยะยาวมาตั้งแต่ปี 2511 และเป็นธนาคารต่างชาติแห่งแรกของอาเซียนที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจธนาคารในอินโดนีเซีย ทำให้การเข้าซื้อกิจการธนาคารเพอร์มาตาในปี 2563 และการควบรวมสาขาของธนาคารกรุงเทพในอินโดนีเซียเข้ากับธนาคารเพอร์มาตา จึงเป็นการผสานจุดแข็งของทั้งสองธนาคารเพื่อเสริมศักยภาพในการให้บริการและเป็นช่องทางการจับคู่ทางธุรกิจที่มีประสิทธิภาพในอินโดนีเซีย
[caption id="attachment_181631" align="aligncenter" width="900"]
ชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ[/caption]
ย้อนไปเมื่อปี 2563 ธนาคารกรุงเทพได้เข้าซื้อกิจการ ธนาคาร พีที เพอร์มาตา ทีบีเค (ธนาคารเพอร์มาตา) และได้ควบรวมธนาคารกรุงเทพ 3 สาขา ได้แก่ สาขาจาการ์ตา สาขาสุรายาบา และสาขาเมดาน เข้ากับธนาคารเพอร์มาตา ทำให้ขยับจากธนาคารที่ใหญ่เป็นอันดับ 12 ในอินโดนีเซียขึ้นมาเป็นอันดับที่ 8
ในปี 2567 ธนาคารเพอร์มาตา ได้ปรับเปลี่ยนมาใช้ตราสัญลักษณ์บัวหลวง เพื่อสะท้อนความเป็นหนึ่งเดียวในมาตรฐานการบริการ ภายใต้แนวคิด “One Family One Team” ของธนาคารกรุงเทพ ที่มีสัดส่วนการถือหุ้นอยู่ 89.12 %
โดย ณ สิ้นปี 2567 ธนาคารเพอร์มาตาเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ด้วยกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 38% เมื่อเทียบกับปี 2566 ธนาคารเพอร์มาตามีสัดส่วนสินเชื่อประมาณ 12% ของพอร์ตสินเชื่อทั้งหมดของธนาคารกรุงเทพ ธนาคารเพอร์มาตาสร้างรายได้ 8,000 ล้านบาทในปีที่ผ่านมาและในอนาคตคาดว่าจะเพิ่มเป็น 10,000 ล้านบาท (รายได้ของธนาคารกรุงเทพในปี 2567 อยู่ที่ ซึ่งหลังจากซื้อธนาคารเพอร์มาตา เข้ามาทำให้ธุรกิจในอินโดนีเซียก้าวกระโดดขึ้นมาเป็นอันดับ 1 ของธุรกิจต่างประเทศสำหรับธนาคารกรุงเทพ ตามมาด้วยธุรกิจในสิงคโปร์ เวียดนาม จีน และฮ่องกง ตามลำดับ
ตั้งแต่การเข้าซื้อกิจการในปี 2563 สัดส่วนสินเชื่อในต่างประเทศต่อสินเชื่อรวมของธนาคารกรุงเทพเพิ่มขึ้นจาก 17% เป็น 25% (ข้อมูล ณ ธันวาคม 2567) ปัจจุบันธนาคารเพอร์มาตาอยู่ใน Top 10 ของธนาคารที่มีสินทรัพย์รวมใหญ่ที่สุดในอินโดนีเซีย มีเครือข่ายสาขาให้บริการ 240 สาขา กระจายอยู่ใน 82 เมืองสำคัญทั่วประเทศ เพื่อรองรับการให้บริการลูกค้ากว่า 6.2 ล้านราย (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มีนาคม 2568)
เมื่อผสานจุดแข็งของทั้งสองธนาคารเข้าด้วยกัน นอกจากจะช่วยให้ธนาคารกรุงเทพ และ ธนาคารเพอร์มาตา เติบโตอย่างแข็งแกร่งแล้ว ยังเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างไทยและอินโดนีเซียให้แน่นแฟ้นมากขึ้นด้วย
ธนาคารกรุงเทพมีแผนที่จะพาธุรกิจจากประเทศไทยเข้ามาลงทุนในประเทศที่มีศักยภาพแบบอินโดนีเซีย ที่มองว่าอีก 10 - 20 ปี ข้างหน้าจะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ นอกจากนี้ยังมีแผนพาธุรกิจในอินโดนีเซียออกไปลงทุนในประเทศไทยและต่างประเทศด้วยเช่นกัน
โอกาสจากยุทธศาสตร์ชาติ “Golden Indonesia"
เมลิสา รุสลิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพอร์มาตา กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลอินโดนีเซียได้ดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์ “Golden Indonesia” ที่เน้นขับเคลื่อนโครงการเศรษฐกิจสีเขียว การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ และโครงการด้านเทคโนโลยีดิจิทัล มุ่งสู่การเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกภายในปี 2588
จากยุทธศาสตร์นี้ ธนาคารเพอร์มาตา ได้เล็งเห็นโอกาสสำคัญและผลักดันลูกค้าและพันธมิตรในภูมิภาคเพื่อคว้าโอกาสต่างๆที่จะเกิดขึ้น ผ่านบริการและผลิตภัณฑ์ทางการเงินอย่างครบวงจร สำหรับกลุ่มลูกค้าบุคคลและกลุ่มลูกค้าธุรกิจ โดยมีทั้งบริการการเงินทั่วไปและระบบการเงินอิสลาม (Sharia)
[caption id="attachment_181633" align="aligncenter" width="900"]
เมลิสา รุสลิ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพอร์มาตา[/caption]
นโยบายของรัฐบาลอินโดนีเซียในขณะนี้ สอดคล้องกับการดำเนินงานของธนาคารเพอร์มาตาภายใต้การสนับสนุนของธนาคารกรุงเทพเพื่ออำนวยความสะดวกลูกค้าในหลายด้าน
สำหรับบริการที่ช่วยลูกค้า เช่น Asia Same Day Payment ซึ่งให้บริการโอนเงินแก่ลูกค้านำเข้าและส่งออกได้ภายในวันเดียวแบบเรียลไทม์ระหว่างไทยกับอินโดนีเซียผ่านคิวอาร์โค้ด รวมทั้งเร่งผลักดันลูกค้าเปลี่ยนผ่านไปสู่ธุรกิจสีเขียว โดยสนับสนุนสินเชื่อต่างๆพร้อมทั้งดูแลและให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิด
การเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่ม BRICS อย่างเต็มรูปแบบของอินโดนีเซียในปีนี้ทำให้อินโดนีเซียเป็นประเทศที่น่าสนใจสำหรับนักธุรกิจที่ต้องการลดความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์และความผันผวนของเศรษฐกิจโลก
ธนาคารกรุงเทพจึงได้สนับสนุนธนาคารเพอร์มาตาจัดตั้งหน่วยงานบริการที่ชื่อว่า ฝ่ายพัฒนาและที่ปรึกษาธุรกิจระหว่างประเทศ (International Business Development and Advisory Directorate) เพื่อเป็นศูนย์การรองรับทั้งลูกค้าในเครือข่ายของธนาคารกรุงเทพ ในกลุ่มอาเซียน จีน ฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ที่ต้องการเข้ามาลงทุนในอินโดนีเซีย และลูกค้าในอินโดนีเซียที่ต้องการไปลงทุนประเทศอื่นในภูมิภาค โดยช่วยเสริมสร้างศักยภาพในการพัฒนาธุรกิจระหว่างประเทศ จัดหาเงินทุนสำหรับโครงการและพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงิน
โดยหน่วยงานบริการนี้เป็นการประสานจุดแข็งด้านเครือข่ายของธนาคารกรุงเทพในระดับภูมิภาคเข้ากับความเชี่ยวชาญในตลาดท้องถิ่นของธนาคารเพอร์มาตา เพื่อสนับสนุนยุทธศาสตร์การเชื่อมโยงอาเซียน (Connecting ASEAN) ของธนาคารกรุงเทพ ที่เป็นเหมือน ‘เพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน’ ทางการเงินที่นักลงทุนให้ความไว้วางใจ ทั้งการลงทุนในกลุ่มโครงการโครงสร้างพื้นฐานและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ รวมทั้งผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่สอดคล้องกับหลัก ESG ตามการผลักดันของรัฐบาลอินโดนีเซีย ซึ่งธนาคารกรุงเทพในฐานะผู้นำด้านการเงินสีเขียวพร้อมที่จะสนับสนุนทุกการเปลี่ยนผ่าน
ธนาคารเพอร์มาตา เริ่มต้นธุรกิจที่บาหลีในชื่อ ธนาคารบาหลีก่อนจะถูกควบรวม 5 ธนาคารเข้าด้วยกันเมื่อเกิดวิกฤตการเงินในปี 2540 และเปลี่ยนเป็นชื่อ เพอร์มาตา ซึ่งมีความหมายว่า อัญณี (Gem) ในปี 2567 ธนาคารเพอร์มาตา ได้ปรับเปลี่ยนรีแบรนด์มาใช้ตราสัญลักษณ์บัวหลวง ของธนาคารกรุงเทพแทนของเดิม โดยหลังที่ซื้อกิจาการแล้วธนาคารกรุงเทพเลือกที่จะใช้ชื่อ เพอร์มาตาในแบบเดิม เพราะเป็นชื่อที่รู้จักกันดีอยู่แล้วในอินโดนีเซีย