อยากรวยต้องถือ Bitcoin? ‘ซาโตชิ นากาโมโตะ’ ผู้สร้าง รวยติดอันดับ 11 ของโลกแล้ว
การพุ่งขึ้นของราคาบิทคอยน์ (Bitcoin) ในช่วงที่ผ่านมา ไม่ได้ส่งผลแค่ต่อภาพรวมของตลาดคริปโตเคอร์เรนซีเท่านั้น แต่ยังทำให้ ‘ซาโตชิ นากาโมโตะ’ (Satoshi Nakamoto) ผู้สร้าง Bitcoin ขึ้นแท่นเป็นหนึ่งในมหาเศรษฐีระดับต้นๆ ของโลก
เมื่อราคา Bitcoin ทำจุดสูงสุดใหม่ (New High) แตะระดับ 120,000 ดอลลาร์ต่อเหรียญ หรือประมาณ 3.9 ล้านบาท ทรัพย์สินของนากาโมโตะก็พุ่งแตะกว่า 131,000 ล้านดอลลาร์ หรือราว 4.8 ล้านล้านบาท กลายเป็นบุคคลที่รวยที่สุดเป็นอันดับ 11 ของโลก
[ รวยกว่าซีอีโอ Dell แต่ยังไม่ติดอันดับ Forbes ]
จากข้อมูลของบริษัทวิเคราะห์บล็อกเชน ‘อาร์กแฮม’ (Arkham) พบว่า ซาโตชิ นากาโมโตะถือ Bitcoin อยู่ประมาณ 1.096 ล้านเหรียญ ผ่านวอลเล็ตหลายพันบัญชี
หากคิดตามราคาตลาดปัจจุบัน เขาจะมีทรัพย์สินมากกว่า ‘ไมเคิล เดลล์’ (Michael Dell) ซีอีโอของเดลล์ เทคโนโลยีส์ (Dell Technologies) ที่มีทรัพย์สินอยู่ราว 125,100 ล้านดอลลาร์ (ราว 4 ล้านล้านบาท) เสียอีก
อย่างไรก็ตาม เขายังไม่ปรากฏชื่ออยู่ในลิสต์มหาเศรษฐีของ ‘ฟอร์บส์’ (Forbes) เพราะ Forbes จะนับเฉพาะทรัพย์สินที่ตรวจสอบได้เท่านั้น เช่น หุ้น หรือกิจการที่เปิดเผยต่อสาธารณะ ส่วนคริปโตเคอร์เรนซีในวอลเล็ตส่วนตัว แม้จะมีมูลค่าสูงเพียงใด ก็ยังไม่ถูกรวมในการจัดอันดับ
[ อยากแซง ‘อีลอน มัสก์’ Bitcoin ต้องขึ้นอีก 208% ]
แม้จะร่ำรวยระดับมหาเศรษฐีแสนล้าน แต่ยังห่างไกลจากอันดับหนึ่งอย่าง ‘อีลอน มัสก์’ (Elon Musk) ที่มีทรัพย์สินกว่า 404,000 ล้านดอลลาร์ (ราว 13 ล้านล้านบาท) อยู่มาก
หากต้องการแซงขึ้นไปเป็นที่หนึ่ง ราคา Bitcoin จะต้องพุ่งขึ้นอีก 208% หรือพุ่งขึ้นแตะ 370,000 ดอลลาร์ต่อเหรียญ (ราว 20 ล้านล้านบาท) เสียก่อน
ด้านนักวิเคราะห์จากบลูมเบิร์ก (Bloomberg) ‘เอริก บัลชูนัส’ (Eric Balchunas) เคยคาดการณ์ว่า ถ้าราคา Bitcoin ยังคงเติบโตปีละ 50% ตามแนวโน้มในอดีต ซาโตชิ นากาโมโตะอาจขึ้นเป็นมหาเศรษฐีอันดับ 2 ได้ภายในปี 2026 (2569)
สิ่งที่น่าสนใจคือ ซาโตชิ นากาโมโตะ ยังไม่เคยถอนเงินหรือเคลื่อนไหวเหรียญในวอลเล็ตเหล่านั้นเลย ทำให้เขาถูกเปรียบเทียบกับ ‘จอห์น ซี. โบเกิล’ (John C. Bogle) ผู้ก่อตั้ง ‘แวนการ์ด’ (Vanguard) ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้โลกการเงิน แต่เลือกใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย และจากไปในปี 2019 (2562) ด้วยทรัพย์สิน 80 ล้านดอลลาร์ (ราว 2,500 ล้านบาท)
[ ‘ท็อป-จิรายุส’ อธิบาย คนหมดความเชื่อมั่นดอลลาร์ ]
‘ท็อป-จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา’ CEO Bitkub ให้มุมมองว่าปีนี้ 2025 (2568) เป็นปีตลาดกระทิง (Bull Run) ของ Bitcoin ซึ่งจะวนมาทุกๆ 4 ปี โดยรอบนี้ ราคาเหรียญได้แรงหนุนจากการเข้ามาของนักลงทุนสถาบันเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็น ‘แบล็กร็อก’ (BlackRock) ‘ไมโครสตาเทรจี้’ (Microstrategy) หรือ ‘วอลล์สตรีท’ (Wall Street)
ยกตัวอย่างกรณีของกองทุน Wall Street ที่แม้จะเข้าลงทุน Bitcoin มาต่อเนื่อง แต่สัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ดังกล่าวก็ยังไม่ถึง 2% ของพอร์ตลงทุนทั้งหมดของกองทุน สะท้อนว่า เม็ดเงินของนักลงทุนสถาบันเหล่านี้ มีแนวโน้มจะไหลเข้ามาลงทุน Bitcoin ได้อีกในอนาคต
นอกจากนี้ การที่สหรัฐอเมริกาผ่านร่างกฎหมาย ‘Big, Beautiful Bill’ หรือกฎหมายที่เอื้อให้สหรัฐฯ ก่อหนี้ได้เพิ่มขึ้นนั้น ยังส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อเงินดอลลาร์ และยิ่งผลักดันให้กองทุนระดับโลกทยอยเข้าสะสม Bitcoin มากขึ้นอีกด้วย
ทั้งนี้ เพราะอาจเกิดความเสี่ยงที่สหรัฐฯ จะผิดนัดชำระหนี้ (Default) หรืออาจเกิดการพิมพ์เงินใหม่ ซึ่งจะส่งผลเงินดอลลาร์ที่นักลงทุนถือถืออยู่มีมูลค่าลดลง (Dilution)
[ Bitcoin จะพุ่งทะลุ 1 ล้านเหรียญในอีก 5 ปีต่อจากนี้ ]
ปัจจุบัน Bitcoin ขยับขึ้นเป็นสินทรัพย์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก แซงหน้าหุ้น ‘แอมะซอน’ (Amazon) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ ยังมีมูลค่าสูงถึง 1 ใน 9 ของมูลค่าของทองคำทั่วโลกอีกด้วย สะท้อนว่า ปัจจุบัน นักลงทุนทอง Bitcoin ว่าเป็น ‘สินทรัพย์ปลอดภัย’ ไปแล้ว
สำหรับกรอบราคา การประเมินในระยะสั้นนั้นทำได้ยากมาก เนื่องจากราคาเหรียญมีการเปลี่ยนแปลงแทบทุกชั่วโมง แต่อย่างไรก็ดี แนะนำนักลงทุน ‘ลงทุนต่อเนื่อง’ (Stay Invest) แม้ราคาจะปรับขึ้นร้อนแรง ส่งผลให้ Bitcoin กลายเป็นสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทน (Return) สูงสุดในรอบ 1 ปี และสูงสุดในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาอีกด้วย
‘ผมยังคงมุมมองเดิมว่า Bitcoin มีโอกาสปรับขึ้นแตะ 1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 30 ล้านบาท ภายในปี 2030 หรืออีก 5 ปีต่อจากนี้ และถึงวันนั้น Bitcoin จะกลายเป็นทุนสำรอง (Reserve) ที่แบงก์ชาติทั่วโลกต้องหันมาถือ’