สมุนไพรบ้านๆ "ผักรู้นอน" เมนูฮิตร้านข้าวต้ม อุดมประโยชน์ ต้านมะเร็ง-เบาหวาน
สมุนไพรไทยบ้านๆ "ผักรู้นอน" อุดมประโยชน์ เมนูฮิตร้านข้าวต้ม ยาราคาถูกจากธรรมชาติ แคลเซียมสูง ต้านมะเร็ง-เบาหวาน
“ผักรู้นอน” หรือ ผักกระเฉด เป็นผักพื้นบ้านของไทยที่คนไทยคุ้นเคยและบริโภคกันมาอย่างยาวนาน ไม่เพียงแค่รสชาติอร่อยและกรอบเท่านั้น แต่ยังมีคุณค่าทางโภชนาการสูง และสรรพคุณทางยาในระดับที่สามารถใช้ต้านโรคเรื้อรังหลายชนิด เช่น เบาหวาน มะเร็ง หรือภาวะอักเสบเรื้อรัง
ลักษณะทั่วไปของผักกระเฉด
ผักกระเฉดเป็นพืชน้ำในวงศ์ Leguminosae (หรือ Mimosaceae) ซึ่งเป็นตระกูลเดียวกับกระถินและไมยราบ ลักษณะเป็นไม้ล้มลุกเนื้ออ่อน เจริญเติบโตในแหล่งน้ำตื้น เช่น ห้วย หนอง คลอง บึง สระน้ำ หรือแม้แต่บ่อซีเมนต์ที่สร้างขึ้นก็สามารถปลูกได้ ชอบแดดรำไรไปจนถึงแดดจัด ขึ้นแซมปะปนกับพืชน้ำอื่น ๆ หรือขึ้นเดี่ยว ๆ ก็ได้
ผักกระเฉดมีรากตามข้อของลำต้นที่ทอดยาว ใบประกอบแบบขนนก ใบย่อยมีสีเขียวเข้ม ขอบใบอาจมีสีม่วงเล็กน้อย และจะหุบใบเมื่อสัมผัสหรือเมื่อถึงเวลากลางคืน ลำต้นมีปล้องสั้น ๆ บางส่วนกลวง บางส่วนแน่น กรอบเปราะ ดอกออกเป็นช่อ สีเหลืองสด คล้ายดอกกระถิน
ที่มาของชื่อ "ผักรู้นอน"
ผักกระเฉดมีพฤติกรรมคล้ายไมยราบ เมื่อใบถูกสัมผัสจะหุบลงทันที และจะหุบใบเองในช่วงเวลากลางคืน และกางออกในช่วงเช้า จึงมีการตั้งชื่ออย่างสุภาพว่า“ผักรู้นอน” ซึ่งหมายถึง “ผักที่รู้จักนอน” สื่อถึงการหุบใบตามจังหวะของกลางวันและกลางคืน
ชื่อท้องถิ่นของผักกระเฉด
ภาคกลาง: ผักกระเฉด หรือผักรู้นอน
ภาคใต้: ผักฉีด
ภาคเหนือ: ผักหนอง หรือผักหละหนอง
ภาคอีสาน: ผักกะเสดน้ำ
มีความเชื่อว่าวัฒนธรรมพื้นถิ่นอีสานรู้จักผักกระเฉดมาก่อนกระถินที่นำเข้าภายหลัง และเรียกกระถินว่า “กะเสด” เพราะมีลักษณะใบและดอกคล้ายผักกระเฉด
คุณค่าทางโภชนาการ (ต่อผักกระเฉดสด 100 กรัม)
พลังงาน 29 กิโลแคลอรี
ใยอาหาร 5.6 กรัม
แคลเซียม 387 มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส 7.0 มิลลิกรัม
เหล็ก 5.3 มิลลิกรัม
วิตามินเอ 618 IU
วิตามินบีหนึ่ง 0.12 มิลลิกรัม
วิตามินบีสอง 0.14 มิลลิกรัม
วิตามินบีสาม (ไนอะซิน) 3.2 มิลลิกรัม
วิตามินซี 34 มิลลิกรัม
เบต้าแคโรทีน 3,710 ไมโครกรัม
ประโยชน์ทางสุขภาพของผักกระเฉด
1. ส่งเสริมระบบย่อยอาหารและขับลม : ผักกระเฉดมีใยอาหารสูง ช่วยเพิ่มกากใยในลำไส้ กระตุ้นการขับถ่าย ป้องกันท้องผูก และลดอาการแน่นท้องจากลมในกระเพาะ นิยมรับประทานสดหรือลวกกินกับน้ำพริกในตำรับพื้นบ้าน
2. ต้านอนุมูลอิสระ : อุดมด้วยวิตามินเอ วิตามินซี เบต้าแคโรทีน และฟลาโวนอยด์ ซึ่งช่วยปกป้องเซลล์จากความเสียหาย ลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ มะเร็ง และชะลอความเสื่อมของร่างกาย
3. ต้านการอักเสบ : มีสารออกฤทธิ์ต้านการอักเสบที่ช่วยลดอาการบวม ปวด หรืออักเสบในร่างกาย เช่น กล้ามเนื้อหรือข้อต่อ
4. ฟื้นฟูผิวพรรณ : สารต้านอนุมูลอิสระในผักกระเฉดยังช่วยลดผลกระทบจากมลภาวะ ทำให้ผิวดูสดใส เปล่งปลั่ง
5. เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน : วิตามินซีในผักกระเฉดมีส่วนกระตุ้นการทำงานของภูมิคุ้มกัน ช่วยให้ร่างกายต่อสู้กับเชื้อโรคได้ดีขึ้น
6. ต้านจุลชีพ : สารสกัดจากผักกระเฉดมีฤทธิ์ต้านแบคทีเรียและเชื้อรา ซึ่งอาจช่วยลดความเสี่ยงจากโรคติดเชื้อบางชนิด
7. ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด : มีสารที่ออกฤทธิ์คล้ายอินซูลิน ช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด เพิ่มความไวของอินซูลิน เหมาะสำหรับผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 หรือผู้ที่มีความเสี่ยง
8. ป้องกันโรคกระดูกพรุน : มีแคลเซียมสูง ช่วยบำรุงกระดูกและฟัน เมื่อรับประทานเป็นประจำจะช่วยลดความเสี่ยงของภาวะกระดูกพรุนในวัยสูงอายุ
9. แก้อาการฟกช้ำ บวม เคล็ด (ใช้ภายนอก) : ในตำรับยาแผนไทยพื้นบ้าน นิยมนำใบผักกระเฉดตำพอกบริเวณที่บวม ฟกช้ำ หรือเคล็ดขัดยอกเพื่อบรรเทาอาการ
การใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน
การบริโภค : สามารถนำมาปรุงอาหารได้หลากหลาย เช่น ผัดไฟแดง ผัดน้ำมันหอย ผัดกับเส้นหมี่ หรือลวกกินกับน้ำพริก รสสัมผัสกรอบและกลิ่นหอมอ่อน ๆ ทำให้เข้ากับอาหารไทยหลายชนิดได้เป็นอย่างดี เป็นผักที่นิยมกินเป็นกับข้าวในร้านข้าวต้ม
การปลูกเอง : ผักกระเฉดปลูกง่าย เพียงมีบ่อน้ำหรือร่องสวน น้ำตื้น และแสงแดดเพียงพอ ก็สามารถเติบโตได้ดีทั้งในดินเลนและในบ่อซีเมนต์ เหมาะสำหรับการปลูกเพื่อบริโภคในครัวเรือน
ข้อควรระวังในการบริโภคผักกระเฉด
แม้ว่าผักกระเฉดจะมีคุณค่าทางโภชนาการและสรรพคุณทางยาหลายประการ แต่ก็มีข้อควรระวังที่ควรทราบก่อนบริโภค ดังนี้:
1. เสี่ยงต่อการปนเปื้อนพยาธิใบไม้ตับ : ผักกระเฉดมักเจริญเติบโตในแหล่งน้ำตื้น เช่น หนองน้ำ หรือคลอง ซึ่งอาจเป็นแหล่งอาศัยของหอยที่เป็นพาหะของ พยาธิใบไม้ตับ การบริโภค ผักกระเฉดสดหรือไม่ผ่านการปรุงสุก อาจเสี่ยงต่อการรับเชื้อพยาธิที่ก่อโรคในตับและท่อน้ำดี จึงควรล้างให้สะอาด และ ลวกหรือปรุงสุกก่อนบริโภคเสมอ
2. ผู้ป่วยโรคไตควรระมัดระวัง : ผักกระเฉดมีปริมาณ โพแทสเซียมสูง การบริโภคมากเกินไปอาจทำให้ระดับโพแทสเซียมในเลือดสูง ส่งผลให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือเพิ่มภาระการทำงานของไต โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังหรือผู้ฟอกไต ผู้ป่วยโรคไตควรจำกัดปริมาณ หรือปรึกษาแพทย์ก่อนบริโภค
3. อาจปนเปื้อนโลหะหนักหรือสารเคมีจากน้ำเสีย : ผักกระเฉดที่ปลูกในแหล่งน้ำเสีย หรือใกล้พื้นที่อุตสาหกรรม อาจสะสมโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว สารหนู หรือปุ๋ยเคมีตกค้าง ควรเลือกแหล่งปลูกที่ปลอดภัย หรือเลือกซื้อจากแหล่งผลิตที่เชื่อถือได้ และล้างผักให้สะอาดก่อนนำมาปรุงอาหาร
4. อาจเกิดอาการแพ้ในบางรา : พบได้น้อยมาก แต่อาจมีบางรายที่แพ้สารในผักกระเฉด ทำให้เกิดผื่น คัน หรือระคายเคือง หากรับประทานแล้วเกิดอาการผิดปกติ ควรหยุดรับประทานทันที และปรึกษาแพทย์