เอกนัฏเปิดตัว มอก.วอทช์ ใช้ AI คุมเข้มสินค้า จ่อฟ้อง 777 คดีจากแพลตฟอร์มใหญ่
วันนี้ (7 กรกฎาคม) ที่กระทรวงอุตสาหกรรม เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม แถลงข่าวเปิดตัว ‘มอก.วอทช์’ ระบบการคุมเข้มตรวจสอบการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ด้วยเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) โดยมีเป้าหมายคัดกรองสินค้าไม่ได้มาตรฐานจากตลาดออนไลน์ ที่อาคารสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
เอกนัฏ กล่าวว่า ตนอยากเห็นความร่วมมือระหว่างภาคราชการและภาคเอกชนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทย โดยเฉพาะในสภาวะที่การแข่งขันสูง หากต่างฝ่ายต่างทำงานก็อาจเดินหน้าได้ยาก แต่วันนี้เห็นภาพการประสานความร่วมมือกันแล้ว เชื่อว่าจะนำไปสู่ความสำเร็จได้ในที่สุด และโลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
ตามที่ตนเคยพูดไว้ในหลายเวทีจนทุกคนคงจะเข้าใจ โดยเฉพาะในประเด็นสงครามการค้าระหว่างมหาอำนาจ ที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบ ที่ได้รับ ความซวยจากการที่ประเทศใหญ่ตั้งกำแพงภาษีใส่กัน ส่งผลให้สินค้าที่ผลิตเกินความต้องการลักลอบเข้ามาในไทย และเป็นปัญหาที่ประเทศไทยต้องรับเคราะห์ไปด้วย
เอกนัฏมองว่านี่คือโอกาสในการปรับตัวของประเทศไทย เพราะในเมื่อหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ต้องใช้โอกาสนี้ในการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมไทยไปสู่รูปแบบใหม่ที่มีคุณภาพและยั่งยืนมากขึ้น พร้อมวางระบบป้องกันไม่ให้ธุรกิจไทยถูกกัดกินหรือรุกคืบโดยสินค้าที่ไม่มีมาตรฐาน
เอกนัฏกล่าวอีกว่า นโยบายสำคัญของตนตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง คือ การผลักดันอุตสาหกรรมไทยให้เป็นอุตสาหกรรมเศรษฐกิจยุคใหม่ที่มีคุณภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสร้างมูลค่าเพิ่มให้ระบบเศรษฐกิจ พร้อมทั้งจัดการกับธุรกิจศูนย์เหรียญ ที่มุ่งลดต้นทุนโดยไม่รับผิดชอบต่อมาตรฐานสินค้าและสิ่งแวดล้อม เช่น สายไฟ ยาง เหล็ก หรือวัสดุก่อสร้างที่ด้อยคุณภาพ ซึ่งกลายเป็นต้นตอของอุบัติเหตุ อาคารถล่ม รถชน หรือไฟไหม้บ้าน ที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนไทย
เอกนัฏยังเปิดเผยถึงปัญหาในการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในกรณีที่โรงงานบางแห่งอ้างตัวว่าเป็นโรงงานรีไซเคิล ทั้งที่ในความจริงกลับลักลอบซุกซ่อนขยะอุตสาหกรรมใต้ดินในพื้นที่ของชาวบ้าน โดยเฉพาะในอำเภอแปลงยาวที่เขาเดินทางไปตรวจสอบ พบว่ามีการออกใบอนุญาตนับพันฉบับ แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่มีการกำจัดของเสียอย่างถูกต้อง ถือเป็นการจงใจละเมิดกฎหมายเพื่อประหยัดต้นทุน ซึ่งเป็นวิธีที่ ถูกที่สุด แต่เลวที่สุด
เอกนัฏกล่าวว่า ในยุคของตน ก่อนจะสร้างระบบอุตสาหกรรมใหม่ หรือเมืองใหม่ ก็จำเป็นต้องกวาดล้างของเสียในระบบเสียก่อน โดยเฉพาะธุรกิจศูนย์เหรียญที่ผลิตสินค้าด้อยคุณภาพ นำเข้าสินค้าผิดกฎหมาย และไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมย้ำว่า ในโลกยุคใหม่ แม้จะเป็นตลาดเสรี แต่สินค้าทุกชนิดต้องแข่งขันกันอย่างเป็นธรรม เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการไทยที่ผลิตสินค้ามีคุณภาพต้องเสียเปรียบ สินค้าที่ไม่มีมาตรฐานจากต่างประเทศไม่ควรได้รับการยอมรับ เพราะจะทำให้ผู้ประกอบการไทยแข่งขันไม่ได้
เอกนัฏระบุว่า เจ้าหน้าที่ของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) มีความสามารถอยู่แล้ว แต่ในยุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ความสามารถอย่างเดียวไม่พอ ต้องอาศัยเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะเมื่อมีการลักลอบค้าสินค้าผิดกฎหมายใช้ทั้งช่องโหว่ของกฎหมายและเทคโนโลยีดิจิทัลในการกระทำความผิด
นี่คือเหตุผลที่กระทรวงอุตสาหกรรมผลักดันการพัฒนาแอปพลิเคชัน “แจ้งอุต” เพื่อเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการสอดส่องและแจ้งเบาะแสสินค้าที่ด้อยคุณภาพ ซึ่งส่งผลให้มีการแจ้งข้อมูลเข้าสู่กระทรวงเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า นำไปสู่การปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าด้อยคุณภาพหลายรายการ โดยเฉพาะเหล็กและสายไฟที่ไม่มีมาตรฐาน
แต่ปัญหาหนึ่งที่ยังต้องเผชิญคือ ช่องทางออนไลน์ ซึ่งกลายเป็นช่องว่างของกฎหมายที่เปิดให้สินค้าด้อยคุณภาพทะลักเข้ามาขายในประเทศอย่างไร้การควบคุม หลายแพลตฟอร์มออนไลน์กลายเป็นอากาศธาตุ จับต้องไม่ได้ ไม่มีสำนักงานในประเทศ ไม่ต้องเสียภาษี ไม่ต้องรับผิดชอบต่อมาตรฐานสินค้า ซึ่งสร้างความเสี่ยงต่อทั้งผู้บริโภคและผู้ประกอบการไทย
ทั้งนี้ เพื่อตอบสนองต่อปัญหานี้ กระทรวงอุตสาหกรรมจึงเปิดตัว “มอก. วอทช์” ระบบตรวจสอบเชิงรุกที่ใช้ AI ในการตรวจจับสินค้าผิดกฎหมายโดยอัตโนมัติ หลังจากทดสอบระบบมานานหลายเดือน พบว่าสามารถตรวจจับได้เป็นหลักแสนชิ้น ถือเป็นก้าวสำคัญของระบบราชการไทยที่ทันสมัย ทันต่อการเปลี่ยนแปลง และใช้เทคโนโลยีอย่างมีประสิทธิภาพ
เอกนัฏยังกล่าวอีกว่า ในอนาคต AI จะต้องฉลาดพอที่จะตรวจจับและออกเอกสารดำเนินคดีได้ทันที เพื่อลดภาระเจ้าหน้าที่ให้เหลือเพียงการเซ็นเอกสารขั้นตอนสุดท้ายเท่านั้น พร้อมย้ำว่า ถ้าการทำผิดยังง่ายแบบนี้ การทำถูกก็ต้องง่ายเช่นกัน
นอกจากนี้ยังกล่าวถึงความตลกร้ายในประเทศไทยคือ คนที่ทำผิดมักเข้าถึงบริการแบบ One Stop Service ได้อย่างสะดวก เมื่อเจอนายหน้าที่กระทำผิด ขณะที่ผู้ที่ทำถูกต้องกลับดำเนินการได้ยาก ดังนั้นสิ่งที่ถูกต้องต้องทำให้ สะดวก สะอาด โปร่งใส และง่าย ในขณะที่สิ่งที่ผิดต้องไม่มีที่ยืนอีกต่อไป
เอกนัฏกล่าวทิ้งท้ายว่า อยากให้ทุกคนภาคภูมิใจที่มีส่วนร่วมในภารกิจสำคัญที่จะกลายเป็นจุดเปลี่ยนของประเทศไทย โดยเริ่มต้นจากระบบราชการก่อน ทั้งนี้ การเปิดรับเทคโนโลยีใหม่และการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน จะช่วยเสริมพลังในการสร้างวัฒนธรรมใหม่ของกระทรวงอุตสาหกรรม ตามที่ตนยึดหลัก ‘สะดวก สะอาด โปร่งใส’ พร้อมตั้งเป้ากำจัดสินค้าด้อยมาตรฐานจากแพลตฟอร์มออนไลน์ให้ได้มากที่สุดในอนาคต
ขณะที่ พงศ์พล ยอดเมืองเจริญ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมและโฆษกกระทรวงอุตสาหกรรม ได้ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมภายหลังการแถลงข่าวว่า ในด้านสินค้าข้ามชาติที่นำเข้ามาอย่างผิดกฎหมายและด้อยคุณภาพ ระบบ AI จะเข้ามาช่วยในความปลอดภัยและแก้ปัญหาของผู้บริโภคและผู้ประกอบการไทย โดยโรงงานทุนเทาต่างๆ ทีมสุดซอยได้เข้าไปจัดการบางส่วน
แต่ในด้านออนไลน์ยังเป็นพื้นที่สีเทาที่หน่วยงานรัฐยังเข้าไม่ถึงมากพอ และผู้ประกอบการต่างชาติใช้ช่องโหว่ทางกฎหมายซึ่งเป็นปัญหา และเจ้าหน้าที่ สมอ. มีจำกัด สามารถจัดการได้มากที่สุดหลักพันลิงค์ หรือดักจับตามโกดังแค่หลักร้อยชิ้น แต่การใช้เทคโนโลยี ระบบ AI ทำให้สามารถตรวจจับได้ประมาณหนึ่งแสนกว่าลิงค์ในระยะเวลา 5 เดือน
นอกจากนี้ ยังมีการเตรียมดำเนินคดีกับแพลตฟอร์ม E-Commerce ภายในประเทศรวมทั้งสิ้น 777 คดีในวันนี้ เพื่อจัดการปัญหาการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ที่ไม่ได้มาตรฐาน โดยเฉพาะสินค้าเหล็กและยาง ซึ่งถือเป็นสินค้าที่ส่งผลต่อความปลอดภัยโดยตรง โดยระบบมอก. วอทช์ 1.0 มีรูปแบบการทำงานคือ เข้าไปสุ่มซื้อสินค้าในแต่ละหน้าเพื่อตรวจสอบว่ามีการแสดงเครื่องหมาย มอก. หรือไม่ และสามารถสแกน QR Code เพื่อตรวจสอบความถูกต้องว่าเป็นเครื่องหมายจริงหรือเป็นการแอบอ้าง ซึ่งพบการละเมิดลักษณะนี้จำนวนมากในแพลตฟอร์มออนไลน์ นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ประชาชนร่วมส่งลิงก์สินค้าที่สงสัยว่าไม่ได้มาตรฐานเข้ามาแจ้งผ่านช่องทางที่จัดไว้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบต่อไป
เมื่อผู้สื่อข่าวสอบถามถึงระบบการทำงานของมอก. วอทช์ ว่าประชาชนสามารถมีส่วนร่วมในการตรวจสอบได้หรือไม่ พงศ์พลตอบว่า ขณะนี้ระบบดังกล่าวยังคงเป็นระบบภายในที่ใช้โดยเจ้าหน้าที่เท่านั้น ในอนาคตประชาชนอาจสามารถเข้าถึงเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้องได้โดยตรง และหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับสินค้าใด ก็สามารถแจ้งเบาะแสผ่านไลน์ ‘แจ้งอุต’ เพื่อให้เจ้าหน้าที่นำข้อมูลไปตรวจสอบเพิ่มเติม โดยกระทรวงจะเร่งผลักดันให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับระบบ ‘มอก. วอทช์’ ได้โดยเร็วที่สุด
เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงการจัดการกับระบบแพลตฟอร์มขายสินค้าออนไลน์ พงศ์พล ยอดเมืองเจริญ ระบุว่า แพลตฟอร์ม E-Commerce ต่างๆ มักอ้างว่าตนเป็นเพียงผู้ให้บริการพื้นที่เช่า ไม่ใช่ผู้กระทำผิดโดยตรง แต่ตามพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) มาตรา 36 กำหนดไว้ชัดเจนว่า การโฆษณาสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานถือเป็นความผิด
ดังนั้นแพลตฟอร์มเองก็มีส่วนรับผิดชอบตามกฎหมายด้วย อย่างไรก็ตาม ปัญหาที่พบอย่างต่อเนื่องคือแพลตฟอร์มเหล่านี้จำนวนมากไม่ได้จดทะเบียนในประเทศไทย ทำให้ยากต่อการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งขณะนี้เตรียมดำเนินคดีรวมทั้งสิ้น 777 คดี รวมถึงแพลตฟอร์มจากแอปพลิเคชันยอดนิยมต่างๆ ทั้งสีดำ สีฟ้า เป็นต้น
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าสินค้าใดที่ถูกร้องเรียนว่าไม่ได้มาตรฐานมากที่สุด พงศ์พลตอบว่า สินค้าที่ละเมิดกฎหมายมากที่สุดตามที่ระบบ AI สามารถตรวจจับได้ 3 อันดับแรก คือ สินค้าพลาสติกสัมผัสอาหาร, ของเล่นเด็ก และท่อไอเสียรถจักรยานยนต์ และอื่นๆ คือเครื่องใช้ไฟฟ้า