กระแสโฮมสเตย์แรง สมอ.ชวนชุมชนใช้มาตรฐานเอส การันตีนักท่องเที่ยวได้ที่พักคุณภาพ
นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้กำหนดมาตรฐานสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายด้านการท่องเที่ยวของรัฐบาล ได้แก่ มาตรฐานอุตสาหกรรมเอส สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ประกอบธุรกิจโฮมสเตย์ เนื่องจากปัจจุบันกระแสท่องเที่ยวชุมชน กำลังได้รับความนิยมในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมากขึ้น โดยเฉพาะการท่องเที่ยวที่เน้นเรียนรู้วิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณีระหว่างนักท่องเที่ยวกับเจ้าของบ้าน ในชุมชน ซึ่งการได้รับการรับรองตามมาตรฐาน จะช่วยสร้างมูลค่าให้กับธุรกิจ ทำให้ทั้งนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและต่างประเทศ เกิดความเชื่อมั่นในคุณภาพการให้บริการของสถานประกอบการระดับเอสเอ็มอี ในไทย และเลือกที่จะท่องเที่ยวเมืองรอง หรือในระดับท้องถิ่นของประเทศไทยมากขึ้นด้วย
นายวันชัย พนมชัย เลขาธิการสมอ. กล่าวว่า ปัจจุบันมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ได้รับการรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรมเอส การบริการที่พักสัมผัสวัฒนธรรมท้องถิ่น (โฮมสเตย์) มอก.เอส 185-2564 จาก สมอ. แล้ว 53 ราย เป็นโฮมสเตย์ที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงสถานที่ท่องเที่ยวทุกภาคทั่วประเทศ เช่น เพชรบูรณ์ แม่ฮ่องสอน ชุมพร นครราชสีมา พิจิตร ราชบุรี และสมุทรสงคราม ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถตรวจสอบรายชื่อและพิกัดของโฮมสเตย์ที่ได้มาตรฐาน มอก.เอส ได้ที่เว็บไซต์ สมอ. และหากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ประกอบธุรกิจโฮมสเตย์ หรือธุรกิจด้านอื่น ๆ ต้องการยื่นการรับรองมาตรฐาน มอก.เอส สามารถยื่นคำขอออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ สมอ. โดยไม่มีค่าใช้จ่าย
สำหรับ มอก.เอส โฮมสเตย์ มีข้อกำหนดครอบคลุมระบบการบริหารงานที่ดี ตามหลักมาตรฐานสากล ISO 9001 เพื่อให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพได้นำมาตรฐานไปใช้ เพื่อทำให้นักท่องเที่ยวเชื่อมั่นได้ว่า โฮมสเตย์นั้นมีระบบการบริหารงานที่ดี ดำเนินกิจการสอดคล้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น สถานที่อยู่ในทำเลที่เหมาะสม มีระบบรักษาความปลอดภัย มีห้องน้ำถูกสุขลักษณะ มีการรักษาความสะอาดบริเวณที่พัก บุคลากรทีเพียงพอ มีการฝึกอบรมที่ถูกต้อง มีการสำรวจความพึงพอใจของลูกค้า และนำไปวิเคราะห์ปรับปรุงการให้บริการ
“ตอนนี้การท่องเที่ยวที่เน้นการเรียนรู้วิถีชีวิต วัฒนธรรม ประเพณีระหว่างนักท่องเที่ยวกับเจ้าของบ้านในชุมชน กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะทำให้นักท่องเที่ยวมีโอกาสเข้าไปใช้ชีวิตความเป็นอยู่ร่วมกับผู้คนในท้องถิ่นหรือในชุมชน โดยพักอยู่บ้านเดียวกันกับเจ้าของบ้าน ทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกับเจ้าของบ้าน พร้อมทั้งถ่ายทอดประเพณีวัฒนธรรมของท้องถิ่นแก่นักท่องเที่ยว พาเที่ยวชมแหล่งท่องเที่ยวในท้องถิ่น และจัดบริการสิ่งอำนวยความสะดวก ซึ่งมีลักษณะเป็นการประกอบกิจการเพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชน”