คน 2 กลุ่มไม่ควรดื่ม "น้ำมะพร้าว" ไม่ใช่ผู้ป่วยเบาหวาน อย่างที่หลายคนเข้าใจ
คน 2 กลุ่มที่ไม่ควรดื่ม "น้ำมะพร้าว" เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต ไม่ใช่ผู้ป่วยเบาหวาน อย่างที่หลายคนเข้าใจ
แม้ “น้ำมะพร้าว” จะเป็นเครื่องดื่มจากธรรมชาติที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ช่วยเติมน้ำหล่อเลี้ยงร่างกาย และอุดมด้วยแร่ธาตุสำคัญอย่างโพแทสเซียม แมกนีเซียม และวิตามินหลายชนิด แต่รู้หรือไม่? สำหรับบางคน การดื่มน้ำมะพร้าวอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายมากกว่าผลดี โดยเฉพาะใน 2 กลุ่มเสี่ยง ที่แพทย์เตือนว่า ควรระวังหรือหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำมะพร้าว
1. ผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
น้ำมะพร้าวมีโพแทสเซียมสูง ซึ่งปกติแล้วเป็นแร่ธาตุที่ดีต่อระบบไหลเวียนโลหิต แต่หากร่างกายได้รับโพแทสเซียมมากเกินไปในผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจส่งผลร้ายแรงต่อการทำงานของหัวใจ และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิต
2. ผู้ป่วยโรคไต หรือไตเสื่อม
แร่ธาตุในน้ำมะพร้าว เช่น โพแทสเซียม โซเดียม และคลอไรด์ จะกระตุ้นการขับปัสสาวะ หากไตทำงานผิดปกติอาจทำให้ร่างกายเสียสมดุลน้ำและแร่ธาตุ เกิดภาวะหัวใจวายหรือแทรกซ้อนอื่นๆ ตามมาได้
นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ระบุว่า
"น้ำมะพร้าวจัดเป็นเครื่องดื่มที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง แต่ไม่เหมาะสำหรับคนที่เป็นโรคไตเสื่อม เพราะน้ำมะพร้าวจะไปกระตุ้นการขับปัสสาวะ ถ้าร่างกายขาดน้ำ คนที่เป็นโรคไตอาจจะหัวใจวายได้ และคนที่มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ ถ้าร่างกายได้รับโพแทสเซียมมากเกินไป อาจสร้างปัญหาให้หัวใจ และเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้น ผู้บริโภคจึงควรบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม"
ผู้ป่วยเบาหวานดื่มได้ไหม?
น้ำมะพร้าวมีน้ำตาลตามธรรมชาติ ปริมาณน้ำตาลต่อหนึ่งผลอยู่ที่ประมาณ 7-25 กรัม ซึ่งปริมาณน้ำตาลจะขึ้นอยู่กับอายุของลูกมะพร้าว โดยมะพร้าวอ่อนจะมีปริมาณน้ำตาลสูงกว่ามะพร้าวแก่ สำหรับผู้ป่วยเบาหวาน "สามารถดื่มน้ำมะพร้าวได้" แต่ไม่ควรดื่มมากเกินไป เพราะอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดพุ่งสูงกะทันหัน เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน
ข้อแนะนำ:
ดื่มไม่เกิน 1 ผล/วัน
เลือกดื่มแบบไม่เติมน้ำตาล
หากดื่มน้ำมะพร้าวบรรจุขวดหรือกล่องที่อาจมีการปรุงแต่ง ควรอ่านฉลากให้ชัดเจน
สำหรับคนทั่วไปที่สุขภาพแข็งแรง น้ำมะพร้าวถือเป็นเครื่องดื่มที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง ดื่มในปริมาณพอเหมาะช่วยฟื้นฟูร่างกายหลังออกกำลังกาย ช่วยระบบขับถ่าย และอาจมีส่วนช่วยกระตุ้นระบบสืบพันธุ์จากแร่ธาตุบางชนิด เช่น สังกะสีและแมงกานีส