ทำไมเด็กรุ่นใหม่ชอบปรึกษา AI มากกว่าผู้ใหญ่? วิจัยชี้ เพราะไม่กดดัน ไม่ตัดสิน และให้คำตอบรวดเร็วทันที
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญในพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะ Gen Z ที่หันไปพึ่งพา AI อย่าง ChatGPT มากขึ้นเรื่อยๆ ไม่เพียงแค่เพื่อช่วยทำการบ้านหรืองานเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการขอคำปรึกษาในเรื่องส่วนตัว ความสัมพันธ์ และแม้กระทั่งการตัดสินใจสำคัญในชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งที่คนรุ่นก่อนมักจะปรึกษากับครู อาจารย์ ผู้ปกครอง หรือรุ่นพี่ที่มีสถานะเป็นมนุษย์เหมือนกัน
.
วันนี้เราจะมาทำความเข้าใจว่าทำไมเด็กรุ่นใหม่ถึงชอบปรึกษา AI มากกว่าผู้ใหญ่ และนี่เป็นเทรนด์ที่น่าเป็นห่วงหรือไม่?
.
.
เมื่อ AI กลายเป็น "เพื่อนร่วมงาน" "ที่ปรึกษา" และ "เพื่อน" ของคนรุ่นใหม่
.
จากผลสำรวจล่าสุดโดย Resume.org ซึ่งศึกษาพนักงานเต็มเวลาในสหรัฐฯ กว่า 8,647 คน พบว่า 51% ของคน Gen Z มองว่า ChatGPT เป็นเสมือนเพื่อนร่วมงานหรือผู้ช่วย เปรียบเทียบกับ 40% ของ Millennials และเพียง 35% ของ Gen X และ Baby Boomers
.
ที่น่าสนใจยิ่งกว่าคือ 49% ของ Gen Z ยอมรับว่าพวกเขาพึ่งพา ChatGPT มากกว่าหัวหน้างานตัวเองเมื่อต้องการความช่วยเหลือหรือคำแนะนำ (ใกล้เคียงกับ Millennials ที่ 47%)
.
นอกจากนี้ ประมาณ 60% ของ Gen Z ยังใช้ ChatGPT สำหรับการสนทนาส่วนตัว โดยบางส่วนถึงกับมองว่า AI เป็น "เพื่อน" (32%) หรือแม้แต่ "นักบำบัด" (21%) ของพวกเขา
.
สิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในที่ทำงาน แต่ยังรวมถึงในวงการการศึกษาด้วย ผลการศึกษาจาก University of North Carolina at Charlotte พบว่าเกือบ 80% ของนักศึกษาใช้ AI ในการเรียน โดย 40.2% ใช้บ่อยมาก และอีก 38.9% ใช้เป็นครั้งคราว
.
.
ทำไมเด็กรุ่นใหม่จึงเลือกปรึกษา AI มากกว่าผู้ใหญ่?
.
จากการศึกษาและสำรวจต่างๆ ก็พบว่ามีเหตุผลหลักๆ ที่ทำให้ Gen Z หันไปหา AI แทนที่จะปรึกษาผู้ใหญ่
1. ไม่มีการตัดสินหรือกดดัน
.
การวิจัยจาก University of North Carolina ชี้ให้เห็นว่าเหตุผลหลักที่นักศึกษาชอบใช้ AI คือความรู้สึกว่าพวกเขาจะไม่ถูกตัดสินหรือวิจารณ์โดยง่าย
.
อย่างที่ Irina Pichura โค้ชด้านอาชีพจาก Resume.org อธิบายว่า "ChatGPT ให้คำตอบที่รวดเร็วและปราศจากการตัดสิน ซึ่งอาจรู้สึกมีประสิทธิภาพและสบายใจมากกว่าการเข้าหาหัวหน้างาน โดยเฉพาะในสภาพแวดล้อมการทำงานทางไกลหรือที่มีความกดดันสูง"
.
นี่ไม่ใช่แค่เรื่องงาน คนรุ่นใหม่จำนวนมากใช้ ChatGPT เพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับความสัมพันธ์ ปัญหาส่วนตัว หรือแม้กระทั่งการตัดสินใจเรื่องชีวิต โดยไม่ต้องกลัวว่าจะถูกมองว่า "โง่" หรือ "ไม่เหมาะสม"
.
2. การเข้าถึงได้ง่าย ตลอด 24 ชั่วโมง
.
ตามข้อมูลจาก Macmillan Learning นักศึกษาใช้เครื่องมือ AI มากที่สุดระหว่างเวลา 18.00 น. ถึง 3.00 น. ของวันธรรมดา ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อาจารย์หรือผู้ปกครองอาจไม่สามารถให้ความช่วยเหลือได้
.
ไม่ว่าจะเป็นเวลา 02.00 น. ที่ติดอยู่กับงานที่มีกำหนดส่งวันรุ่งขึ้น หรือต้องการคำแนะนำเร่งด่วนเกี่ยวกับปัญหาส่วนตัว ChatGPT พร้อมตอบคำถามเสมอ โดยไม่เคยบ่นหรือต่อว่ากลับมาเลย
.
3. ได้คำตอบที่ตรงประเด็นมากกว่า
.
ผลสำรวจจาก INTOO และ Workplace Intelligence พบว่า 62% ของคนทำงาน Gen Z อยากคุยกับหัวหน้าเกี่ยวกับอาชีพของพวกเขามากขึ้น แต่หัวหน้า "ยุ่งเกินไป" ที่จะพูดคุยเรื่องการพัฒนา ทำให้พวกเขาหันไปพึ่ง AI แทน
.
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ 47% ของ Gen Z รู้สึกว่าพวกเขาได้รับคำแนะนำด้านอาชีพที่ดีกว่าจาก ChatGPT มากกว่าผู้จัดการของพวกเขา
.
4. รู้สึกปลอดภัยและมีความเป็นส่วนตัวมากกว่า
.
การถามคำถามที่ "น่าอาย" หรือ "อ่อนไหว" กับ AI นั้นง่ายกว่ามาก เพราะไม่มีความเสี่ยงที่จะถูกซุบซิบนินทาหรือถูกตัดสินในภายหลัง
.
นักศึกษาคนหนึ่งจากการสำรวจของ Macmillan บอกว่าเธอรู้สึกว่าการถามคำถามกับอาจารย์บ่อยๆ อาจเป็นการ "รบกวน" เมื่อเทียบกับ chatbot ที่มีความอดทนและคอยช่วยเหลือเสมอ
.
แถมกับ AI พวกเขาก็ไม่ต้องสนใจเรื่องมารยาท กาลเทศะ หรือความสุภาพใดๆ อีกด้วย ซึ่งมีตัวอย่างว่านักศึกษาพิมพ์ถึง Chatbot ตัวหนึ่งว่า "ที่รัก ฉันไม่เข้าใจเรื่องนี้เลย" ซึ่งเป็นสิ่งที่พวกเขาคงไม่กล้าพูดกับอาจารย์จริงๆ อย่างแน่นอน
.
.
การที่เด็กรุ่นใหม่ปรึกษาแต่ AI น่าเป็นห่วงแค่ไหน?
.
ในขณะที่การใช้ AI อาจดูเหมือนเป็นพัฒนาการที่น่าสนใจ แต่ก็มีความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบระยะยาวไม่ว่าจะเป็น
.
[ ] การขาดทักษะทางสังคม - การพึ่งพา AI มากเกินไปอาจทำให้เด็กรุ่นใหม่สูญเสียความสามารถในการสื่อสารกับมนุษย์คนอื่นๆ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ยากลำบาก
[ ] ข้อมูลที่ไม่ถูกต้องหรือมีอคติ - ถึงแม้ว่า AI จะพัฒนาไปมาก แต่ก็ยังมีข้อจำกัด อาจให้คำแนะนำที่ไม่เหมาะสมหรือมีอคติ โดยเฉพาะในประเด็นที่ซับซ้อนเกี่ยวกับมนุษย์
[ ] การพึ่งพาเทคโนโลยีมากไป - ผลสำรวจจาก Gallup พบว่า 41% ของ Gen Z รู้สึกวิตกกังวลเกี่ยวกับ AI แม้ว่าจะใช้เทคโนโลยีนี้บ่อย จนเกิดเป็นความกังวลว่าพวกเขาจะมืดแปดด้าน หากปราศจากเทคโนโลยีนี้ไป
[ ] ขาดมุมมองที่หลากหลาย - AI มักจะให้คำตอบที่ "ปลอดภัย" และเป็นกลาง ซึ่งอาจไม่ได้สะท้อนความซับซ้อนของความเป็นจริง หรือมุมมองทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย
.
Bryan Driscoll ที่ปรึกษาด้าน HR ให้ความเห็นว่า "คนรุ่นใหม่เห็นว่าการพูดความในใจออกไปอาจทำให้คุณถูกมองว่าเป็นพนักงานที่เรื่องมากและเยอะ การถามคำถามมากเกินไปทำให้คุณดูไม่มีความสามารถ และส่วนใหญ่แล้วคนที่อยู่ในตำแหน่ง Middle Manager ก็มักไม่มีเวลาหรือความฉลาดทางอารมณ์ในการจัดการกับคนอย่างมีประสิทธิภาพ”
.
“แต่ AI ไม่ดูถูกเรา เว้นแต่เราจะขอให้มันทำ และมันไม่มาคอยควบคุม จู้จี้จุกจิก หรือทำให้คุณรู้สึกโง่ที่ไม่รู้บางสิ่ง"
.
.
สถาบันการศึกษาและองค์กรควรตอบสนองอย่างไร?
.
แทนที่จะมองว่าการพึ่งพา AI เป็นปัญหา สถาบันการศึกษาและองค์กรควรปรับตัวเพื่อตอบสนองความต้องการของคนรุ่นใหม่
.
1. สร้างสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยทางอารมณ์
สถาบันการศึกษาและที่ทำงานควรสร้างวัฒนธรรมที่นักเรียนและพนักงานรู้สึกสบายใจที่จะถามคำถาม แสดงความไม่แน่ใจ หรือขอความช่วยเหลือโดยไม่กลัวการตัดสินหรือผลกระทบเชิงลบ
.
2. ผสมผสาน AI เข้ากับการศึกษาและการพัฒนาวิชาชีพ
แทนที่จะห้ามหรือต่อต้าน AI สถาบันควรรวม AI เข้าไปในหลักสูตรและโปรแกรมพัฒนา เช่นที่ Georgia State University ทำโดยใช้ chatbot ที่ขับเคลื่อนด้วย AI เพื่อช่วยนักศึกษา ซึ่งช่วยลดการ "หายไป" ของนักศึกษาในช่วงฤดูร้อนลง 21.4% และเพิ่มการลงทะเบียนโดยรวม 3.3%
.
3. ฝึกอาจารย์และผู้จัดการให้เข้าถึงได้มากขึ้น
อาจารย์และผู้จัดการควรได้รับการฝึกอบรมในการให้คำแนะนำและการสนับสนุนที่ไม่มีการตัดสิน ให้ความสำคัญกับการสร้างความไว้วางใจและการติดต่อสื่อสารที่เปิดกว้าง
.
Hayley Saunders ที่ปรึกษาด้าน HR จาก AdviserPlus กล่าวว่า "ผู้จัดการหลายคนไม่มีเครื่องมือหรือทักษะที่เหมาะสมในการจัดการทีมอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทำให้พวกเขาพัฒนาความสัมพันธ์บนพื้นฐานของความไว้วางใจกับทีมได้ยาก"
.
4. พัฒนาระบบการให้คำปรึกษาและการสนับสนุน
สถาบันและองค์กรควรจัดให้มีระบบการให้คำปรึกษาและการสนับสนุนที่เข้าถึงได้ง่าย รวมถึงการให้คำปรึกษาแบบเพื่อนช่วยเพื่อน ซึ่งอาจตอบสนองความต้องการของ Gen Z ได้ดีกว่า
.
.
ในโลกที่เต็มไปด้วยเสียงวิจารณ์และการตัดสิน การที่คนรุ่นใหม่หันไปหา AI ไม่ใช่เพียงเรื่องของความสะดวกสบายหรือความขี้เกียจ แต่เป็นเสียงกระซิบที่บอกเราว่าบางสิ่งในระบบการศึกษาและการทำงานของเรากำลังขาดหายไป เพราะสิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องการคือพื้นที่ปลอดภัยที่จะกล้าเปราะบาง กล้าผิดพลาด และกล้าเรียนรู้
.
ในขณะที่ผู้คนทุกวัยและทุกระดับการศึกษาหันไปหา chatbot เพื่อการเป็นเพื่อนที่ไม่ตัดสิน จึงไม่น่าแปลกใจที่นักเรียนจะใช้เทคโนโลยีด้วยเหตุผลคล้ายกัน
.
แทนที่จะตำหนิหรือมองว่าปรากฏการณ์นี้เป็นความล้มเหลว เราควรใช้มันเป็นกระจกสะท้อนเพื่อสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีกว่าสำหรับทุกคน ที่ซึ่งความเข้าใจ การยอมรับ และความเมตตา มีค่ามากกว่าคำตอบที่ถูกต้องหรือการปฏิบัติตามกฎระเบียบเพียงอย่างเดียว
.
บางทีบทเรียนที่แท้จริงจาก AI อาจไม่ใช่ว่าเทคโนโลยีกำลังแทนที่มนุษย์ แต่เป็นการเตือนใจว่าในยุคดิจิทัลที่ทุกอย่างเร่งรีบและไร้ความเป็นส่วนตัวนี้ คุณค่าของการฟังโดยไม่ตัดสิน การตอบสนองด้วยความเข้าใจ และการเปิดพื้นที่ให้กับความไม่สมบูรณ์แบบ ยังคงเป็นสิ่งล้ำค่าที่เราทุกคนต่างโหยหา ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นไหนก็ตามแต่
.
.
อ้างอิง
- The Secret Reason So Many College Students Are Relying on AI Is Incredibly Sad : NOOR AL-SIbai, Futurism - http://bit.ly/4lkUcOC
- Here’s why Gen Z would rather go to ChatGPT for career advice instead of their own manager : Brit Morse, Yahootech - http://bit.ly/4nlHTU3
- Half of Gen Z ChatGPT users say they view it as a co-worker, survey shows : Carolyn Crist, HRDRIVE - https://bit.ly/44lsScm
- Gen Z Would Rather Ask Chat GPT for Help Than Their Boss : Suzanne Blake, Newsweek - https://bit.ly/4l3Opxi
.
.
#GenZ
#เด็กรุ่นใหม่
#AI
#การทำงาน
#trend
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast