ฟื้นความหวัง 'คนไร้บ้าน' ผ่านศูนย์พักพิง 90 วัน สร้างชีวิตใหม่
ในยุคที่ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมปะทุในแทบทุกมิติ ความเปราะบางไม่ใช่เรื่องของคนส่วนน้อยอีกต่อไป หากกลายเป็นชีวิตจริงของคนส่วนใหญ่ที่ไม่มีเบาะรองรับ เมื่อสะดุดล้ม “การไร้บ้าน” จึงไม่ใช่แค่เรื่องของ “คนข้างถนน” แต่เป็นสัญญาณของระบบรัฐสวัสดิการที่ไม่ทันยุค วัยทำงานที่ไม่มีแผนสำรองเมื่อตกงาน ไม่มีเงินเก็บ การพึ่งพารายได้เพียงแหล่งเดียว และการขาดสายใยสนับสนุนจากครอบครัว ฯลฯ เหล่านี้ล้วนทำให้ใครบางคน “หายไปจากระบบ” ได้ภายในไม่กี่วัน
ในปี 2568 สำนักพัฒนาสังคม กรุงเทพมหานคร รายงานว่ามีคนไร้บ้านที่ขึ้นทะเบียนกว่า 1,271 ราย เฉพาะในเขตเมืองชั้นใน แต่จำนวนจริงอาจมากกว่านี้หลายเท่า โดยเฉพาะในพื้นที่แออัดที่ไม่มีระบบคัดกรองชัดเจน
จะดีกว่าไหม หากมีวิธีใหม่ๆ ที่ช่วยให้พวกเขาเข้าถึงสิทธิในการมีที่พักพิงอย่างแท้จริง? หนึ่งในความพยายามที่เกิดขึ้นจริงคือ "Center of Dreams" ศูนย์พักพิงคนไร้บ้านแห่งแรกในกรุงเทพฯ ชั้นใน ซึ่งจัดตั้งโดย "มูลนิธิแบงค็อก คอมมูนิตี้ เฮลป์" (Bangkok Community Help Foundation) ด้วยการสนับสนุนจาก "มูลนิธิซิตี้" (Citi Foundation) ความร่วมมือครั้งนี้ไม่ได้หยุดแค่การให้ที่พักชั่วคราว แต่คือการปลุกความเชื่อใหม่ว่า “การไม่กลับไปเป็นคนไร้บ้านอีก” ไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน หากมีระบบช่วยเหลือที่เข้าใจความซับซ้อนของมนุษย์อย่างแท้จริง
เป้าหมายของศูนย์แห่งนี้จึงไม่ใช่เพียงการหยิบยื่นความช่วยเหลือชั่วคราว แต่คือการออกแบบโครงสร้างเพื่อให้ความเปราะบางสามารถ “ฟื้นกลับเข้าสู่ระบบ” ได้อีกครั้งทั้งในฐานะผู้ทำงาน และในฐานะสมาชิกของสังคมอย่างยั่งยืน
จาก “ตาข่ายบาง” สู่ความเสี่ยงไร้บ้าน
"ฟรีโซ โพเดอร์วาดร์" หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิแบงค็อก คอมมูนิตี้ เฮลป์ ได้สะท้อนภาพความแตกต่างระหว่างคนไร้บ้านในไทยกับต่างประเทศว่า "สถานการณ์ของคนไร้บ้านในประเทศไทยมีลักษณะเฉพาะเนื่องจาก 'ตาข่ายรองรับที่เล็กมาก' หลายคนไม่มีเงินเก็บ พึ่งพารายได้แหล่งเดียว หากเกิดเหตุไม่คาดคิด เช่น การสูญเสียสมาชิกในครอบครัว ก็อาจไร้ที่อยู่อาศัยได้ในทันที"
เขาอธิบายเพิ่มเติมว่า กลุ่มคนไร้บ้านที่ใหญ่ที่สุดในไทยคือ “ผู้สูงอายุ” ไม่ใช่คนที่มีปัญหายาเสพติดหรือแอลกอฮอล์อย่างที่สังคมมักเข้าใจ
“ถ้าคุณไม่มีครอบครัว ไม่มีบำนาญ หรือแม้มีก็ได้น้อยมาก คุณก็อาจกลายเป็นคนไร้บ้านได้ทันที”
ประเด็นนี้สะท้อนวิกฤติที่กำลังใกล้เข้ามา เพราะไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดขั้ว ในอีกไม่นานประชากรไทยเกือบ 30% จะเป็นผู้สูงวัย ขณะที่อัตราการเกิดต่ำลง ช่องว่างระหว่างวัยขยายตัว และระบบสวัสดิการยังไม่สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงนี้ได้เพียงพอ
“แต่เราก็เชื่อเหมือนกันว่า มันก็ง่ายเหมือนกันที่จะไม่กลับไปเป็นคนไร้บ้านอีก หากได้รับการสนับสนุนที่เหมาะสม” ฟรีโซกล่าว พร้อมย้ำว่าผู้สูงอายุหลายคนยังมีศักยภาพในการทำงานและหัวใจที่ยิ่งใหญ่ สิ่งที่พวกเขาต้องการไม่ใช่ความสงสาร แต่คือโอกาส
แนวคิดนี้กลายเป็นรากฐานสำคัญของ Center of Dreams ที่มองคนไร้บ้านไม่ใช่เป็น “ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือตลอดไป” แต่คือ “ผู้ที่ยังมีศักยภาพจะกลับมาใช้ชีวิตในสังคมได้อีกครั้ง
"เกรกอรี่ แอนเดอร์สัน" ผู้ร่วมก่อตั้งอีกคนของมูลนิธิแบงค็อก คอมมูนิตี้ เฮลป์ กล่าวเสริมจากประสบการณ์ทำงานภาคสนามว่า “สิ่งสำคัญคือ เราต้องเข้าใจก่อนว่าคนไร้บ้านมันมีอยู่สองกลุ่มใหญ่ ๆ กลุ่มแรกคือพวกที่ต้องการความช่วยเหลือแบบฉุกเฉินเลย ช่วยแค่สัปดาห์เดียวก็พอ เรายังได้รับโทรศัพท์จากประชาชนบ่อยขึ้น อย่างเช่น มีคนโทรมาแจ้งว่า รบกวนช่วยไปเช็กดูหน่อยได้ไหม มีคนดูเหมือนลำบากนั่งอยู่ที่ป้ายรถเมล์ เพราะฉะนั้นเราก็จะมีทั้งกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือด่วน กับอีกกลุ่มที่ไม่ได้มีอะไรฉุกเฉิน แต่เขาไม่มีงาน ไม่มีรายได้ ซึ่งกลุ่มนี้เราก็สามารถหาทางช่วยเหลือเขาได้เหมือนกัน”
90 วัน ระบบคืนคนไร้บ้านสู่แรงงาน
Center of Dreams ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นเพียงที่พักชั่วคราว แต่เป็น “พื้นที่เปลี่ยนผ่าน” ที่มีเป้าหมายเพื่อคืนศักยภาพของผู้ไร้บ้านให้กลับเข้าสู่ตลาดแรงงานอย่างยั่งยืน ภายในระยะเวลา 90 วัน
“เราไม่ได้อยากให้เขาอยู่ไปเรื่อย ๆ แบบไม่มีที่สิ้นสุด แต่เราอยากให้เขากลับไปใช้ชีวิตได้จริง ๆ”
"ฟรีโซ โพเดอร์วาดร์" อธิบายเพิ่มเติม แนวทางของศูนย์ฯ ยึดหลัก “Tailor-made” หรือการออกแบบการดูแลแบบเฉพาะบุคคล เพราะไม่มีสูตรสำเร็จที่ใช้ได้กับทุกคน ผู้เข้าร่วมต้องสมัครใจและผ่านการคัดกรองร่วมกับเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นและตำรวจ เพื่อให้มั่นใจว่าแต่ละคนพร้อมสำหรับกระบวนการฟื้นฟูทั้งร่างกายและจิตใจ
"ศณิศา จิรเสวีนุประพันธ์" ผู้ประสานงานโครงการ อธิบายว่า โครงการนี้ถูกวางแผนตั้งแต่ต้นให้เชื่อมโยงระหว่าง “เงินทุน” กับ “โครงสร้างที่ยั่งยืน” ไม่ใช่แค่การใช้งบประมาณระยะสั้น “เราวางระบบ 90 วันตั้งแต่วันแรกที่เข้าไปพรีเซนต์ เราไม่ได้มองแค่เป้าหมายเชิงปริมาณ แต่เรามองว่าเงินทุกบาทต้องตอบโจทย์ระยะยาว ไม่ใช่รอให้จบสองปีแล้วค่อยหาวิธีอยู่รอด” เธอกล่าว
ศูนย์ให้ความสำคัญกับการประเมินปัญหาเป็นรายบุคคล โดยเฉพาะในมิติทางจิตใจ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้หลายคนกลายเป็นคนไร้บ้าน “บางคนเคยมีบ้าน มีงาน มีครอบครัว แต่เมื่อหัวใจสูญเสีย เช่น บางคนต้องสูญเสียที่เป็นที่พึ่งเดียว พวกเขาก็หล่นจากระบบโดยไม่มีอะไรรองรับ” ศณิศากล่าว พร้อมเสริมว่า กระบวนการช่วยเหลือจึงต้องเน้นฟื้นความมั่นใจ เปิดโอกาสให้ค้นหาอาชีพใหม่ หรือพัฒนาทักษะที่สอดคล้องกับชีวิตจริง
กระบวนการภายในศูนย์ครอบคลุมตั้งแต่ที่พักปลอดภัย อาหาร เวิร์กช็อปฝึกอาชีพ การแนะแนวสมัครงาน ไปจนถึงการให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต และการช่วยเหลือด้านค่าเดินทางหรือส่งตัวกลับภูมิลำเนา ศูนย์ฯ ยังประสานกับเครือข่ายพันธมิตรภายนอกเพื่อจัดหาตำแหน่งงาน และหากผู้เข้าร่วมยังไม่พร้อมในกรอบเวลา 90 วัน ก็จะมีการส่งต่อไปยังศูนย์พักพิงของรัฐหรือองค์กรพันธมิตรที่สามารถดูแลต่อได้
ตลอด 4 เดือนแรกของการดำเนินงาน Center of Dreams ให้ความช่วยเหลือคนไร้บ้านได้แล้ว 21 ราย โดยไม่จำกัดอายุ เพศ หรือภูมิหลัง และตั้งเป้าขยายผลให้ถึงอย่างน้อย 150 ราย สำหรับเคสน่าสนใจของผู้ที่ได้รับโอกาสคือ 'เน็ต' ผู้เข้าร่วมโครงการที่ได้เข้าทำงานกับ Sunrise Taco ธุรกิจของผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิซึ่งกลายเป็นต้นแบบสำคัญของการเปลี่ยนผ่านสู่ชีวิตใหม่
เรื่องราวของ 'เน็ต' สะท้อนให้เห็นถึงความซับซ้อนของการฟื้นฟูชีวิต เพราะการกลับเข้าสู่สังคมไม่ได้หมายถึงเพียงการมีงานทำ แต่รวมถึงการปรับตัวจากชีวิตข้างถนนกลับเข้าสู่ระบบการทำงาน การฝึกเรื่องวินัย การตื่นเช้า และการทำงานต่อเนื่อง สิ่งเหล่านี้อาจดูเป็นเรื่องเล็กน้อยสำหรับคนทั่วไป แต่สำหรับผู้ที่เคยใช้ชีวิตโดยไม่มีโครงสร้าง การปรับตัวเหล่านี้ถือเป็นความท้าทายใหญ่ที่ต้องอาศัยการสนับสนุนอย่างใกล้ชิดจากทีมงาน
จากผู้ให้ทุน สู่ผู้ออกแบบระบบร่วม
"นฤมล จิวังกูร" กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย สะท้อนถึงบทบาทของภาคเอกชนในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมว่า การสนับสนุนเงินทุนเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ หากไม่มีการวาง "ระบบรองรับระยะยาว" การช่วยเหลือก็จะกลายเป็นเพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
"เรามองว่าในประเทศไทย คนที่หล่นจากระบบแล้วไม่มีเบาะรองรับ มันคือจุดที่เราควรโฟกัส คนเหล่านี้ไม่ได้ขาดศักยภาพ แต่ขาดโอกาสที่เหมาะสม ถ้าทุกภาคส่วนช่วยกัน เราเชื่อว่าพวกเขาสามารถกลับมาได้"
เธอชวนตั้งคำถามถึงการทำความเข้าใจ "ความยั่งยืน" ในอีกมิติว่า ในโลกธุรกิจปัจจุบัน มักจะถูกโยงเข้ากับมิติเรื่องสิ่งแวดล้อม อากาศ มลพิษ หรือพลังงานเป็นหลัก ขณะที่ "การโอบอุ้มทางสังคม" ซึ่งเป็นมิติที่สำคัญไม่แพ้กัน กลับถูกพูดถึงน้อยเกินไป ซึ่งอาจจะความยั่งยืนที่แท้จริงก็เกิดขึ้นได้ยาก
ซิตี้แบงก์ โดยมูลนิธิซิตี้ จึงสนับสนุนงบประมาณ 16.5 ล้านบาทให้กับโครงการ Center of Dreams ภายใต้กรอบ Global Innovation Challenge ซึ่งมุ่งแก้ปัญหาสังคมอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ "ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ" เช่น คนไร้บ้าน ความมั่นคงทางอาหาร และโอกาสทางอาชีพ
นฤมลย้ำว่า โครงการนี้ไม่ได้มีเป้าหมายแค่การเยียวยาระยะสั้น แต่เป็นการ "ปูรากฐานใหม่" เพื่อไม่ให้เกิดคนไร้บ้านรุ่นใหม่ ผ่านการส่งต่อทักษะ ความรู้ และความมั่นใจให้ผู้เข้าร่วมสามารถกลับไปยืนบนขาของตัวเองได้อีกครั้ง
แนวทางของซิตี้แบงก์จึงไม่ใช่แค่การให้ทุน แต่เน้น "การลงมือทำ" ผ่านกิจกรรมอาสาสมัครของพนักงานในโครงการ Citi Community Day ที่จัดต่อเนื่องมาแล้วกว่า 20 ปีทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย โดยมีเป้าหมายเพื่อให้คนในองค์กรได้เข้าใจปัญหาเชิงโครงสร้างอย่างใกล้ชิด และรู้สึก "มีส่วนร่วมจริง" กับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
นฤมลทิ้งท้ายด้วยมุมมองที่ท้าทายการวัดผลแบบเดิมว่า “เป้าหมายเชิงปริมาณอาจตั้งไว้ที่ 150 คน หรือ 500 คน แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าคือ ‘คุณภาพของคน’ ที่สามารถสร้างแรงกระเพื่อมให้คนรอบตัวได้” เพราะสิ่งที่มูลนิธิกำลังทำอยู่ ไม่ใช่เพียงการส่งมอบสินค้า แต่คือการเปลี่ยนชีวิตของคนแต่ละคนแบบ tailor-made ซึ่งต้องใช้การออกแบบเฉพาะสำหรับแต่ละชีวิต
"เราต้องเล่าเรื่องของคนที่สำเร็จให้มากขึ้น คนที่ผ่านกระบวนการฝึกแล้วกลับไปมีงาน มีวินัย มีความมั่นใจ สิ่งเหล่านี้อาจกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นๆ ที่ยังไม่พร้อม แม้เขาไม่ต้องรับความช่วยเหลือจากเราโดยตรง แค่ได้ยินเรื่องนี้ก็อาจลุกขึ้นมาได้เอง นี่คือสิ่งที่เรียกว่า ผลกระทบทางอ้อม (Indirect Effect) แม้เราจะยังช่วยไม่ถึง 150 คนตามเป้าหมาย แต่ถ้า 50 คนแรกสามารถยืนได้จริง และกลับไปเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นในสังคมลุกขึ้นตาม นั่นอาจสร้างแรงกระเพื่อมที่กว้างไกลกว่าตัวเลขที่ตั้งไว้เสียอีก" นฤมลกล่าว
แม้ Center of Dreams จะเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ แต่ในภาพรวม ประเทศไทยยังขาด ‘ตัวกลาง’ ที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงกลุ่มเปราะบางเข้ากับภาคธุรกิจในวงกว้าง โครงการนี้จึงไม่ได้เพียงช่วยเหลือในระดับรายบุคคล แต่กำลังสะท้อนความจำเป็นของโครงสร้างใหม่ที่จะทำให้การแก้ปัญหาคนไร้บ้านไม่ใช่เพียงงานของมูลนิธิ แต่เป็นบทบาทร่วมของทุกภาคส่วน