เครือข่ายลุ่มน้ำกก ยื่นหนังสือนายกฯ เจรจาเมียนมา เผยข้อมูลเหมืองแร่โยงจีน
เครือข่ายประชาชนปกป้องลุ่มน้ำกก สาย รวก โขง ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2568 โดยระบุถึงความกังวลต่อสถานการณ์มลพิษข้ามพรมแดนที่กำลังส่งผลกระทบรุนแรงต่อชุมชนในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย
ตามที่รัฐบาลแจ้งว่า ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมีกำหนดการจะนำคณะผู้เชี่ยวชาญของไทยเดินทางไปยังกรุงเนปิดอว์ ประเทศเมียนมา เพื่อหารือกับผู้เชี่ยวชาญของเมียนมาเกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหาสารพิษที่ปนเปื้อนในแม่น้ำกกและแม่น้ำสาย
เครือข่ายประชาชนจากจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากการปนเปื้อนของสารโลหะหนักในแหล่งน้ำสำคัญที่ใช้ในการอุปโภคบริโภค เกษตรกรรม และกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ มีความกังวลอย่างยิ่งถึงความเสี่ยงด้านสุขภาพของประชาชน (public health risk) และได้เสนอข้อเรียกร้องที่เป็นรูปธรรมต่อรัฐบาล เพื่อเจรจากับฝ่ายที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหานี้อย่างเร่งด่วน
5 ข้อมูล-ข้อเสนอแนะจาก เครือข่ายประชาชนฯ
1. ข้อมูลจากสมาชิกของเครือข่ายฯ ชี้ว่าพื้นที่เหมืองที่ต้นน้ำกก และน้ำสาย ในรัฐฉาน เป็นเขตอิทธิพลของกองกำลังว้า (United Wa State Army-UWSA) และร่วมด้วยกองทัพของสภาบริหารแห่งรัฐพม่า (State Administrative Council-SAC) การลงทุนในเหมืองแร่ต้องได้รับอนุญาตจากทั้งสองฝ่ายนี้
ดังนั้น กองทัพของสภาบริหารแห่งรัฐพม่าจึงรับรู้สถานการณ์มาโดยตลอด และมีอำนาจสั่งการกลุ่มกองกำลังในพื้นที่ให้ปฏิบัติตามกฎหมายของเมียนมา ซึ่งมีกฎหมายควบคุมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กฎหมายเหมืองแร่ ฯลฯ การอ้างว่าเขตนี้เป็นเขตอิทธิพลของว้า อยู่นอกเหนืออำนาจของเมียนมาและไม่สามารถนำมากล่าวอ้างได้ เนื่องจากดินแดนแห่งนี้เป็นขอบเขตของเมียนมาตามรัฐธรรมนูญ มิใช่เขตปกครองพิเศษของกลุ่มกองกำลังใด
2. ขอให้ฝ่ายไทยและเมียนมา ร่วมดำเนินการหาข้อมูลและสำรวจกิจกรรมเหมืองที่ต้นแม่น้ำกก แม่น้ำสาย ว่ามีการทำเหมืองกี่แห่ง เป็นเหมืองแร่ชนิดใด อยู่พื้นที่ใด รวมทั้งข้อมูลผู้ลงทุนและผู้ส่งออกแร่ รวมทั้งประเทศที่นำเข้าแร่จากเขตนี้ โดยตั้งเป็นคณะกรรมการร่วมและมีตัวแทนภาคประชาชนลุ่มน้ำกก น้ำสาย ซึ่งเป็นผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามาร่วมด้วย
3. ข้อมูลที่เครือข่ายฯ ได้รับมีความชัดเจนว่าผู้ประกอบการเหมืองแร่ล้วนเป็นบุคคลที่ใช้ภาษาจีน และมีการขนส่งแร่กลับไปยังชายแดนจีน จึงขอเรียนให้รัฐบาลไทยหารือกับรัฐบาลจีนเพื่อร่วมแก้ปัญหานี้อย่างสร้างสรรค์และตรงไปตรงมา ทั้งนี้เพื่อยุติการกระทำนอกกฎหมาย และเพื่อปกป้องความเสี่ยงด้านสุขภาพของประชาชนจำนวนนับล้าน
4. ในระหว่างนี้ สิ่งสำคัญเร่งด่วน คือควรเจรจาให้มีการหยุดกิจกรรมเหมืองทั้งหมดโดยทันที เนื่องจากทำให้สารเคมีและสารโลหะหนักปนเปื้อนในลำน้ำมากขึ้นเรื่อยๆ ดังข้อมูลจากการตรวจผลการตรวจวัดคุณภาพน้ำผิวดิน พารามิเตอร์โลหะหนักอื่นๆ ในแม่น้ำกก สาย รวก โขง โดยสำนักสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 1 เชียงใหม่ ทั้ง 5 ครั้ง โดยเฉพาะข้อมูลล่าสุดที่พบว่าแม่น้ำกกและแม่น้ำสาย มีการปนเปื้อนของสารโลหะหนักเกินค่ามาตรฐาน ได้แก่ สารหนู (As) ตะกั่ว (Pb) แมงกานีส (Mn)
5. ขอให้เปิดเผยรายชื่อคณะที่ปรึกษาและและผู้เชี่ยวชาญ ที่จะเดินทางไปหารือที่เมียนมา พร้อมทั้งข้อเสนอในการเจรจาที่สำคัญในครั้งนี้
จดหมายระบุด้วยว่า “ขณะนี้ประชาชนเชียงใหม่เชียงราย กำลังเผชิญความเสี่ยงอุทกภัยในช่วงฤดูฝน หากพายุเข้า มีปริมาณฝนมาก เกิดน้ำป่าไหลหลากจากภูเขาต้นน้ำที่มีเหมืองแร่ ทั้งแร่ทองคำ แรร์เอิร์ท ฯลฯ ย่อมพัดพาตะกอนที่ปนเปื้อนสารโลหะหนักลงมาสู่แผ่นดินไทยที่จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย เป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ให้รุนแรงยิ่งขึ้น
ขอเรียกร้องท่านในฐานะนายกรัฐมนตรีของประเทศไทย ดำเนินการในทุกวิถีทาง เพื่อยุติเหมืองแร่เหล่านี้ทันที และมีมาตรการชัดเจนด้านการฟื้นฟูนิเวศ ระบบเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนให้กลับคืนมาดังเดิมอย่างเร่งด่วน เพราะยิ่งเวลาเนิ่นนานออกไปยิ่งทำให้ความเสียหายรุนแรงและอาจไม่สามารถแก้ไขคืนได้ดังเดิม”
ที่มา : สำนักข่าวชายขอบ / ภาพ : กรมควบคุมมลพิษ