ผลวิจัย Microsoft เผย คนทำงานกำลังทรมานกับ “การทำงานที่ไม่มีวันสิ้นสุด (Infinite Workday)” ตื่นมาทำงานบนเตียง ก่อนล้างหน้าแปรงฟัน
ทุกคนจำได้ไหมว่าครั้งสุดท้ายที่ได้นั่งทำงานเฉยๆ โดยไม่มีเสียงแจ้งเตือนรบกวนคือเมื่อไร?
.
ทุกวันนี้โลกแห่งการทำงานนั้นไม่เพียงแต่หมุนเปลี่ยนอย่างรวดเร็วตลอดเวลา แต่มันหมุนไม่หยุด และดูไม่มีทีท่าว่าจะหยุดหมุนแต่อย่างใด ซึ่งด้วยธรรมชาติและสภาพแวดล้อมของการทำงานที่ไม่หยุดหมุนแบบนี้ ก็พลอยทำให้คนทำงานทั่วทั้งโลกนั้น “ไม่หยุด” ไปด้วยโดยปริยาย
.
จริงอยู่ว่าทุกวันนี้เทคโนโลยีช่วยให้เราสามารถทำงานกับใครก็ได้บนโลกแบบทุกชั่วขณะ ตั้งแต่เพื่อนร่วมงานที่กำลังพักผ่อนอยู่อีกซีกโลกหรือเพื่อนสนิทที่นั่งอยู่โต๊ะข้างๆ เทคโนโลยีก็สามารถทำให้ทุกๆ ทำงานร่วมกันได้แบบไร้รอยต่อ
.
แต่ในขณะเดียวกัน ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เทคโนโลยีก็กำลังทำให้เส้นแบ่งระหว่าง “วันหยุด” และ “วันทำงาน” ค่อยๆ เลือนรางหายไปเรื่อยๆ ซึ่งทำให้คนทำงานทั่วโลกนั้นกำลังรู้สึก “ทรมาน” เป็นอย่างมาก
.
โดยงานวิจัยล่าสุดจาก Microsoft Work Trend Index 2025 ชี้ให้เห็นผลพวงของวัฒนธรรมการทำงานแบบนี้ผ่านปรากฏการณ์ที่เรียกว่า "Infinite Workday" แปลว่า การทำงานแบบไม่มีหมดสิ้น ยืดเยื้อไปตลอดทั้งวัน ไม่มีจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดที่ชัดเจน
.
.
ทุกวันนี้คนเราเริ่มทำงานก่อนล้างหน้าแปรงฟัน
.
โดยข้อมูลจาก Microsoft ชี้ให้เห็นว่า เวลา 6 โมงเช้า มีคนทำงาน 40% ที่ออนไลน์กำลังเช็คอีเมลเพื่อดูความสำคัญของงานในแต่ละวัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า คนส่วนใหญ่นั้นเริ่มทำงานของตัวเองก่อนจะลุกจากเตียงเพื่อไปล้างหน้าแแปรงฟันเสียอีก
.
นอกจากนี้ งานวิจัยของ Microsoft เผยข้อมูลที่น่าตกใจอีกว่า
.
[ ] พนักงานได้รับอีเมล 117 ฉบับต่อวันโดยเฉลี่ย
[ ] พนักงานได้รับ 153 ข้อความใน Teams ต่อวัน (คนอเมริกันได้รับ 155 ข้อความ สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก)
[ ] คนอเมริกันส่งอีเมล 120 ฉบับต่อวัน
[ ] ทุกๆ 2 นาที คนทำงานจะโดนรบกวนจากการแจ้งเตือน (Notifications) ต่างๆ มารบกวนการทำงาน ไม่ว่าจะเป็น ประชุม โทรศัพท์ หรือข้อความ หมายความว่าในหนึ่งวันทำงาน 8 ชั่วโมง เราถูกรบกวนถึง 275 ครั้ง
[ ] 57% ของการประชุมเป็นการนัดแบบกะทันหัน ไม่มีการส่งปฏิทินล่วงหน้า
.
สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงความเข้มข้นของการทำงานในแต่ละวันที่คนทำงานในยุคปัจจุบันกำลังเผชิญอยู่ ซึ่งแน่นอนว่ากำลังนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ อีกมากมายไม่ว่าจะเป็น Burnout, Brownout, Imposter Syndrom, หรือปัญหาสุขภาพจิตอื่นๆ อีกมากมาย โดยข้อมูลจาก Glassdoor ในเดือนพฤษภาคม 2025 พบว่า มีเพียง 44% ของคนทำงานอเมริกันที่รู้สึกมองโลกในแง่ดีเกี่ยวกับอนาคตของบริษัทของตน ซึ่งเป็นตัวเลขต่ำสุดที่เคยบันทึกไว้เลยทีเดียว
.
.
Always On Culture ที่เป็นผลมาจากความก้าวล้ำของเทคโนโลยี
.
Vili Lehdonvirta ศาสตราจารย์จาก Aalto University ประเทศฟินแลนด์ ระบุว่า "ในหลายภาคส่วน เช่น เทคโนโลยีและการเงิน มีความคาดหวังว่าคนทำงานทุกคนควรพร้อมทำงานตลอดเวลาให้เจ้านาย แม้จะอยู่นอกเวลางานก็ตาม และแนวคิดนี้นั้นแข็งแกร่งกว่าในอเมริกาเมื่อเทียบกับหลายแห่งในยุโรป"
.
นอกจากนี้ Vili Lehdonvirta ยังบอกต่ออีกว่า อุปกรณ์มือถือและแอปพลิเคชันอย่าง Slack และ Microsoft Teams ทำให้ "วัฒนธรรมแบบ always-on ทำได้ง่ายขึ้นในทางปฏิบัติ"
.
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเทคโนโลยีจะช่วยให้การทำงานจะช่วยให้เราทำงานได้ง่ายขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่ในขณะเดียวกัน การศึกษาปี 2019 จาก Myers-Briggs ที่สำรวจคน 1,000 คนเกี่ยวกับวัฒนธรรม always-on พบว่า
.
[ ] 28% ของพนักงานในระบบนี้บอกว่าไม่สามารถปิดสวิตช์การทำงานในตัวเองได้
[ ] 20% รายงานภาวะหมดแรงทางจิต (Mentally Exhausted)
.
ซึ่งหลักฐานทั้งหมดนี้กำลังเตือนพวกเราว่า "เมื่อคนงานหมดไฟ มีปัญหาสุขภาพ และส่งผลให้ทำงานได้คุณภาพต่ำลง และก็จะมีแนวโน้มลาออกมากขึ้น"
.
ผู้เชี่ยวชาญหลายคนนั้นกำลังเปรียบเทียบปรากฏการณ์ Infinite Workday นี้ว่า เหมือนกับการ “ขับรถไปเล่นโทรศัพท์ไป” ซึ่งมีความอันตรายเป็นอย่างมากในแง่ของจิตใจ
.
.
AI อาจเป็นทั้งสาเหตุและทางออก
.
แน่นอนว่าเมื่อพูดถึงปรากฏการณ์ Infinite Workday นี้ คนทำงานหลายคนอาจเห็นตรงกันว่า สาเหตุหลักของการที่ทุกคนกำลังถูกบีบบังคับให้ทำงานหนักขึ้นเรื่อยๆ ก็คือการมาถึงของ AI ที่ทั้งเก่งกาจ มากความสามารถจนทำให้มนุษย์ธรรมดาๆ ไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากจะต้องเพิ่มความขยันแบบทวีคูณเพื่อให้ตัวเองนั้นยังไม่ถูกแทนที่ด้วย AI
.
แต่ถ้าหากเราลองมองมุมกลับกัน AI นี่แหละคือสิ่งที่จะช่วยให้เราสามารถปล่อยมือจากงานหรือ Task บางอย่างที่กำลังทำให้เราต้องทำงานแบบเช้าจรดค่ำแบบนี้
.
โฆษกของ Microsoft บอกว่า ในเวลาที่ผู้นำเกือบทุกคนพยายามทำมากกว่าเดิมด้วยทรัพยากรที่น้อยกว่า เรามีโอกาสที่แท้จริง ไม่ใช่การเหยียบคันเร่งให้ระบบเดิมเคลื่อนที่ไปข้างหน้าเร็วขึ้น แต่เป็นการให้ความสำคัญกับ 20% ของกระบวนการทำงาน ที่ช่วยทำให้เกิด 80% ของผลลัพธ์ทั้งหมด
.
ซึ่งแนวคิดนี้สะท้อนหลักการ Pareto Principle ที่ว่า 20% ของความพยายามให้ผลลัพธ์ 80% ของความสำเร็จ AI สามารถช่วยให้เราระบุและโฟกัสที่ 20% ที่สำคัญนั้นได้
.
ตัวอย่างการใช้ AI เพื่อลดภาระงาน
.
[ ] การประชุม Report สถานะการทำงานต่างๆ : AI สรุปความคืบหน้าโครงการอัตโนมัติ
[ ] การเขียนรายงานประจำ : AI ช่วยรวบรวมข้อมูลและร่างเนื้อหา
[ ] การตอบอีเมลรูปแบบ : AI ช่วยตอบคำถามพื้นฐานและจัดลำดับความสำคัญ
[ ] การจัดตารางประชุม : AI หาเวลาที่เหมาะสมและจัดการปฏิทิน
.
.
ท้ายที่สุดนี้ วันทำงานที่ไม่มีที่สิ้นสุดอาจจะเป็นความจริงที่เราต้องเผชิญในยุคนี้ แต่การตระหนักถึงปัญหาคือก้าวแรกในการแก้ไข การตั้งขอบเขต การใช้เทคโนโลยีอย่างชาญฉลาด และการดูแลสุขภาพจิตของตัวเอง จะช่วยให้เราผ่านพ้นช่วงเปลี่ยนผ่านนี้ไปได้
.
คำถามไม่ใช่ว่างานจะเปลี่ยนไปหรือไม่ แต่เป็นว่าเราจะยอมให้การทำงานเปลี่ยนตัวตนของเราไปมากแค่ไหน เพราะในท้ายที่สุด เราก็ต้องตระหนักว่างานแม้จะสำคัญแค่ไหนก็ตาม ก็อาจจะไม่ใช่สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตของเรา
.
.
อ้างอิง
- American workers are stuck in an ‘infinite workday,’ according to Microsoft report: ‘People are feeling very burnt out’ : Sophie Caldwell, CNBC - https://bit.ly/3HYiJdT
- Breaking down the infinite workday : Microsoft - https://bit.ly/4niyGf7
- 'Always On,' How Workers Are Suffering From 'Infinite' Work : Marni Rose McFall, Newsweek - https://bit.ly/3HVnBk8
.
.
#infiniteworkday
#worklifebalance
#worklife
#trend
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast