ชัวร์ก่อนแชร์ : ประโยชน์ของ “องุ่นแดง” จริงหรือ ?
สำนักข่าวไทย Online
อัพเดต 18 กรกฎาคม 2568 เวลา 18.45 น. • เผยแพร่ 3 ชั่วโมงที่ผ่านมา • สำนักข่าวไทย อสมทบนสื่อสังคมออนไลน์แชร์ว่า องุ่นต่างสีมีคุณประโยชน์แตกต่างกันไป เช่น องุ่นแดงป้องกันโรคหัวใจ ช่วยชะลอวัย ลดการดูดซึมคอเลสเตอรอล จริงหรือ ?
🎯 ตรวจสอบข้อเท็จจริงและคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ ดร.ภรัณยา ธิยะใจ นักปฏิบัติการวิจัย (ชำนาญการพิเศษ) สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล
โดยภาพรวมองุ่นสีเขียว สีแดง หรือสีดำ (ม่วง) มีความใกล้เคียงกัน แต่องุ่นทั้ง 3 ชนิด ก็มีความแตกต่างกันบ้างในคุณสมบัติบางส่วน คือสารพฤกษเคมี
สารสำคัญที่เป็นตัวบอกความแตกต่างก็คือ สารแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) คือ สารสีธรรมชาติชนิดหนึ่งที่พบในพืช โดยเฉพาะในดอกไม้ ผลไม้ และพืชบางชนิดที่มีสีม่วง แดง หรือน้ำเงิน สารนี้จัดอยู่ในกลุ่มของฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) และมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) ที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ
องุ่นแดง มีสาร “เรสเวอราทรอล” จริงหรือ ?
เรสเวอราทรอล (Resveratrol) เป็นสารในกลุ่มโพลีฟีนอล (Polyphenols) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidants) ที่มีประสิทธิภาพสูงตามธรรมชาติ แม้ว่าจะพบได้ใน ถั่วลิสง บลูเบอร์รี่ และแครนเบอร์รี่ แต่ก็พบได้มากที่สุดในผิวเปลือกขององุ่น และในน้ำองุ่นธรรมชาติ และไวน์แดง
ทั้งองุ่นเขียว องุ่นแดง และองุ่นดำ (ม่วง) พบเรสเวอราทรอลหลัก ๆ อยู่บริเวณเปลือกองุ่น ช่วยลดการอักเสบ แต่ต้องได้รับในปริมาณที่ค่อนข้างมากระดับหนึ่ง
ดังนั้น กินองุ่นเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่ได้มีปริมาณที่มากพอสำหรับหวังผลเพื่อการดูแลสุขภาพ
องุ่นแดง ป้องกัน “โรคหัวใจ” จริงหรือ ?
องุ่นแดงและองุ่นดำ (ม่วง) อาจจะมีส่วนช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดและหัวใจ รวมถึงโรคหัวใจด้วย
โรคหัวใจก็เป็นหนึ่งในกลุ่มของโรคหลอดเลือดและหัวใจ แต่ก็ยังไม่มีคำแนะนำที่จะบอกว่าตัวองุ่นแดงสามารถที่จะป้องกันโรคหลอดเลือดและหัวใจ หรือว่าโรคหัวใจได้
องุ่นแดง ช่วย “ชะลอวัย” จริงหรือ ?
องุ่นแดงช่วยชะลอวัยมีส่วนที่เป็นความจริง เพราะเรื่องการชะลอวัยมักจะมองถึงความสามารถต้านอนุมูลอิสระได้จริงมากน้อยแค่ไหน ลดการสะสมของน้ำตาล ลดการอักเสบ อย่างไรบ้าง
ทั้งในองุ่นแดง และองุ่นดำ (ม่วง) มีสารสำคัญที่ออกฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ แต่ไม่แนะนำให้กินองุ่นเพื่อการชะลอวัย
องุ่นแดง ลดการดูดซึม “คอเลสเตอรอล” จริงหรือ ?
มีงานวิจัยเกี่ยวกับสารสกัดจากองุ่น พบว่าสามารถลดคอเลสเตอรอลได้ แต่ก็มีบางงานวิจัยที่พบว่าไม่สามารถลดคอเลสเตอรอล
เรื่อง “องุ่น” ถ้ามองที่ตัวสารสำคัญ เช่น เรสเวอราทรอล (Resveratrol) หรือแอนโทไซยานิน (Anthocyanin) ที่มีการทดลองในหนู หรือทดลองในเซลล์ พบว่าสามารถลดคอเลสเตอรอลได้
อย่างไรก็ตาม “องุ่น” ไม่ใช่อาหารชนิดเดียวที่สามารถลดคอเลสเตอรอลได้ หลักสำคัญก็คือต้องกินอาหารให้สมดุล
ดังนั้น องุ่นทุกสีกินได้ ไม่ว่าจะสีเขียว สีแดง สีดำ (ม่วง) จะกินทั้งเปลือก ทั้งเมล็ด ก็กินได้หมด แต่ไม่แนะนำให้กินองุ่นเพียงอย่างเดียวเพื่อลดน้ำหนัก เนื่องจากองุ่นมีสารอาหารไม่ครบถ้วนทั้ง 5 หมู่
สัมภาษณ์โดย พีรพล อนุตรโสตถิ์
เรียบเรียงโดย คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ดูเพิ่มเติมรายการ ชัวร์ก่อนแชร์ : องุ่นต่างสีมีข้อดีต่างกัน – ประโยชน์ขององุ่นแดง จริงหรือ ?