วิธีปรับพอร์ตหุ้นครึ่งหลังปี 68 รับมือตลาดทุน-เศรษฐกิจผันผวน
ผ่านพ้นครึ่งแรกปี 68 ไปแล้ว ตลาดหุ้นไทยเปิดการซื้อขายมาแล้วกว่า 119 วันทำการแรกของปีนี้ พบว่า ดัชนี SET Index เปิดตลาดวันแรก 2 ม.ค. ที่ระดับ 1,397.93 จุด และปิดการซื้อขายวันที่ 30 มิ.ย. ที่ระดับ 1,089.56 จุด ลดลง 308.37 จุด หรือเปลี่ยนแปลง 22.05%
ความผันผวนที่เกิดขึ้นเป็นไปตามผลกระทบจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ ไม่ว่าจะทั้งเรื่องเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง การปรับขึ้นภาษีตอบโต้กับนานาประเทศ (Reciprocal Tariffs) ของทรัมป์ ปัจจัยภูมิรัฐศาสตร์ สงครามการค้าตะวันออกกลางที่พร้อมปะทุขึ้นใหม่ รวมไปถึงการเมืองในประเทศที่สั่นคลอน
ตลอดจนความเชื่อมั่นตลาดทุนไทยที่ลดน้อยถอยลงอย่างต่อเนื่อง เม็ดเงินลงทุนต่างชาติไหลออกอย่างต่อเนื่องกว่า 78,692.76 ล้านบาท และยังไม่มีท่าทีที่จะกลับมา ทำให้น่าสนใจว่าจากนี้ไปนักลงทุนจะต้องปรับพอร์ตการลงทุนอย่างไรให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนในช่วงครึ่งหลังปี 68 นี้
นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยกับ "ฐานเศรษฐกิจ" ว่า ประเมินภาพรวมตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งหลังปี 68 คาดยังมีโอกาสถูกกดดันในช่วงแรก จากการรอความชัดเจนในภาษีการค้าระหว่างสหรัฐฯ และไทย ว่าจะดีหรือแย่กว่าภูมิภาค
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยในเรื่องของการ Roll Over พันธบัตรสหรัฐฯ จำนวนมากในเดือน มิ.ย.-ส.ค. ที่อาจทำให้ตลาดการเงินผันผวนจาก Yield ที่ปรับขึ้น ประกอบกับความขัดแย้งในพื้นที่ตะวันออกกลาง แต่คาดจะเห็นการฟื้นตัวในช่วงปลายไตรมาส 3 - 4/68
โดยมีปัจจัยที่ต้องจับตา ดังต่อไปนี้
1) การเมืองที่เริ่มนิ่งชั่วคราว หลังจากปรับ ครม. เสร็จ ทำให้รัฐบาลกลับมาเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนอีกครั้ง ซึ่งในช่วงไตรมาส 3/68 มีงบลงทุนที่รอเบิกจ่ายได้อีกกว่า 65% ของงบที่ตั้งไว้หรืออีกราว 6 แสนล้านบาท คิดเป็น 3.8% ของ GDP รายปี และ 1.5% ของ GDP รายไตรมาส
2) โครงการ JUMP+ ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ช่วยฟื้นความเชื่อมั่นให้กับหุ้นขนาดใหญ่ ที่มีแผนการเติบโตชัดเจน ทำให้นักลงทุนกลับมาสนใจลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้มากขึ้น ถือเป็นโครงการที่ช่วยปลดล็อกข้อจำกัดด้านการเติบโตต่ำ และผลประกอบการที่ผันผวนให้กับบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไทยได้ ขณะที่ความเสียงด้านบรรษัทภิบาลเริ่มลดลง จากแนวทางการดำเนินงานของ ก.ล.ต. ที่ให้ความสำคัญกับการทำผิดกฎระเบียบและกฎหมายมากขึ้น
3) แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยไทยมีโอกาสอ่อนตัวลงและทรงตัวในระดับต่ำ ทำให้เกิดรอบการลงทุนครั้งใหม่ ทั้งในระบบเศรษฐกิจจริง และตลาดการเงิน โดยคาดว่า กนง. มีโอกาสลดดอกเบี้ยอีก 1 - 2 ครั้งในช่วงที่เหลือของปี เหลือ 1.25 - 1.50% เพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศให้ฟื้นตัว
4) Valuation ของ SET Index อยู่ในโซนที่ไม่แพง โดย PER2025 อยู่ที่ 12 เท่า ต่ำกว่า MSCI Asia ex. Japan ที่ 14 เท่า และ PBV อยู่ที่ 1.1 เท่า ต่ำกว่า MSCI Asia ex. Japan ที่ 1.8 เท่า ขณะที่ผลตอบแทนจากเงินปันผลเฉลี่ยสูงถึง 4.8% เป็นอันดับ 2 ของภูมิภาครองจากสิงคโปร์
การเมืองที่ไม่มั่นคง
ขณะที่สถานการณ์การเมืองประเทศที่ ณ เวลานี้ยังดูไม่มั่นคงนัก ทำให้มองว่ายังคงเป็นอีกปัจจัยในประเทศยังต้องติดตามในหลายๆ ประเด็น แม้จะมีการปรับ ครม. แล้ว แต่รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ และเริ่มมีจุดอ่อนด้านคดีความให้ฝ่ายค้านและการเมืองนอกสภาฯ โจมตี โดยมีปัจจัยที่น่าติดตามในช่วงไตรมาส 3/68 ดังนี้
- การแก้ต่างของนายกรัฐมนตรี "แพทองธาร ชินวัตร" ต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณีคลิปเสียงสนทนากับ สมเด็จฮุน เซน ประธานวุฒิสภาและอดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ที่เผยแพร่เมื่อวันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา และบทสรุปว่า แพทองธาร จะถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งนายกฯ หรือไม่
- คดีชั้น 14 ของคุณทักษิณ ที่ศาลฎีกาฯจะไต่สวนตลอดทั้งเดือน ก.ค. คาดมีคำวินิจฉัยในเดือน ส.ค.-ก.ย.
- อภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล หลังสภาฯ เปิด
- สภาฯ เริ่มกลับมาพิจารณากฎหมายสำคัญ เช่น กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการนิรโทษกรรม และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับโครงการรถไฟฟ้า 20 บาท ซึ่งน่าจะทำให้เห็นเสียงของฝ่ายค้านและรัฐบาลชัดเจนขึ้น
- หัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติกำลังถูก ป.ป.ช. สอบกรณีถุงยังชีพ
"คาด 5 ปัจจัยที่รออยู่ข้างหน้า (ซึ่งในช่วงไตรมาส 3/68 คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก หลังจากพรรคภูมิใจไทยไปเป็นฝ่ายค้าน ซึ่งถนัดโจมตีด้วยนิติสงคราม) ทำให้รัฐบาลยังมีความเสี่ยงในแง่ของเสถียรภาพและความต่อเนื่องในการออกนโยบายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ"
ทั้งนี้ หากเกิดกรณียุบสภาฯ คาดเห็นแรง Buy on fact เพราะ SET Index ที่ Underperform ภูมิภาคมาก ได้รับรู้ปัจจัยกดดันที่กล่าวมาข้างต้นไปหมดแล้ว
ปัจจัยต่างประเทศ
ด้านปัจจัยต่างประเทศ มุมมองต่อกรณีการเริ่มต้นภาษีนำเข้าของทรัมป์ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ สงครามการค้า-สงครามการเงินนั้น เชื่อว่าแรงกระทบไม่มาก สังเกตจากตลาดหุ้นทั่วโลกทื่ฟื้นกลับหมดแล้ว หลังจากประธานาธิบดีสหรัฐฯ เลื่อนการพิจารณาจัดเก็บภาษีการค้า เพื่อเข้าสู่ช่วงของการเจรจาการค้ากับหลายประเทศทั่วโลก
ส่วนสถานการณ์ในตะวันออกกลาง เริ่มนิ่งขึ้นหลังจากอิหร่านและอิสราเอลมีข้อตกลงหยุดยิงชั่วคราว อย่างไรก็ดี ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นยังไม่คลายตัวเสียทีเดียว จึงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะราคาน้ำมันและทองคำที่มีความอ่อนไหวจากสถานการณ์ความขัดแย้ง มากกว่าสินทรัพย์ลงทุนชนิดอื่น
จากปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้ทางฝ่ายประเมิน SET Index Target สิ้นปี 68 นี้ ไว้ที่ 1,275 จุด อิงกำไรต่อหุ้นที่ 85 บาท +15% เทียบช่วงเดียวกันกับปีก่อน และ PER Multiplier ที่ 15 เท่า บนสมติฐานปัจจัยการเมืองที่มีโอกาสเกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น ยุบสภาฯ ในช่วงครึ่งหลังปีนี้ และประเทศไทยถูกสหรัฐฯ จัดเก็บภาษีการค้าไม่เกิน 20%
ทั้งนี้ มองกรอบแนวรับไว้ที่ 1,000 - 1,050 จุด และแนวต้านที่ 1,200 - 1,275 จุด ส่วนหุ้นแนะนำ (7 Wonders) ในช่วงไตรมาส 3/68 ได้แก่ PINGAN80, PFIZER19, TMAN, 3BBIF, GULF, PTTGC และ TRUE เป็นต้น
Flow ไหล… ไปไม่กลับ
สำหรับเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติ (Fund Flow) จะกลับมาในช่วงครึ่งปีหลังนี้หรือไม่นั้น ส่วนตัวมองว่ายังชะลอการไหลเข้าจนกว่าจะเห็นจุดเปลี่ยน โดยถ้าอิงกระแสเงินที่ไหลเข้าอย่างชัดเจนในรอบล่าสุด มีเพียงช่วงเดียว คือ ส.ค. 67 ที่นายกฯ แพทองธาร ขึ้นรับตำแหน่ง โดยซื้อสุทธิ 2.9 หมื่นล้านบาท
"นั่นหมายความว่าถ้าการเมืองไทยมีจุดเปลี่ยนในทางที่ดีขึ้น หรือทำให้ต่างชาติมั่นใจว่าจะมีเสถียรภาพมากขึ้น กระแสเงินมีโอกาสกลับมาไหลเข้าทันที เพราะนั่นหมายถึง โอกาสที่จะเห็นการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ เพื่อฟื้นฟูความเชื่อมั่นจากรัฐบาลชุดใหม่ตามมาด้วย"
วิธีปรับพอร์ตหลงทุน
โดยกลยุทธ์การลงทุนในช่วงครึ่งหลังปี 68 นั้น ทางฝ่ายแนะนำลงทุนในหุ้นไทย สัดส่วน 20%, หุ้นต่างประเทศ 40%, ทองคำ 10%, พันธบัตร 20% และเก็บเงินสดไว้ประมาณ 10% เป็นต้น
ในส่วนกลุ่มหุ้นไทยที่มีความน่าสนใจในการลงทุน 3 อันดับ ในช่วงครึ่งหลังปีนี้ ได้แก่
- หุ้นสื่อสาร จากการแข่งขันที่ลดลง แนะนำ TRUE ราคาเหมาะสม 15.60 บาท
- หุ้นปิโตรเคมี การฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน และต้นทุนที่ถูกลง แนะนำ PTTGC ราคาเหมาะสม 21.70 บาท
- หุ้นค้าปลีก คาดรัฐบาลเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังปีนี้ และ Valuation ไม่แพง แนะนำ CPALL ราคาเหมาะสม 65.0 บาท