โปรดอัพเดตเบราว์เซอร์

เบราว์เซอร์ที่คุณใช้เป็นเวอร์ชันเก่าซึ่งไม่สามารถใช้บริการของเราได้ เราขอแนะนำให้อัพเดตเบราว์เซอร์เพื่อการใช้งานที่ดีที่สุด

การเมือง

'ปิยบุตร' ยกเคส 'พฤษภา 35' ยันไทยเคยมี 'นายกฯชั่วคราว' ไว้ยุบสภาฯ

กรุงเทพธุรกิจ

อัพเดต 14 ชั่วโมงที่ผ่านมา • เผยแพร่ 7 ชั่วโมงที่ผ่านมา

เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2568 นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ระบุถึงกรณีพรรคประชาชน (ปชน.) เสนอทางออกประเทศไทย โดยการโหวตนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เพื่อทำการ "ยุบสภาฯ" ว่า ประเทศไทยเคยมีนายกรัฐมนตรีเพื่อทำหน้าที่ยุบสภา ภายหลังเหตุการณ์ “พฤษภา 35” พล.อ.สุจินดา คราประยูร ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทำให้นายอาทิตย์ อุไรรัตน์ ประธานสภาผู้แทนราษฎรในเวลานั้น ต้องเสนอชื่อบุคคลและถวายคำแนะนำให้พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี

มีข่าวกันว่า พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ น่าจะได้เป็นนายกรัฐมนตรีแทน แต่สุดท้าย นายอาทิตย์ กลับเสนอชื่อนายอานันท์ ปันยารชุน จนเกิดเหตุการณ์ที่รู้จักกันดีในชื่อ “แต่งชุดขาวรอเก้อ” ในหนังสือ “เล่าเรื่องผู้นำ” ของวิษณุ เครืองาม ได้บันทึกไว้ว่า “รุ่งขึ้นนายกฯ อานันท์เรียกผมไปพบที่ห้องทำงานของท่านที่บริษัท สหยูเนี่ยน จำกัด บางจาก ที่นั่นผมเห็นอาจารย์เกษม สุวรรณกุล อาจารย์ไพจิตร เอื้อทวีกุล นายวิเชียร วัฒนคุณ และพลตำรวจเอกเภาสารสิน หารือกันอยู่ก่อนแล้ว ท่านนายกฯ ให้ผมอธิบายขั้นตอนในการทำงาน ผมชี้แจงว่าขั้นแรกท่านต้องรีบตั้งคณะรัฐมนตรี ต่อจากนั้นก็นำคณะรัฐมนตรีเข้าเฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณ

หลังจากนั้นแถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้วจึงเข้าทำงาน ท่านถามว่ามีงานด่วนอะไรค้างอยู่บ้าง ผมเรียนว่ามีเรื่องการคลี่คลายปัญหาพฤษภาทมิฬ ซึ่งมีคนตาย คนหาย คนเจ็บ และการเตรียมงบประมาณปีหน้า ท่านนายกฯถามว่าถ้าไม่แถลงนโยบาย แต่ยุบสภาเลยได้ไหม เพราะท่านเข้ามาเพื่อ "ยุติ" การบริหารราชการแผ่นดิน ไม่ใช่เพื่อ "ดำเนินการ" บริหารราชการแผ่นดิน

ผมตอบว่ารัฐบาลจะเข้าบริหารราชการแผ่นดินได้ต้องแถลงนโยบายเสียก่อน ถ้าท่านยุบสภาทันที ก็จะมีปัญหาสองข้อ

ข้อแรก รัฐบาลที่ยังไม่แถลงนโยบายจะเสนอให้ยุบสภาได้หรือไม่ข้อนี้เสี่ยงอยู่ เพราะจะมีคนสงสัย ทำให้เป็นปริศนาขึ้นในบ้านเมือง เพราะการลงนามรับสนองพระบรมราชโองการในพระราชกฤษฎีกา ยุบสภาผู้แทนราษฎรน่าจะเป็นการบริหารราชการแผ่นดินอย่างหนึ่ง

ข้อที่สอง คือ แม้ผ่านข้อแรกไปแล้ว พอยุบสภา รัฐบาลก็จะมีเวลารักษาการนาน 90 วัน ถามว่าถ้าใน 90 วันนั้น มีวิกฤตที่จะต้องแก้ไข เช่น สั่งใช้กำลังเข้าตรึงชายแดน หรือต้องเจรจาความเมืองกับต่างประเทศ ต้องแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ จนในที่สุดคือต้องออกพระราชกำหนดในเวลาฉุกเฉิน เพราะไม่มีสภาเสียแล้ว รัฐบาลจะเป็นอันทำไม่ได้เลยสักอย่าง เพราะกิจการเหล่านี้คือการบริหารราชการแผ่นดินทั้งสิ้น

ที่ประชุมฟังแล้วก็พยักหน้าเห็นด้วยว่าต้องแถลงนโยบายและมอบหมายให้ผมไปทำงานกับผู้ใหญ่บางท่านซึ่งจะเป็นรัฐมนตรี โดยท่านนายกฯ ไม่ลืมที่จะกำชับว่า "เอาสั้นๆ ผมไม่อยากแถลงมาก เอาเพียงได้ชื่อว่าแถลงแล้วก็พอ ต่อจากนั้นจะยุบสภา" มีว่าที่รัฐมนตรีคนหนึ่งเปรยขึ้นว่า "ก็เคยแถลงมาแล้ว ตอนนี้แถลงสั้นๆ ว่าขอให้เหมือนเดิมได้ไหม"

กระบวนการหลังจากนั้นคือการหาตัวรัฐมนตรี ผมได้ทราบแต่แรกว่าการแต่งตั้งรัฐมนตรีคราวนี้จะมีน้อยคน จึงมีการควบหลายตำแหน่ง เช่น พลตำรวจเอกเภา สารสิน เป็นรองนายกฯ ฝ่ายความมั่นคงและควบมหาดไทย นายเกษม สุวรรณกุล เป็นรองนายกฯ ฝ่ายสังคมและควบทบวงมหาวิทยาลัย นอกนั้นท่านก็ไปเชิญคนเก่าๆ ที่เคยร่วม "อานันท์ 1 " บางคนกลับมาอีกครั้ง ยกเว้นคนที่แม้เคยอยู่ใน "อานันท์ 1" แต่ท่านก็ไม่ได้เลือกเอง หรือแม้จะเลือกเองแต่เป็นชนวนความขัดแย้ง

ท่านบอกว่า "รัฐบาลนี้มีเวลาน้อย จึงไม่มีเวลาทะเลาะกับใครอีกแล้ว" การหารัฐมนตรีสำเร็จได้ในเวลารวดเร็ว แต่ก็ยังตั้งคณะรัฐมนตรีไม่ได้ เพราะติดอยู่ที่รัฐมนตรีคลัง ท่านนายกฯ อยากได้นายสุธี สิงห์เสน่ห์ รัฐมนตรีคลังสมัยอานันท์ 1 และสมัยพลเอกสุจินดา แต่อาจารย์สุธีท่านไม่ยอมรับ คุณอานันท์เข้าหน้าบ้าน ท่านออกหลังบ้าน คุณอานันท์มาจอดรถรอ ท่านก็ไถลไปที่อื่นไม่กลับบ้าน กลายเป็นเล่นเอาเถิดกันอยู่นาน สำหรับคุณมีชัยตอนนั้นกำลังจะไปเป็นประธานสถานิติบัญญัติแห่งชาติแทนอาจารย์อุกฤษที่ขอลาออก

ในวันที่รัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภา ท่านนายกฯ แถลงแล้ว ก็กลับไป มอบให้อาจารย์เกษม สุวรรณกุล รองนายกรัฐมนตรีนั่งฟังทั้งวัน สมาชิกรัฐสภาจากทั้งสองสภาอภิปรายนโยบายแล้วเลยไปโจมตีนายกรัฐมนตรีอย่างหนัก เช่น หาว่าเป็นนักสร้างภาพ จังหวะดีๆ ก็แขวะที่ประธานสภาผู้แทนราษฎรด้วย โทษฐานไปขุดเอาชื่อคุณอานันท์ขึ้นมา หาว่าประธานสภารับเงินเพื่อตั้งคุณอานันท์บ้าง บางคนก็อภิปรายขอร้องว่าอย่ายุบสภาเลย เพิ่งเลือกมาเมื่อต้นปี อย่าไปถลุงงบประมาณของชาติ คุณอานันท์เข้ามาก็ดีแล้ว ประชาชนต้อนรับไชโยโห่ฮิ้ว ขอให้อยู่จนครบเทอม จะได้เป็นรัฐบุรุษ

อีกรายมาแปลก อภิปรายว่ากู้เขามาหาเสียงคราวก่อนยังใช้ไม่หมดเลย ถ้ายุบสภาเลือกตั้งใหม่จะไปหาทุนมาจากไหน ท่านนายกฯกลับเข้ามาตอนพลบค่ำ นั่งฟังอยู่ครู่หนึ่งท่านก็ลุกขึ้นเล็กเชอร์ร่ายย่าว ถึงสถานการณ์ของประเทศ ความคาดหมายของประชาชน ความประพฤติของ ส.ส. และแนวการแก้ปัญหาของชาติ ปรากฏว่ารัฐสภาเงียบกริบกันหมด ที่เจ็บก็มี ที่อายก็มี ที่โกรธก็เยอะ แต่ที่พอใจสะใจก็มีบ้าง พอคุณอานันท์นั่งลง ประธานสภาก็สั่งปิดประชุมท่ามกลางเสียงก่นด่าบรม บัดนั้น ประธานสภาก็กลายเป็นผู้ร้ายไป ส.ส.ทุกคนรู้ว่าโอกาส สุดท้ายของสภาสมัยนี้ซึ่งมีอายุไม่ถึงสามเดือนมาถึงแล้ว

วันต่อมาท่านนายกฯ ก็เดินเกมด้วยการขอพบหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรคที่สภาผู้แทนราษฎรอย่างไม่ประหวั่นพรั่นพรึงว่าจะเป็นการเผชิญหน้า ฝ่ายรัฐบาลมีท่านนายกฯ กับผมสองคน ท่านเริ่มดีมากว่า ไม่เคยรู้สึกว่าใครเป็นเทพ ใครเป็นมาร รู้แต่ว่าที่ประธานสภาเอาท่านเข้ามาเป็นนายกฯ ก็เพื่อให้ทำภารกิจสำคัญคือการยุบสภา ไม่ใช่เข้ามาบริหารราชการแผ่นดินระยะยาว

"ผมไม่เชื่อว่าพวกคุณพอใจจะให้ผมนั่งเป็นนายกรัฐมนตรี บริหารประเทศไปนานๆ ถ้าผมบริหารประเทศ ผมต้องยุ่งกับสภา ต้องเสนอกฎหมาย ต้องเสนองบประมาณ ผมจะเอาพวกคุณเป็นฝ่ายค้านทั้งสภา ผมก็อยู่ไม่ได้ ผมจะตั้งรัฐบาลกับประชาธิปัตย์ ความหวังใหม่ พลังธรรม อีกฝ่ายก็ต้องต่อต้าน ผมตั้งรัฐบาลกับสามัคคีธรรม ชาติไทย กิจสังคม อีกฝ่ายก็คัดค้าน ผมขอเป็นรัฐบาลอย่างที่ผมอยากเป็น แต่จะต้องยุบสภา ผมเชิญมามิได้เพื่อหารือว่ามีทางเลือกอื่นไหม แต่จะขอหารือข้อเดียวว่าอยากให้ยุบสภาเมื่อใด และพร้อมจะเลือกตั้งวันไหนว่ามา" ท่านโยนคำถามเปรี้ยงกลางที่ประชุมอย่างตรงไปตรงมา

มีหัวหน้าพรรคการเมืองหนึ่งเสนอให้ตั้งรัฐบาลแห่งชาติ คือเชิญทุกพรรคเข้าร่วมรัฐบาล โดยไม่มีฝ่ายค้าน แล้วยังคงให้ท่านเป็นนายกรัฐมนตรีต่อไปจะได้ไม่ต้องยุบสภา "โอ๊ย! เทพกับมารผสมกันไม่ได้หรอก" ตัวแทนพรรคหนึ่งร้องลั่น

สุดท้ายก็ได้คำตอบว่าให้ยุบสภาเมื่อใด และกำหนดวันเลือกตั้งวันใด โดยท่านนายกฯ มอบหมายให้ผมยกร่างพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎร และแถลงการณ์สำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการยุบสภาผู้แทนราษฎรตามความเห็นที่ประชุมหัวหน้าพรรค แล้วท่านนำขึ้นถวายทันที

เมื่อยุบสภาแล้ว รัฐบาลก็บริหารราชการแผ่นดินต่อมา งานแรกๆ ของรัฐบาลคือสานต่อเรื่องการสอบสวนเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เพื่อหาคนรับผิดชอบและการชดใช้แก่ผู้เสียหาย ต่อมาคือการโยกย้ายข้าราชการ โดยเฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์พฤษภาให้พ้นหน้าที่ไป” อ้างอิงจาก: (วิษณุ เครืองาม, เล่าเรื่องผู้นำ, สำนักพิมพ์มติชน, 2554, หน้า 156-160.)

โดยไทม์ไลน์มีดังนี้

10 มิถุนายน 2535 นายอานันท์ ปันยารชุน ได้รับการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี (ครั้งที่ 2)
14 มิถุนายน 2535 คณะรัฐมนตรีเข้ารับหน้าที่
22 มิถุนายน 2535 แถลงนโยบายต่อสภาผู้แทนราษฎร
30 มิถุนายน 2535 ยุบสภาผู้แทนราษฎร
13 กันยายน 2535 เลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร

หลังแถลงนโยบาย เพียง 8 วัน มีการยุบสภาผู้แทนราษฎร คณะรัฐมนตรีอานันท์ 2 มีอายุ 3 เดือน ทำหน้าที่ชั่วคราว เพื่อยุบสภาผู้แทนราษฎร ประเทศไทย เคยมีนายกรัฐมนตรีเพื่อทำหน้าที่ยุบสภาผู้แทนราษฎร รักษาการการบริหารราชการแผ่นดินระหว่างการเลือกตั้ง เปิดทางไปสู่การคืนอำนาจให้ประชาชน เพื่อผ่าทางตันวิกฤตการทางการเมือง

ในเวลานั้น รัฐธรรมนูญ 2534 เปิดทางให้นายกรัฐมนตรี ไม่ต้องเป็น สส. ปัจจุบัน รัฐธรรมนูญ 2560 ต้องเลือกนายกรัฐมนตรีจากบัญชีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเท่านั้น

ในเวลานั้น ไม่ต้องมีการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีกันในสภา อย่างเปิดเผยโดยการขานชื่อเป็นรายคน ปัจจุบัน สส.ต้องลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี อย่างเปิดเผย โดยขานชื่อเป็นรายคน

บริบทในข้อนี้จึงแตกต่างกัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า หากคุณแพทองธาร ชินวัตร พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปแล้ว เราจะหานายกรัฐมนตรีคนใหม่เข้าทำหน้าที่ชั่วคราวเพื่อยุบสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้ ทุกอย่างขึ้นกับเจตจำนงของพรรคการเมืองและผู้แทนราษฎรว่าต้องการผ่าทางตันทางการเมือง ป้องกันสุญญากาศทางการเมือง รักษาระบบ และคืนอำนาจสู่ประชาชน หรือไม่

ข้อมูลจาก: Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล

ดูข่าวต้นฉบับ
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...
Loading...

ล่าสุดจาก กรุงเทพธุรกิจ

พาณิชย์ เดินหน้าปราบนอมินี แม้การเมืองเปลี่ยน ลุยสอบ“นอมินี” 46,918 ราย ทั่วประเทศ

53 นาทีที่แล้ว

COSMOTALKS 2025 ชี้เทรนด์! ความงามยุคใหม่ เน้น AI-สุขภาพยั่งยืน

1 ชั่วโมงที่ผ่านมา

คู่มือเอาตัวรอดจาก Toxic Boss จอมบงการ ต้องพลิกเกมอย่างมืออาชีพ

1 ชั่วโมงที่ผ่านมา

'มิสเตอร์เกษตร' เผยรัฐบาลตีตกงบกระตุ้นศก.ของ 'อปท.' ทุกโครงการ

1 ชั่วโมงที่ผ่านมา

วิดีโอแนะนำ

ข่าวและบทความการเมืองอื่น ๆ

ข่าวและบทความยอดนิยม