คู่มือเอาตัวรอดจาก Toxic Boss จอมบงการ ต้องพลิกเกมอย่างมืออาชีพ
เมื่อต้องทำงานกับหัวหน้าเป็นพิษ โดยเฉพาะหัวหน้าประเภทจอมบงการ จ้องจับผิด และใช้ความกลัวเป็นเครื่องมือจัดการลูกน้อง ฯลฯ อาจทำให้การทำงานในแต่ละวันของคุณเต็มไปด้วยความกังวล หวาดระแวง และเหนื่อยล้าทางจิตใจ หลายครั้งต้องเช็กทุกคำก่อนส่งอีเมล ต้องกลั้นหายใจทุกครั้งก่อนเข้าประชุมกับคนๆ นี้ ถ้าคุณอยู่ภายใต้สถานการณ์แบบนี้ ต้องรู้วิธีการเอาตัวรอดในที่ทำงานอย่างมืออาชีพ
แม้คุณจะยังไม่สามารถลาออก เปลี่ยนงาน หรือย้ายทีมได้ทันที แต่ก็ยังมีหนทางในการปกป้องศักดิ์ศรีในวิชาชีพของตัวเอง และรักษาตัวตนให้ไม่สูญหายไปในสภาพแวดล้อมเป็นพิษดังกล่าว การเอาตัวรอดจากหัวหน้าสไตล์นี้ไม่ใช่แค่การ “อดทน” แต่คือการเลือกลงมือปรับวิธีคิดบางอย่าง หรือปรับวิธีทำงานเล็กๆ น้อยๆ อย่างมีสติ เพื่อเสริมพลังให้ตัวเอง โดยไม่จำเป็นต้องทุบหม้อข้าวตัวเอง โดยมีคำแนะนำ 6 วิธี ดังนี้
รู้เขา-รู้เรา: ลองทำความเข้าใจบุคคลที่อำนาจอยู่ในมือ
รู้หรือไม่? หัวหน้าที่ใช้อำนาจบงการคนอื่น และใช้ความกลัวในการบริหารทีม มักสะท้อนถึงความไม่มั่นคงในตัวของพวกเขามากกว่าที่เราคิด พวกเขาอาจกลัวการผิดพลาด หรือมีความกังวลลึกๆ ในใจ ซึ่งหากเราเข้าใจจุดนี้จะช่วยให้คุณ “แยกแยะ” คำตำหนิหรือความกดดัน ออกจากตัวเองได้มากขึ้น
แทนที่จะเก็บคำพูดแรงๆ ของเขามาทำร้ายตัวเราเอง ลองมองในมุมใหม่เพื่อให้เห็นว่าสิ่งเหล่านั้นสะท้อน “โลกภายใน” ของเขาเอง มากกว่าที่จะบ่งบอกว่าคุณไม่มีความสามารถ
เมื่อเข้าใจและจับสังเกตพฤติกรรมซ้ำๆ ของหัวหน้าประเภทได้ คุณก็สามารถคาดเดาปฏิกิริยาหรือ “จุดกระตุ้น” ของพวกเขาได้ด้วย และนำมาปรับวิธีทำงานได้ เช่น ถ้ารู้ว่าเขาชอบหงุดหงิดเมื่อรู้สึกว่าตามเรื่องานต่างๆ ไม่ทัน หรือไม่รู้อัปเดตอะไรเลย คุณอาจส่งอัปเดตสั้นๆ ล่วงหน้า
ในขณะที่ ถ้าพบว่าเขามักควบคุมมากขึ้นเมื่อใกล้ถึงเดดไลน์ส่งงาน คุณก็อาจถามก่อนว่า “อยากให้ส่งความคืบหน้าทุกสัปดาห์หรือกลางสัปดาห์ดีกว่าคะ/ครับ?” ด้วยการสื่อสารเชิงรุกแบบนี้ จะช่วยลดแรงเสียดทานและจำกัดพฤติกรรมจู้จี้จุกจิกเกินเบอร์ได้ โดยที่เราไม่เสียความเป็นตัวของตัวเอง
สร้างพื้นที่หายใจให้ตัวเอง
เมื่อวันทำงานเต็มไปด้วยการรบกวนจากหัวหน้า การรักษา “ช่วงเวลาที่ไม่ถูกรบกวน” กลายเป็นสิ่งจำเป็น คุณอาจเริ่มจากการจองเวลาในปฏิทิน พร้อมเขียนบันทึกไว้ชัดเจน เช่น ในปฏิทินช่องวันพุธ เวลาสิบโมงเช้า ระบุว่า “เตรียมรายงานสำหรับวันศุกร์” หรือ “กำลังทำรายงานผลวิเคราะห์ข้อมูลลูกค้า” วิธีนี้ช่วยให้หัวหน้าเห็นภาพรวมงานของคุณ และลดความเป็นไปได้ที่เขาจะสั่งงานแทรก
หากหัวหน้าถาม และต้องการคำอธิบายเพิ่มเติม ให้ลองพูดตอบกลับในทางที่จะช่วยเสริม “ประสิทธิภาพ” การทำงาน เช่น “ช่วงเวลาดีที่สุดในการทำข้อมูลอัปเดตคือปลายสัปดาห์ เพื่อให้เราเห็นภาพรวมทั้งหมดได้ดี ถ้าส่งสรุปสั้นๆ ให้ทุกบ่ายวันพฤหัสจะดีไหมคะ?” การใช้ภาษาลักษณะนี้จะทำให้เขาเข้าใจว่า คุณไม่ได้ปฏิเสธ แต่กำลังสร้างระบบที่ทำให้งานมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ถ้าการพูดคุยตรงๆ ยังรู้สึกเสี่ยงเกินไป ลองเริ่มจากสัญญาณเงียบๆ เช่น ตั้งสถานะ “ไม่ว่าง” ระหว่างที่คุณต้องโฟกัสทำงานโดยไม่ต้องการให้อะไรรบกวน
แม้จะดูเล็กน้อย แต่เมื่อทำอย่างต่อเนื่อง ก็จะช่วยให้คุณค่อยๆ ยึดคืนความเป็นเจ้าของเวลาทำงานของตัวเอง
เก็บหลักฐานความแข็งแกร่งและจุดเด่นของผลงานไว้เงียบๆ
ในสภาพแวดล้อมที่ “คำตำหนิ” มาไว แต่ “คำชม” แทบไม่มี การสร้างระบบให้กำลังใจตัวเองจึงถือเป็นสิ่งจำเป็น โดยคุณอาจเริ่มเก็บผลงานที่น่าภูมิใจไว้ในโฟลเดอร์ส่วนตัว เช่น อีเมลชมเชย ความสำเร็จของโครงการ หรือสิ่งที่คุณทำสำเร็จแม้ไม่มีคำสั่งชัดเจน
สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แค่สำหรับใช้ในการโยกย้ายงานในอนาคต แต่ยังเป็นเหมือนหลักฐานว่า “คุณเก่งและแข็งแกร่ง” แม้จะอยู่ในสถานการณ์ยากๆ ลองจดบันทึกปัญหาที่ยากที่คุณเคยรับมือ เช่น การดูแลลูกค้ายากๆ หรือแก้ปัญหาที่ไม่ชัดเจน แล้วทบทวนว่า…คุณผ่านมันมาได้อย่างไร
นอกจากนี้ หมั่นดูแลจิตใจ สมอง และความคิดของตัวเองให้มั่นคง ด้วยการพักผ่อนระหว่างวัน เช่น เดินเล่น 5 นาทีหลังประชุมเครียดๆ หรือเริ่มวันใหม่ด้วยกิจกรรมที่ทำให้สงบด้วยการทำสมาธิ หรือหายใจลึกๆ 3 ครั้งก่อนตอบอีเมลที่จี้ใจดำ เป็นต้น วิธีเล็กๆ แบบนี้ช่วยให้คุณควบคุมอารมณ์ และยังคงเป็นคนที่มั่นคงภายใต้แรงกดดัน
มองหา “คนที่คุยได้” ที่อยู่นอกที่ทำงาน (อย่าคุยกับเพื่อนร่วมงาน)
คุณไม่จำเป็นต้องเผชิญกับสถานการณ์นี้ลำพัง แม้จะไม่สามารถระบายความอึดอัดต่างๆ ในที่ทำงานได้ แต่เราก็สามารถคุยกับเพื่อนเก่าหรือขอคำแนะนำจากรุ่นพี่ที่เคยทำงานมาด้วยกันในที่ทำงานเก่าได้ เช่น “เคยทำงานกับหัวหน้าที่ทำให้รู้สึกอึดอัดไหม?” หรืออาจเข้าร่วมกลุ่มพูดคุยในสายอาชีพ ที่เปิดใจเรื่องภาวะผู้นำและปัญหาในที่ทำงาน
การได้คุยกับคนที่เข้าใจสถานการณ์ แม้พวกเขาอาจจะแก้ปัญหาให้ไม่ได้ แต่อย่างน้อยก็ช่วยรับฟัง และอาจช่วยให้คุณตีความสถานการณ์ได้ต่างออกไป หรือเตือนว่าคุณผ่านมาไกลแค่ไหนแล้ว …ที่สำคัญคือ เครือข่ายแบบนี้อาจกลายเป็น “โอกาสหลบหนี” ในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นคำแนะนำ โปรเจกต์ใหม่ๆ ที่เขาชวนเราไปร่วมด้วย หรือการชวนไปทำงานด้วยกัน
วางแผนเตรียมตัวลาออกอย่างเงียบๆ
แม้คุณยังไม่พร้อมเปลี่ยนงานตอนนี้ แต่ควรใช้ช่วงเวลานี้เพื่อเตรียมตัวเอาไว้ เผื่อวันไหนอยากลาออกจากที่นี่จริงๆ จะได้มีงานรองรับต่อได้อย่างราบรื่น อาจเริ่มต้นจากการลงคอร์สออนไลน์เสริมทักษะที่ตัวเองยังขาดอยู่ หรือลงเวลาทุก 2 สัปดาห์เพื่ออัปเดตโปรไฟล์ในเว็บไซต์หางานให้อัปเดตล่าสุดเอาไว้เรื่อยๆ หรือติดตามองค์กรที่มีค่านิยมใกล้เคียงกับคุณ แล้วพาตัวเองไปร่วมงานหรือทำกิจกรรมที่องค์กรเหล่านั้นจัดขึ้น
หากเจอสถานการณ์ที่ได้รับคำสั่งคลุมเครือจากหัวหน้าจอมบงการ ลองใช้เป็นโอกาสในการฝึกสื่อสารแบบมีชั้นเชิง เช่น “ขออนุญาตสอบถามว่า งานสองอย่างนี้ อันไหนสำคัญกว่ากันคะ?” หรือ “อยากทราบว่าควรส่งก่อนหรือหลังประชุมประจำสัปดาห์?” ทักษะแบบนี้ไม่เพียงช่วยให้เอาตัวรอด แต่ยังเพิ่มความเป็นมืออาชีพและเตรียมตัวคุณให้พร้อมเป็นผู้นำในอนาคต
เปลี่ยนประสบการณ์แย่ๆ ให้กลายเป็นพลัง
การทำงานกับหัวหน้าที่เข้าใจผิดว่าการควบคุม คือ ความสามารถ หรือใช้ความกลัวเป็นเครื่องมือคุมทีม อาจบั่นทอนจิตใจคนในทีม แต่ทุกครั้งที่คุณรับมือด้วยความใจเย็น และเลือกตอบสนองด้วยความคิด แทนที่จะโต้กลับด้วยอารมณ์ นั่นคือการเสริมสร้าง “พลังในตัวคุณ”
นี่คือช่วงเวลาที่คุณได้ขัดเกลาคุณค่าภายในตัวเอง และเรียนรู้ว่าจะไม่เป็นผู้นำแบบที่คุณเจอ คุณกำลังค่อยๆ หล่อหลอมสไตล์การเป็นผู้นำในแบบของตัวเอง โดยใช้ประสบการณ์จริง ไม่ใช่แค่ทฤษฎี
คุณไม่จำเป็นต้อง “รัก” ที่ที่คุณอยู่ตอนนี้ แต่คุณสามารถ “เติบโต” ได้จากสถานการณ์ตรงนี้ ด้วยกลยุทธ์ที่ใช่ การยืนหยัดอย่างมีศักดิ์ศรี และการไม่ละสายตาจากอนาคตที่คุณปรารถนา แล้วในที่สุด..คุณจะก้าวออกจากช่วงเวลานี้ด้วยความมั่นคง กล้าแกร่ง และรู้จักตัวเองมากกว่าที่เคย
อ้างอิง: Forbes