พาณิชย์ เดินหน้าปราบนอมินี แม้การเมืองเปลี่ยน ลุยสอบ“นอมินี” 46,918 ราย ทั่วประเทศ
ร้อยตรีจักรา ยอดมณี รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะทำงานปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจที่ฝ่าฝืนกฎหมาย (ระดับจังหวัด) เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า ขณะนี้ แต่ละจังหวัดจัดตั้งคณะทำงานปราบปรามนอมินีระดับจังหวัด โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน เกือบครบ 76 จังหวัดแล้ว ซึ่งการประชุมครั้งนี้ เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจกรอบแนวทางการทำงานที่ชัดเจน ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
โดยหลังจากนี้ คณะทำงานระดับจังหวัด จะเดินหน้าตรวจสอบธุรกิจ ที่มีคนต่างด้าวถือหุ้นตั้งแต่ 0.001-49.99% จำนวน 46,918 ราย ตามที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้คัดกรองในเบื้องต้น ให้เสร็จตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดภายใน 1 เดือนถึง 1 ปี ขึ้นอยู่กับจำนวนนิติบุคคลที่มีอยู่ในแต่ละจังหวัด หากพบบริษัทใดเป็นนอมินี จะส่งหน่วยงานที่มีอำนาจในการสั่งฟ้อง ดำเนินการตามกฎหมายทันที
“ยืนยันว่า การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการหยุดปฏิบัติหน้าที่ของนายกรัฐมนตรี หรือการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.)จะไม่กระทบต่อการปราบปรามนอมินี และธุรกิจผิดกฎหมายแน่นอน เพราะเรื่องนี้เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล ซึ่งได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เร่งดำเนินการปราบปราม เพราะถือเป็นการทำลายธุรกิจไทย และเศรษฐกิจไทย”
ทั้งนี้ หากตรวจสอบแล้ว พบว่า บริษัทใดมีความเสี่ยง จะส่งหนังสือให้นิติบุคคล และกรรมการ ชี้แจงข้อเท็จจริง ภายใน 15 วัน เช่น แหล่งที่มาของเงินที่นำมาลงทุน ความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงของกรรมการไทยและต่างด้าว ฯลฯ หากนิ่งเฉย หรือไม่ชี้แจงใดๆ จะส่งหนังสือฉบับที่ 2 ให้ชี้แจงภายใน 10 วัน และหากยังนิ่งเฉย หรือไม่ชี้แจงอีก จะมีความผิด โดยจะถูกดำเนินคดีในข้อหาฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานภายใต้พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวพ.ศ.2542 และคำสั่งของสารวัตรบัญชีภาใต้พรบ.การบัญชี พศ.2543
ร้อยตรีจักรา กล่าวว่า ในการตรวจสอบบริษัทเสี่ยงของคณะทำงานระดับจังหวัด มีข้อดีคือ จะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายอยู่ในคณะทำงานด้วย ทำให้เอาผิดกับบริษัทเสี่ยงได้ตามกฎหมายของทุกหน่วยงาน เช่น หากพบว่า ต่างด้าวทำธุรกิจบริษัททัวร์ และมีไกด์โดยไม่ขออนุญาต นอกจากจะมีความผิดตามพ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 กรณีนอมินี (ให้คนไทยถือหุ้นแทนเพื่อให้ทำธุรกิจในไทยโดยเลี่ยงกฎหมาย) จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000-1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับรายวันอีกวันละ 10,000-50,000 บาทจนกว่าจะเลิกฝ่าฝืนแล้ว ยังจะมีโทษตามพ.ร.บ.ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ หรือกรณีทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ นอกจะผิดพ.ร.บ.ต่างด้าวแล้ว ยังจะผิดกฎหมายที่ดิน อีกด้วย
สำหรับกรอบระยะเวลาในการตรวจสอบ จังหวัดที่มีนิติบุคคลเสี่ยง 1-35 ราย มี 48 จังหวัด ตรวจสอบให้เสร็จภายใน 1 เดือน, นิติบุคคล 36-100 ราย ใน 11 จังหวัด ตรวจภายใน 2 เดือน, นิติบุคคล 101-400 ราย 6 จังหวัด ตรวจภายใน 3 เดือน, นิติบุคคล 401-900 ราย 4 จังหวัด ตรวจภายใน 6 เดือน, นิติบุคคล 901-6,500 ราย 3 จังหวัด ตรวจภายใน 6-9 เดือน และนิติบุคคล 6,501-15,000 ราย 4 จังหวัด ตรวจภายใน 1 ปี
ส่วนจังหวัดที่มีนิติบุคคลเสี่ยงสูงสุด 4 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี 14,264 ราย, กรุงเทพฯ 10,193 ราย, สุราษฎร์ธานี 7,096 ราย และภูเก็ต 6,682 ราย โดยจะเน้นตรวจสอบใน 6 กลุ่มธุรกิจเป้าหมาย ได้แก่ 1 ธุรกิจท่องเที่ยวและที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ ภัตตาคาร ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึก 2 ธุรกิจค้าที่ดิน อสังหาริมทรัพย์ 3 ธุรกิจ e-Commerce ขนส่ง และคลังสินค้า 4 ธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท 5 ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการเกษตร และ 6 ธุรกิจก่อสร้างทั่วไป