5 กลโกง มิจฉาชีพหลอกลวงมากที่สุด แนะวิธีป้องกันภัยไม่ตกเป็นเหยื่อ
จากสถิติที่รวบรวมโดย CardX พบว่า ปี 2568 จำนวนเคสที่คนไทยตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพลดลงจากปีก่อนหน้า 42% ซึ่งสะท้อนถึงความตื่นตัวและความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ ในการเผยแพร่ข้อมูลเตือนภัย แต่ในทางกลับกัน จำนวนเงินที่เหยื่อสูญเสียต่อรายกลับเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 9% จาก 83,800 บาทในปี 2567 เป็น 91,500 บาทในปี 2568 สะท้อนให้เห็นว่าแม้เหยื่อจะน้อยลง แต่มิจฉาชีพกลับเลือก “เหยื่อเป้าหมาย” ที่เสียหายหนักกว่าเดิม
5 กลโกง มิจฉาชีพหลอกลวงมากที่สุด
1.การแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อข่มขู่ให้โอนเงิน โดยขู่ว่าเหยื่อมีส่วนเกี่ยวข้องกับคดีร้ายแรง และหลอกให้โอนเงินเพื่อตรวจสอบความบริสุทธิ์
2.การแอบอ้างชักชวนให้ลงทุนผ่านช่องทางปลอม โดยอ้างผลตอบแทนสูงในเวลาเร็ว อย่างคริปโตเคอร์เรนซี หุ้น หรือ ฟอเร็กซ์ หรือการใช้บัญชีปลอม แอปปลอม เว็บไซต์ปลอม
3.การปลอมตัวเป็นหน่วยงานราชการอย่างการไฟฟ้า โดยแจ้งยอดค้างค่าไฟ ขู่ว่าจะตัดไฟทันที
4.การปลอมแปลงเป็นบริษัทขนส่งเพื่อส่งลิงก์หลอก โดยอ้างว่าคุณมีพัสดุตกค้างหรือมีปัญหา พร้อมส่งลิงก์ปลอมให้คลิกยืนยันหรือจ่ายค่าธรรมเนียม
5.การแอบอ้างเป็นกรมที่ดินพร้อมส่งข้อมูลปลอมเกี่ยวกับเอกสารสิทธิที่ดิน โดยขู่ว่าที่ดินมีปัญหาค้างชำระภาษีที่ดิน หรือหลอกให้โอนเงินเพื่อยืนยันเอกสารที่ดิน
ในบรรดากลโกงทั้งหมดที่พบ กลุ่ม “หลอกซื้อขายสินค้าและบริการออนไลน์” ยังคงเป็นกลโกงที่พบมากที่สุด คิดเป็น 57% ของคดีทั้งหมด โดยมิจฉาชีพมักอาศัยแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียสร้างเพจปลอม เสนอราคาถูกกว่าท้องตลาด และหายไปทันทีเมื่อได้รับเงิน รองลงมาคือการหลอกให้โอนเงินเพื่อรับรางวัลหรือสิทธิพิเศษ (13%) หลอกให้ทำงานพิเศษแต่ต้องโอนค่าสมัครก่อน (11%) หลอกให้กู้เงินโดยเรียกเก็บค่าธรรมเนียมล่วงหน้า (7%) และหลอกให้ลงทุนโดยอ้างชื่อคนดังหรือองค์กรที่น่าเชื่อถือ (6%)
การฉ้อโกงผ่าน “ข้อมูลบัตรเครดิต” ก็ยังคงพบในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการคัดลอกข้อมูลบัตรผ่านเครื่องรูดปลอม (Skimming) การส่ง SMS อ้างว่าคะแนนกำลังจะหมดอายุ การโทรหลอกว่าบัตรถูกล็อก การส่งอีเมลหรือข้อความปลอมในรูปแบบ Phishing การแฮกข้อมูลผ่าน Wi-Fi สาธารณะ และการแอบอ้างเป็นธนาคารโทรสอบถาม OTP เพื่อเข้าถึงบัญชี
วิธีป้องกันภัยจากมิจฉาชีพ
- ควรตั้งสติและไตร่ตรองทุกครั้งก่อนโอนเงิน
- อย่าหลงเชื่อข้อความเร่งด่วน
- ตรวจสอบแหล่งที่มาให้แน่ชัด
- ไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวหรือข้อมูลบัตรเครดิตกับบุคคลแปลกหน้า โดยเฉพาะหากอ้างว่าโทรมาจากหน่วยงานรัฐหรือธนาคาร ซึ่งไม่มีนโยบายสอบถามข้อมูลส่วนตัวผ่านโทรศัพท์หรือข้อความ
- การป้องกันตัวเองคือกุญแจสำคัญที่สุดในการลดความเสี่ยงจากภัยไซเบอร์
ขอบคุณข้อมูลจาก CardX