‘โตโยต้า’ งัดไม้เลี่ยง ‘ภาษีทรัมป์’ นำเข้ารถผลิตสหรัฐขายในญี่ปุ่น-เปิดโชว์รูมให้รถมะกัน
เว็บไซต์นิกเกอิ เอเชียรายงานว่า อุตสาหกรรมรถยนต์ญี่ปุ่นกำลังพิจารณาทุกทางเลือก ในการช่วยลดปัญหาความไม่สมดุลทางการค้าระหว่าง “ญี่ปุ่น” กับ“สหรัฐ” โดยหนึ่งในแนวคิดที่ถูกเสนอคือ โตโยต้า มอเตอร์อาจ “นำเข้ารถยนต์ที่ผลิตในสหรัฐกลับไปขายที่ญี่ปุ่น” หรือ “เสนอขายรถยนต์แบรนด์อเมริกันในเครือข่ายผู้จัดจำหน่ายของตนในญี่ปุ่น” ซึ่งตามปกติแล้ว ผู้จัดจำหน่ายรถยนต์ในญี่ปุ่นมักจะจำหน่ายรถยนต์เพียงยี่ห้อเดียว ไม่เหมือนกับผู้จัดจำหน่ายในสหรัฐที่มักจะจำหน่ายรถยนต์หลากหลายยี่ห้อหรือแบรนด์
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่โตโยต้าจะขายรถยนต์แบรนด์อเมริกันในญี่ปุ่น ย้อนกลับไปในทศวรรษ 1990 โตโยต้าเคยขายรถยนต์รุ่น Chevrolet Cavalier ที่ผลิตโดยเจเนอรัล มอเตอร์ส และรถยนต์ Toyota Scepter station wagon ที่ผลิตในสหรัฐ โดยผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นเอง
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ทรัมป์กล่าวว่า “ผมไม่แน่ใจว่าเราจะทำข้อตกลงกับญี่ปุ่นได้หรือไม่ พวกเขายากมาก” โดยอัตราภาษีเดิมสำหรับญี่ปุ่นอยู่ที่ 24%
อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรีอิชิบะของญี่ปุ่นยังไม่มีท่าทีอ่อนข้อ โดยกล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า “เราต้องปกป้องผลประโยชน์ของชาติ ญี่ปุ่นเป็นประเทศผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดในโลกในสหรัฐ นี่แตกต่างจากประเทศอื่น ๆ”
อิชิบะกล่าวเสริมว่า การค้าทวิภาคีควรสร้างขึ้นจาก “การลงทุนร่วมกัน” แทนที่จะเป็น “ภาษีร่วมกัน” โดยยกตัวอย่างแผนการของนิปปอน สตีล ที่จะลงทุนใน U.S. Steel ญี่ปุ่นยังคงยืนกรานเรียกร้องให้ได้รับการยกเว้นภาษีรถยนต์
ริวทาโร โคโน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำประเทศญี่ปุ่นของ BNP Paribas ระบุว่า ความกังวลที่ใหญ่ที่สุดคือ ภาษีรถยนต์ “ข้อเสนอใด ๆ ที่คงภาษีรถยนต์ไว้ที่ 25% หรือไม่มีโควตาภาษีต่ำ ไม่น่าจะเป็นที่ยอมรับของรัฐบาลญี่ปุ่น” เขากล่าว
“โตโยต้าผลิตรถยนต์จำนวนมากในสหรัฐ” ฮิโรกิ นากาจิมะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ของโตโยต้ากล่าว “หากปัญหาขาดดุลการค้าเป็นปัญหา เราได้อธิบายไปว่า เราจะไม่ตัดความเป็นไปได้ที่จะนำเข้ารถยนต์โตโยต้าที่ผลิตในสหรัฐกลับเข้ามาในญี่ปุ่น”
ที่ผ่านมา ทรัมป์แสดงความไม่พอใจเกี่ยวกับการจำกัดรถยนต์อเมริกันในญี่ปุ่น ตามข้อมูลของสมาคมผู้นำเข้ารถยนต์แห่งญี่ปุ่น โดยส่วนแบ่งของรถแบรนด์อเมริกันอย่าง Jeep อยู่ที่ 2.51% ของยอดรวมรถยนต์นำเข้าที่จดทะเบียนตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมิถุนายนปีนี้ในญี่ปุ่น ส่วน Cadillac อยู่ที่ 0.16% และ Chevrolet อยู่ที่ 0.11% ในช่วงเวลาเดียวกัน
แม้ว่าญี่ปุ่นจะไม่มีภาษีนำเข้ารถยนต์ตั้งแต่ปี 1978 แต่ทรัมป์ยังคงยืนกรานว่ามี “อุปสรรคที่ไม่ใช่ภาษี” ต่อรถยนต์อเมริกัน
ด้านนากาจิมะเน้นย้ำว่า การปรับตัวให้เข้ากับท้องถิ่นเป็นสิ่งจำเป็น หากแบรนด์ต่างชาติต้องการเจาะตลาดญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นขนาดของรถยนต์ โดยญี่ปุ่นมีถนนแคบจำนวนมาก มาตรฐานความปลอดภัย ซึ่งอุบัติเหตุบนท้องถนนในญี่ปุ่น มักเกี่ยวข้องกับการที่รถชนคนเดินเท้ามากกว่าการที่รถชนกันเอง ดังนั้น กฎระเบียบผลิตภัณฑ์ของญี่ปุ่น จึงมักมุ่งเน้นไปที่การออกแบบรถยนต์เพื่อลดอันตรายต่อคนเดินเท้าในอุบัติเหตุทางถนน มากกว่าการออกแบบเพื่อปกป้องผู้ขับขี่
สุดท้าย คือระบบเบรกอัตโนมัติ รถยนต์ในญี่ปุ่นจำเป็นต้องมีระบบเบรกอัตโนมัติที่ทำงานด้วยเซ็นเซอร์ หลังจากที่เกิดเหตุการณ์พุ่งชนเพิ่มขึ้น จากกรณีที่ผู้ขับขี่สูงอายุ เหยียบคันเร่งผิดพลาดแทนที่จะเหยียบเบรก
อ้างอิง: nikkei