กมธ.งบ 69 มติเอกฉันท์ปรับลดงบประมาณสภา 178 ล้าน หวั่นผิดมาตรา 144 หลังศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องรองประธานสภา
วันนี้ (18 กรกฎาคม) ในการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2569 สภาผู้แทนราษฎร ที่มี จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ในฐานะรองประธานกรรมาธิการ ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม วาระพิจารณางบประมาณของหน่วยงานของรัฐสภา
ก่อนการพิจารณา จุลพันธ์ได้แจ้งต่อที่ประชุมว่า ในส่วนของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้มี สส. ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ กรณี สส. มีส่วนในการเสนอแปรญัตติหรือการกระทำการใดๆ ที่มีส่วนในทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2569 และศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณา เมื่อวันที่ 17 กรกฎาคมที่ผ่านมา
จุลพันธ์ระบุว่า เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในการพิจารณางบประมาณปี 2569 ของสภาฯ ระหว่างที่ศาลรัฐธรรมนูญยังไม่มีคำวินิจฉัยดังกล่าว และเพื่อไม่ให้เป็นการสุ่มเสี่ยงต่อการกระทำที่อาจจะฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 144 จึงขอให้ที่ประชุมพิจารณาปรับลดงบประมาณในส่วนของสำนักงานเลขาธิการสภาฯ ซึ่งเป็นรายการภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์และเสริมสร้างการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข, ผลผลิต การส่งเสริมการประชาสัมพันธ์เพื่อพัฒนาระบอบประชาธิปไตย และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน งบเงินอุดหนุน เงินอุดหนุนทั่วไป
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน จำนวน 178 ล้านบาท ประกอบด้วย 3 รายการ ได้แก่
1.โครงการพัฒนาศักยภาพเยาวชนและประชาชนในการปกครองระบอบประชาธิปไตย
2.โครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และ
3.โครงการส่งเสริมบทบาทของเสรีทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
จุลพันธ์กล่าวว่า โดยสำนักงบประมาณได้มีหนังสือแจ้งมายังกรรมาธ การ จึงขอปรึกษาหารือกับกรรมาธิการทุกท่าน
ด้าน ภัณฑิล น่วมเจิม สส.กทม. พรรคประชาชน ในฐานะกรรมาธิการ หารือว่า ตนเองในฐานะที่เป็นผู้ร้องศาลรัฐธรรมนูญ มีความกังวลว่าหากเราพิจารณาปรับลดงบประมาณลงในวันนี้ จะมีผลต่อการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 1 สิงหาคมนี้หรือไม่ เช่นเดียวกับ พริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะกรรมาธิการ หารือว่า เพื่อให้เพื่อนสมาชิกที่ร้องศาลรัฐธรรมนูญนั้นมีความสบายใจ อย่างน้อยให้สำนักกฎหมายได้มาช่วยอธิบายและยืนยันได้หรือไม่ หากมีการปรับลดในวันนี้แล้ว จะไม่มีผลต่อสถานะคำร้องที่ศาลรัฐธรรมนูญรับไป
ขณะที่ ว่าที่ ร.ต.ต.อาพัทธ์ สุขะนันท์ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ชี้แจงว่า มีคำร้องที่เกิดขึ้นใน 2 ช่วงของกรรมาธิการงบประมาณ ปี 2568 โดยทั้ง 3 โครงการนั้นเกิดจากการแปรญัตติเพิ่มเติมของสำนักงานเลขาธิการสภาฯ ซึ่งได้มีการดำเนินการในงบประมาณปี 2568 สำหรับคำร้องในปี 2568 นั้นศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้รับคำร้อง ส่วนกรณีของปี 2569 นั้น สำนักงานเลขาธิการสภาฯ เสนอไปตามกระบวนการตามปกติ คือต่อเนื่องจากโครงการที่เคยได้รับ
เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรกล่าวต่อไปว่า กระบวนการปี 2569 ไม่ได้เกิดในชั้นกรรมาธิการสามัญตอนเริ่มพิจารณาร่าง แต่เป็นกระบวนการที่ร้องว่าสำนักงานฯ เสนองบประมาณทั้ง 3 โครงการเป็นกระบวนการที่ฝ่าฝืนต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 144 หรือไม่ เกิดตั้งแต่ตอนที่สำนักงานฯ มีคำขอไป ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้แจ้งให้ พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ไปรับคำร้อง เพื่อชี้แจง รวมถึงศาลรัฐธรรมนูญได้ขอเอกสารเพิ่มเติม ซึ่งเราได้ส่งไปตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว ก่อนที่ศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย
อย่างไรก็ตาม กรรมาธิการยังมีการถกเถียงกันต่อถึงกรณีที่หากมีการลงมติแล้ว จะมีผลต่อสถานะคำร้องของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ ทำให้ ว่าที่ ร.ต.ต.อาพัทธ์ กล่าวว่า ในฐานะเลขาฯ ขอถอนทั้ง 3 โครงการออกไป พวกท่านจะได้เดินหน้าต่อไม่ต้องมาเสียเวลา โดยจะทำหนังสือขอถอนโครงการตามมาอีกครั้ง
ทำให้จุลพันธ์วินิจฉัยว่า ขอเดินหน้าในการลงมติว่าจะปรับลดงบประมาณในส่วนนี้หรือไม่
จากนั้นที่ประชุมกมธ.ฯ ลงมติ เห็นด้วยให้มีการปรับลด 45 เสียง ไม่มีเสียงไม่เห็นด้วย งดออกเสียง 2 เสียง และไม่ประสงค์ลงคะแนน 1 เสียง ถือว่าที่ประชุมเห็นด้วยกับการปรับลดงบประมาณจำนวน 178 ล้านบาทของสำนักเลขาธิการสภาฯ