ตลาดเด็กหลอดแก้ว โตแรง! แม้เศรษฐกิจซบ ต่างชาติแห่รักษาในไทย
(วันนี้ 16 ก.ค.68) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เผย ตลาดบริการรักษาภาวะมีบุตรยากของไทยในปี 2568 คาดว่าจะมีมูลค่า 6.1 พันล้านบาท ขยายตัว 3.1% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แต่เป็นการเติบโตที่ ชะลอลง จากระดับ 4.3% ในปี 2567 สะท้อนผลกระทบจาก ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และ กำลังซื้อในประเทศที่ยังอ่อนแอ ขณะเดียวกันจำนวนผู้รับบริการชาวต่างชาติก็เติบโตน้อยลงตามภาพรวมเศรษฐกิจโลก
ตลาดแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มหลัก
- ลูกค้าชาวไทย สัดส่วนราว 70% ของตลาดรวม
- ลูกค้าชาวต่างชาติ ราว 30%
ตลาดคนไทย เติบโตตามเทรนด์สังคมสูงวัย – ICSI เป็นทางเลือกหลัก ปี 2568 คาดว่ามูลค่าตลาดรักษาภาวะมีบุตรยากสำหรับคนไทยจะอยู่ที่ 3.38 พันล้านบาท ขยายตัว 2.8% โดยมีแรงหนุนจาก
- ค่านิยมมีบุตรช้าลง และอายุผู้หญิงที่คลอดลูกคนแรกเฉลี่ยอยู่ที่ 30 ปีขึ้นไป
- ปัญหาภาวะเจริญพันธุ์ซับซ้อนขึ้น โดยเฉพาะในฝ่ายชาย
- ความนิยมใช้ ICSI (Intracytoplasmic Sperm Injection) ที่โตเฉลี่ย 7.2% ต่อปี (CAGR 2565–2568)
เนื่องจากให้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าการทำ IVF หรือ IUI แบบทั่วไป ในทางกลับกัน บริการอย่าง IUI กลับได้รับความนิยมน้อยลง คาดว่าปีนี้จะเหลือสัดส่วนเพียง 28% ของรอบการรักษาทั้งหมด
ตลาดต่างชาติ รายได้สูงกว่า 1 เท่าตัว – ขับเคลื่อนโดย Fertility Tourism
ด้านตลาดต่างชาติ คาดว่ามีมูลค่า 2.75 พันล้านบาท ขยายตัว 3.5% โดยยังได้แรงหนุนจากกลุ่มผู้รับบริการจาก จีน อินเดีย และอาเซียน ที่มองเห็นไทยเป็นจุดหมายหลักในการรักษา เพราะมีจุดเด่นด้าน
- ราคาถูกกว่า คู่แข่ง : IVF ในไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 6,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่ำกว่าสิงคโปร์และมาเลเซีย
- คุณภาพบริการระดับสากล : หลายสถานพยาบาลผ่านมาตรฐาน Joint Commission International (JCI)
- บริการครบวงจร : ตั้งแต่ล่าม โรงแรม รถรับส่ง ไปจนถึง Medical Treatment Visa
แม้ว่าภาวะเศรษฐกิจจีนจะยังชะลอ และอาจกระทบลูกค้าบางส่วน แต่ภาพรวมตลาดต่างชาติยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ที่สำคัญ ค่าใช้จ่ายของชาวต่างชาติมัก สูงกว่าคนไทยกว่า 1 เท่าตัว ทำให้เป็นกลุ่มเป้าหมายที่ธุรกิจในไทยต้องเร่งลงทุนและทำตลาด
แนวโน้มตลาดโลก โตแรงจากสังคมสูงวัย IVF ครองตลาด 80%
ตลาดโลกยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ปี 2568 คาดว่ามีมูลค่าถึง 2.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 8 แสนล้านบาท เติบโต 6.8% จากปีก่อน โดยบริการ เด็กหลอดแก้ว (IVF) ยังคงเป็นตัวหลักของตลาด คิดเป็นสัดส่วนกว่า 80% ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก คือหนึ่งในตลาดสำคัญ โดยคาดว่าส่วนแบ่งของ IVF จะเพิ่มจาก 22% (ปี 2563) ไปสู่ 26% ในปี 2573 จากการเข้าสู่สังคมสูงวัยของหลายประเทศในภูมิภาค โอกาสทางธุรกิจ ปรับตัวรับกลุ่มใหม่–เทคโนโลยีใหม่สร้างมูลค่าเพิ่ม
อนาคตของธุรกิจนี้ยังมีโอกาสเติบโตจากหลายปัจจัย
- นโยบายสนับสนุนของจีน เช่น เงินอุดหนุนเลี้ยงลูก อาจทำให้ชาวจีนมาใช้บริการในไทยเพิ่ง-
- กฎหมายสมรสเท่าเทียมในไทย จะเปิดโอกาสให้คู่ LGBTQ+ เข้าถึงบริการได้มากขึ้น
- กฎหมายอุ้มบุญที่กำลังปรับปรุง หากเปิดให้คู่เพศเดียวกันและต่างชาติใช้บริการ จะขยายฐานลูกค้าได้อีกมาก
- เทรนด์ฝากไข่ / แช่ไข่ กำลังมาแรงทั่วโลก มูลค่าตลาดโตเฉลี่ยปีละ 8%
ความเสี่ยงที่ต้องจับตา
- การแข่งขันรุนแรง โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล
- ขาดแคลนบุคลากรเฉพาะทาง เช่น นักวิทยาศาสตร์เพาะเลี้ยงตัวอ่อน
- การเปลี่ยนนโยบายในประเทศลูกค้า เช่น การที่จีนขยายการอุดหนุนค่ารักษาในประเทศ อาจลดความจำเป็นในการมารักษาที่ไทย
- เทคโนโลยีใหม่มาเร็ว เช่น AI คัดเลือกตัวอ่อน หรือ IVG ที่อาจเปลี่ยนสมดุลของธุรกิจ
ตลาดรักษาภาวะมีบุตรยากของไทยยังเติบโต แต่ช้าลงจากภาวะเศรษฐกิจ จุดแข็งยังอยู่ที่เทคโนโลยีทันสมัย ความเชื่อมั่นในบริการ และการเป็นศูนย์กลาง Fertility Tourism ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับตัว รับเทรนด์ใหม่ สร้างความได้เปรียบในการแข่งขันทั้งในและต่างประเทศ