”ภาษีทรัมป์” เล่นงานคู่ค้า หรือ ย้อนศรสหรัฐฯ? จีนโตสวน 5.4%
ท่ามกลางการกลับมาของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ในวาระที่สอง เส้นทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกากลับเต็มไปด้วยความผันผวน โดยเฉพาะจากนโยบาย "ภาษีนำเข้า" ที่ทรัมป์ใช้เป็นอาวุธหลักในเวทีการค้าโลก โดยมุ่งเป้าไปยังคู่แข่งสำคัญอย่างจีน ด้วยอัตราภาษีที่พุ่งสูงถึง 141% ในบางรายการ ผู้สนับสนุนทรัมป์บางส่วนมองว่านี่เป็นยุทธศาสตร์ "อเมริกาต้องมาก่อน" ที่จะดึงการผลิตกลับบ้านและปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ แต่เมื่อมองผ่านตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุด คำถามสำคัญที่กำลังชัดเจนขึ้น คือ นโยบายภาษีนี้กำลังทำร้ายคู่ค้า หรือย้อนศรกลับมาทำร้ายสหรัฐฯ เองกันแน่?
เริ่มต้นที่ฝั่งสหรัฐฯ GDP ไตรมาสแรกของปี 2025 หดตัวลง -0.5% ต่อปี ซึ่งถือเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 3 ปี แม้จะมีคำอธิบายว่าการเร่งนำเข้าสินค้าก่อนภาษีจะมีผลบังคับใช้เป็นปัจจัยชั่วคราว แต่ตัวเลขนี้ก็สะท้อนความตึงตัวของเศรษฐกิจโดยตรง นอกจากนี้ ดัชนีค้าปลีกเริ่มอ่อนแรง ยอดการสร้างบ้านร่วงต่ำสุดตั้งแต่กลางปี 2563 และปัญหาขาดแคลนแรงงานจากนโยบายปราบปรามผู้อพยพยิ่งตอกย้ำความกดดันในตลาดแรงงาน
ในขณะที่ตัวเลขเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับ 2.4% และอัตราการว่างงานยังคงต่ำ แต่แนวโน้มการจ้างงานเริ่มชะลอ โดยเฉพาะในภาคการผลิตที่มีการปลดพนักงานแล้วบางส่วน รวมถึงรัฐบาลกลางที่ตัดลดตำแหน่งงานถึง 22,000 ตำแหน่งในเดือนพฤษภาคม ส่วนตลาดหุ้นแม้เคยฟื้นตัวจากความหวังเรื่องการชะลอภาษี แต่ก็ยังไม่สามารถกลับมามั่นคงได้อย่างแท้จริง ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์ก็อ่อนค่าลงต่อเนื่องจากความกังวลเรื่องหนี้ภาครัฐและนโยบายการเงินที่อาจผ่อนคลายเกินไป
ในอีกฟากหนึ่งของมหาสมุทรแปซิฟิก เศรษฐกิจจีนดูจะทนแรงสั่นสะเทือนจากภาษีของทรัมป์ได้ดีกว่าที่คาดไว้ GDP ของจีนในไตรมาสแรกของปี 2568 ขยายตัว 5.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ และเหนือกว่ากรอบเป้าหมายที่รัฐบาลตั้งไว้ที่ "ประมาณ 5%" แม้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะยังต่ำ แต่ยอดค้าปลีกก็เริ่มฟื้นตัว เช่นเดียวกับดัชนีภาคการผลิตที่ขยับขึ้นเหนือระดับ 50 สะท้อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจอีกครั้งหนึ่ง
ปฏิเสธไม่ได้ว่าความสามารถของรัฐบาลจีนในการ "ควบคุม" เป้าหมายการเติบโตทางเศรษฐกิจยังคงน่าทึ่ง แม้จะถูกตั้งคำถามเรื่องความน่าเชื่อถือของตัวเลข แต่กลไกการอัดฉีดเศรษฐกิจผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานก็ยังทำหน้าที่ได้ดี ขณะที่นักเศรษฐศาสตร์อย่าง Citigroup ถึงกับต้องปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ของจีนประจำปี 2568 จากเดิม 4.2% ขึ้นมาอยู่ที่ 5% เต็มๆ แม้จะอยู่ท่ามกลาง “สงครามการค้า” กับสหรัฐฯ
เมื่อพิจารณาจากข้อมูลทั้งหมด ดูเหมือนว่าสมมติฐานที่ว่า "นโยบายภาษีนำเข้าอาจย้อนกลับมาทำร้ายเศรษฐกิจสหรัฐฯ เอง" จะมีน้ำหนักมากขึ้นกว่าที่เคย เชิงโครงสร้างแล้ว สหรัฐฯ คือประเทศที่พึ่งพาการบริโภคภายในอย่างสูง การขึ้นภาษีอาจกระทบต้นทุนสินค้าโดยตรง ทำให้ราคาสูงขึ้นและลดทอนกำลังซื้อ ขณะที่จีนยังคงมีเครื่องมือในมือ เช่น นโยบายกระตุ้นภายในและการบริหารจัดการเป้าหมายเศรษฐกิจจากส่วนกลางที่สามารถบรรเทาผลกระทบได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า
ในขณะที่เป้าหมายของทรัมป์คือการ "ปลดปล่อย" สหรัฐฯ จากความเหลื่อมล้ำในการค้าโลก แต่ผลลัพธ์ในทางปฏิบัติอาจกำลังกลายเป็นการขังเศรษฐกิจของตัวเองไว้ภายใต้แรงกดดันจากต้นทุนและความไม่แน่นอน ในเกมที่เดิมพันด้วยอัตราภาษี สหรัฐฯ ดูเหมือนกำลังพ่ายแพ้ในสนามรบที่ตัวเองเป็นคนจุดไฟขึ้นมาเอง
อ้างอิง: The Economist, The Economist