กรมอุตุฯอัปเดตเส้นทางพายุลูกใหม่ พายุโซนร้อน"ดานัส"
วันที่ 5 กรกฎาคม 2568 กรมอุตุนิยมวิทยา อัปเดตสถานการณ์พายุหมุนเขตร้อนล่าสุด โดยในช่วงเช้าวันนี้พายุดีเปรสชันบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน ได้ทวีกำลังขึ้นเป็นพายุโซนร้อน "ดานัส (DANAS) " โดยพายุลูกนี้ ถือเป็นพายุลูกที่ 4 จากการนับจำนวนพายุของRSMC โตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งคำว่า“ดานัส(DANAS)”หมายถึงประสบการณ์และความรู้สึก ตั้งชื่อโดยประเทศฟิลิปปินส์
สำหรับพายุโซนร้อนดานัส กำลังเคลื่อนตัวทางตะวันตกค่อนไปทางทิศเหนืออย่างช้าๆ (ทิศทางไปเกาะไต้หวัน) ไม่มีทิศทางเคลื่อนเข้าสู่ระเทศไทย จึงไม่มีผลกระทบกับประเทศไทย แต่อาจจะทำให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทยมีกำลังแรงขึ้น คลื่นลมบริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนใกล้บริเวณศูนย์กลางพายุมีกำลังแรง
กรมอุตุนิยมวิทยา ขอแจ้งเตือนผู้ที่จะเดินทางไปประเทศจีนทางด้านตะวันออกและไต้หวัน ในช่วงวันที่ 6 - 8 ก.ค.68 ต้องตรวจสอบสภาพอากาศก่อนออกเดินทาง
อนึ่งเมื่อเวลา 11.00 น. ของวันนี้ (5 ก.ค.68) กรมอุตุนิยมวิทยา ได้ออกประกาศฉบับที่ 5 พายุโซนร้อน “ดานัส” บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบน มีศูนย์กลางอยู่ที่ละติจูด 20.3 องศาเหนือ ลองจิจูด 117.4 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 111 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พายุนี้เคลื่อนตัวไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนืออย่างช้าๆ คาดว่าจะเข้าใกล้ไต้หวัน ในช่วงวันที่ 7–9 กรกฏาคม 2568 โดยไม่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อลักษณะอากาศของประเทศไทย แต่จะทำให้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่ปกคลุมประเทศไทยมีกำลังแรงขึ้น และพายุนี้ไม่เคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย
ทั้งนี้กรมอุตุนิยมวิทยาจะออกประกาศฉบับต่อไปในวันที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2568 เวลา 17.00 น.
ขณะที่สภาพอากาศประเทศไทยในช่วงนี้ มีฝนฟ้าคะนองกับมีฝนตกหนักบางแห่ง ประชาชนสามารถตรวจสอบพยากรณ์อากาศล่วงหน้า 15 วันตั้งแต่วันนี้ -18 ก.ค.68 ดังนี้
วันที่ 5- 7 ก.ค.68
- การกระจายของฝนยังมีต่อเนื่องโดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือตอนบน ภาคอีสานตอนบนและด้านตะวันออก ส่วนอีสานตอนล่าง ภาคกลาง (กทม.ปริมณฑล) และภาคตะวันออก ยังมีฝนตกบางพื้นที่ การกระจายยังไม่สม่ำเสมอ มีทั้งเพิ่มขึ้นและลดลง
- พื้นที่ที่ยังต้องระวังฝนตกสะสมคือในบริเวณภาคเหนือตอนบน (ตาก แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน) ภาคอีสานตอนบน (เลย หนองบัวลำภู หนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม อุบลราชธานี) เป็นพื้นที่ใกล้ร่องมรสุม ซึ่งยังมีความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก
- เนื่องจากช่วงที่ผ่านมาฝนในบริเวณภาคเหนือ ภาคอีสานตอนบนยังตกต่อเนื่อง ทำให้ดินอิ่มตัว แม้ปริมาณฝนปานกลางก็อาจทำให้เกิดน้ำท่วมขังและน้ำป่าไหลหลากได้ ยังเป็นปรากฎการณ์ปกติในช่วงฤดูฝน บางพื้นที่ฝนมาก บางพื้นที่ฝนน้อย ร่องมรสุมจะสวิงขึ้นลงบริเวณประเทศไทยตอนบน มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงพัดปกคลุมเบาและแรงสลับกันไป
- ส่วนภาคใต้ฝั่งอันดามัน (ระนอง พังงา ภูเก็ต) และภาคตะวันออก (ด้านรับมรสุม) จ.จันทบุรี ตราด ยังมีฝนเพิ่มขึ้นบ้างยังต้องระวังฝนตกหนัก
วันที่ 8 - 9 ก.ค.68
- ฝนยังน้อยในพื้นที่ภาคกลาง แต่ฝนยังเกิดขึ้นส่วนใหญ่ในพื้นที่บริเวณภาคเหนือ ภาคอีสานตอนบน ยังต้องระวังฝนสะสมในพื้นที่ภาคเหนือภาคอีสานตอนบน
วันที่ 10 -12 ก.ค.68
- ประเทศไทยตอนบนมีฝนเพิ่มขึ้น จากหย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณอ่าวตังเกี๋ยและเวียดนามตอนบน และมรสุมที่ยังคงพัดปกคลุม ต่อเนื่องยังต้องติดตาม
วันที่13 - 18 ก.ค.68
- ฝนน้อยลงในบริเวณประเทศไทยตอนบน แต่ยังมีฝนตกหนักบางพื้นที่ในภาคเหนือและภาคอีสานตอนบน