ความภูมิใจที่หดหายของชาวอเมริกัน
รายงานออกมาแล้ว สำหรับ ผลการสำรวจความคิดเห็น หรือการทำโพลล์ ของประชาชนชาวสหรัฐอเมริกา ครั้งล่าสุด เมื่อช่วงเดือนมิถุนายนที่เพิ่งผ่านพ้นมา เกี่ยวกับ “ความภาคภูมิใจในความเป็นอเมริกัน” ของพวกเขา ซึ่งดำเนินการสำรวจโดย “แกลลัพ อิงค์” บริษัทด้านการวิเคราะห์และการให้คำปรึกษา อันมีที่ตั้งอยู่ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมืองหลวงของสหรัฐฯ
โดย “แกลลัปโพลล์” ระบุว่า กลุ่มตัวอย่างที่ตอบแบบสอบถามว่า “มีความภาคภูมิใจที่ได้เป็นคนอเมริกัน” ลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ เมื่อเปรียบเทียบกับการสำรวจความคิดเห็นครั้งก่อนๆ
ตัวเลขที่ออกมา เผยว่า ร้อยละ 58 ตอบว่า ภาคภูมิใจ “เป็นอย่างยิ่งยวด (Extremely)”
ส่วนผู้ที่ภาคภูมิใจในระดับ “อย่างมาก (Very)” มีจำนวนที่ร้อยละ 41
ขณะที่ ผู้ที่ภาคภูมิใจแบบธรรมดาถึงอย่างมาก มีจำนวนร้อยละ 17
ผลที่ออกมาในปี 2025 (พ.ศ. 2568) ต้องถือว่า ต่ำกว่าการสำรวจเมื่อปีที่แล้ว ถึง 9 จุด สำหรับกลุ่มตัวอย่างที่ตอบแบบสอบถามว่า มีความภาคภูมิใจที่ได้เป็นคนอเมริกันอย่างยิ่งยวด (Extremely) ซึ่งในการสำรวจเมื่อปี 2024 (พ.ศ. 2567) ที่ผ่านมา ตัวเลขอยู่ที่ร้อยละ 67
จะเรียกว่า เป็นตัวเลขที่ต่ำกว่าร้อยละ 60 หรือต่ำกว่า 60 จุด เป็นครั้งแรกกของการสำรวจโดยแกลลัพโพลล์ก็ว่าได้
ในความตกต่ำที่ปรากฏ แม้กระทั่งในกลุ่มตัวอย่างที่ภาคภูมิใจแบบธรรมดาถึงอย่างมาก ก็ลดต่ำลงจากการสำรวจครั้งก่อน โดยปีที่แล้วมีตัวเลขอยู่ที่ร้อยละ 26 มากกว่าปีนี้ที่ร้อยละ 17 ถึงจำนวน 9 จุดเช่นกัน
ทั้งนี้ เมื่อกล่าวถึงตัวเลขความภาคภูมิใจที่ได้เป็นคนอเมริกัน ที่เคยพุ่งทะยานขึ้นไปสูงสุดจากการสำรวจของแกลลัพโพลล์ ก็เคยพุ่งทะลุเกินกว่า 90 จุด หรือร้อยละ 90 ก็เคยมีมาแล้ว โดยเป็นการสำรวจโพลล์เมื่อปี 2002 (พ.ศ. 2545) ซึ่งเป็นช่วงหลังเกิดเหตุการณ์วินาศกรรมสะท้านโลก นั่นคือ “ไนน์วันวัน” หรือ “11 กันยาฯ” ที่เครือข่ายขบวนการก่อการร้ายอิสลามหัวรุนแรงอัลกออิดะห์ จี้เครื่องบินโดยสารพุ่งชนสถานที่สำคัญต่างๆ ของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2001 (พ.ศ. 2544)
โดยภายหลังเกิดเหตุการณ์ขบวนการก่อการร้ายวินาศกรรม ได้สำรวจความคิดเห็นของชาวอเมริกัน ในปี 2002 ปรากฏว่า ตัวเลขความภาคภูมิใจพุ่งสูงถึงร้อยละ 91 แซงหน้ามากกว่าตัวเลขที่สำรวจเมื่อช่วงกลางปี 2001 ก่อนเกิดเหตุการณ์วินาศกรรมเล็กน้อย ที่ได้ร้อยละ 87
เหล่านักวิเคราะห์ก็ตีความว่า น่าจะเป็นการสำแดงพลัง ร่วมแรง ร่วมใจ ของประชาชนชาวอเมริกัน ในการต่อต้านขบวนการก่อการร้าย ไม่ได้หวาดกลัวหวั่นเกรงภัยก่อการร้ายอย่างที่ใครๆ คาดคิด
สำหรับ การสำรวจแกลลัพโพลล์ในปีล่าสุดนี้ ยังพบด้วยว่า กลุ่มตัวอย่างที่ตอบแบบสอบถามว่า มีความภาคภูมิใจในระดับปานกลางมีจำนวนร้อยละ 19 ภาคภูมิใจเพียงเล็กน้อยมีจำนวนร้อยละ 11 และไม่รู้สึกภาคภูมิใจเลยมีจำนวนร้อยละ 9
ในการสำรวจแยกย่อยไปในกลุ่มตัวอย่างต่างๆ ของแกลลัพโพลล์ ระบุว่า กลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครต อันเป็นพรรคฝ่ายค้านของสหรัฐฯ ในปัจจุบัน ก็พบว่า มีความภาคภูมิใจลดลงถึงเกือบครึ่งต่อครึ่ง เมื่อเปรียบเทียบจากการสำรวจเมื่อปีที่แล้ว ซึ่งทิ้งระยะเวลาห่างกันเพียงปีเดียวเท่านั้น หลังจากพรรคการเมืองที่พวกเขาสนับสนุนพ่ายแพ้เลือกตั้งอย่างหมดรูปต่อพรรครีพับลิกัน ฝั่งตรงข้าม
โดยในการสำรวจปีนี้ พบว่า พลพรรคเดโมแครต มีความภาคภูมิใจในความเป็นอเมริกันเหลือเพียงร้อยละ 36 เท่านั้น เปรียบเทียบกับปีที่แล้วที่พรรคของพวกเขาเป็นรัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ที่มีตัวเลขความภาคภูมิใจสูงถึงร้อยละ 62
ทั้งนี้ ตัวเลขที่ลดต่ำลงของทางฟากพลพรรคเดโมแครตนั้น ก็ยังถือว่า ต่ำกว่าในการสำรวจของแกลลัพโพลล์ ในช่วงวิกฤติการแพร่ระบาดของโรคโคโรนาไวรัส 2019 หรือโควิด-19 เมื่อปี 2020 (พ.ศ. 2563) ด้วยซ้ำ ที่ในครั้งนั้นตัวเลขลดต่ำลงไปอยู่ที่ร้อยละ 42
ตัวเลขของกลุ่มที่สนับสนุนพรรคเดโมแครตข้างต้น ก็ต้องบอกว่า สวนทางแตกต่างจากทางฟากฝั่งของกลุ่มชาวอเมริกันที่สนับสนุนพรรครีพับลิกัน ที่ปัจจุบันเป็นรัฐบาลภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งปรากฏว่า ตัวเลขของความภาคภูมิใจสูงทะลุเกินกว่า 90 จุด ไปอยู่ที่ร้อยละ 92 เลยทีเดียว เพิ่มขึ้นจากการสำรวจเมื่อปีที่แล้วที่ได้ตัวเลขร้อยละ 85 หรือ 7 จุดด้วยกัน
ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่เป็นอิสระ คือ ไม่ฝักใฝ่พรรคการเมืองใดเป็นพิเศษ ปรากฎว่า มีตัวเลขลดต่ำลงเช่นกันโดยในการสำรวจความคิดเห็นในปีนี้ ได้ตัวเลขความภาคภูมิใจที่จำนวนร้อยละ 53 ลดลงจากการสำรวจเมื่อปีที่แล้วถึง 7 จุด คือ ร้อยละ 60
พร้อมกันนี้ ทางแกลลัพโพลล์ ยังได้สำรวจความคิดเห็นในกลุ่มตัวอย่างของชาวอเมริกันในช่วงวัยต่างๆ อีกด้วย ซึ่งได้ผลออกมาว่า ส่วนใหญ่ถ้าเป็นชาวอเมริกันที่สูงอายุ ก็จะได้ตัวเลขความภาคภูมิใจที่ค่อนข้างสูง แตกต่างชาวอเมริกันคนรุ่นใหม่ ที่ตัวเลขลดลงจากก่อนหน้า
โดยมีรายละเอียดแต่ละช่วงวัย ได้แก่
กลุ่มตัวอย่างที่เป็นชาวอเมริกัน ยุคเจน ซี หรือแซด (Gen Z) ซึ่งเกิดระหว่างปี 1997 – 2009 (พ.ศ. 2540 – 2552) ได้ตัวเลขความภาคภูมิใจอยู่ที่ร้อยละ 41
กลุ่มชาวอเมริกันในนรุ่นยุคมิลเลนเนียล หรือเจนวาย (Gen Y) ซึ่งเกิดระหว่างปี 1984 – 1996 (พ.ศ. 2527 – 2539) ได้ตัวเลขที่ร้อยละ 58
กลุ่มชาวอเมริกันในรุ่นเจน เอ็กซ์ (Gen X) ซึ่งเกิดระหว่างปี 1965 – 1979 (พ.ศ. 2508 – 2522) ได้ตัวเลขที่ร้อยละ 71
กลุ่มชาวอเมริกันในรุ่นยุคเบบี้บูม ซึ่งเกิดระหว่างปี 1946 – 1964 (พ.ศ. 2489 – 2507) ได้ตัวเลขที่ร้อยละ 75
และสุดท้ายกลุ่มคนรุ่นเงียบ (Silent Genration) หรือกลุ่มคนรุ่นดั้งเดิม ซึ่งเกิดระหว่างปี 1928 – 1945 (พ.ศ. 2471 – 2488) ได้ตัวเลขสูงถึงร้อยละ 83