สมช. ชี้แจงหลักเกณฑ์ให้สัญชาติชนกลุ่มน้อย-กลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ใช่แย่งสิทธิคนไทย
สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ เผยแพร่ข้อมูลชี้แจง เรื่อง หลักเกณฑ์เพื่อเร่งรัดการแก้ไขปัญหาสัญชาติและสถานะบุคคลให้แก่บุคคลที่อพยพเข้ามาอยู่ ในราชอาณาจักรเป็นเวลานาน และกลุ่มบุตรที่เกิดในราชอาณาจักร
ไม่ได้เป็นต่างด้าวหน้าใหม่ แต่คือผู้ที่อยู่ในสังคมไทยมานาน หลายครอบครัวอยู่กันมารุ่นต่อรุ่น
- การประชุมสภาความมั่นคงแห่งชาติ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2567 มีมติอนุมัติให้เสนอคณะรัฐมนตรี พิจารณาเพื่อแก้ไขปัญหาสถานะของชนกลุ่มน้อย/กลุ่มชาติพันธุ์ 19 กลุ่มที่อาศัยและอพยพเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรเป็นเวลานาน รวมทั้งกลุ่มบุตรหลานของคนกลุ่มดังกล่าวที่เกิดและเติบโตในประเทศไทย ใช้ชีวิตร่วมกับคนไทยอย่างสงบ สันติสุข และมีความผูกพันกับแผ่นดินนี้โดยแท้จริง ซึ่งต่อมาเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2567 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามที่เสนอ
- ในความเป็นจริง กลุ่มคนเหล่านี้ไม่ได้เป็นต่างด้าวหน้าใหม่ แต่คือ ผู้ที่อยู่ในสังคมไทยมานาน หลายครอบครัวอยู่กันมารุ่นต่อรุ่น โดยไม่มีสถานะทางกฎหมายที่แน่นอน ดังนั้น การให้สถานะหรือสัญชาติกับบุคคลกลุ่มนี้ จึงไม่ใช่การให้ใครก็ได้เข้ามาแล้วรับสิทธิในทันที โดยเฉพาะ แรงงานต่างด้าวจากเมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม
- มติคณะรัฐมนตรีในครั้งนี้มุ่งหมายแก้ปัญหาที่เกี่ยวเนื่องจากสถานะบุคคลตามกฎหมายที่ไม่ชัดเจนให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยกำหนดเงื่อนไขการได้สถานะอย่างชัดเจนและรัดกุมรอบคอบให้เฉพาะกลุ่มเป้าหมายชนกลุ่มน้อย/กลุ่มชาติพันธุ์ ซึ่งได้รับการสำรวจ คัดกรอง และพิสูจน์เพื่อพัฒนาสถานะของบุคคล ปรากฏรายชื่ออยู่ในฐานข้อมูลของกรมการปกครองแล้ว ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ดังกล่าวกำหนดกรอบระยะเวลาใช้บังคับ 1 ปี ซึ่งผู้ยื่นคำขอจะต้องรับรองคุณสมบัติของตนเอง โดยหากให้ข้อมูลเท็จหรือพบพฤติการณ์ที่เป็นภัยจะถูกเพิกถอนสถานะในภายหลัง
การได้สถานะ แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ
- การได้สถานะ แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ 1) การได้ใบสำคัญถิ่นที่อยู่เพื่ออาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยอย่างถาวรและถูกต้องตามกฎหมายของกลุ่มชนกลุ่มน้อย/กลุ่มชาติพันธุ์ที่อพยพเข้าไทย 19 กลุ่ม จำนวน 340,101 คน และ 2) การได้สัญชาติไทยของบุตรชนกลุ่มน้อย/กลุ่มชาติพันธุ์ที่เกิดในไทย จำนวน 143,525 คน
- ค่าธรรมเนียมในการดำเนินการต่าง ๆ ของทางราชการ กำหนดอยู่ที่ 900 บาท สำหรับผู้ยื่นคำขอเพื่อให้ได้ใบสำคัญถิ่นที่อยู่ และ 100 บาท สำหรับผู้ยื่นคำขอเพื่อรับบัตรประจำตัวประชาชน
ดังนั้น หากมีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเกินอัตรา หรือค่าใช้จ่ายอื่นใด โปรดแจ้งศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริต กรมการปกครอง หรือศูนย์ดำรงธรรม เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของการดำเนินการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อป้องกันและปราบปรามผู้ไม่มีคุณสมบัติเข้ามาแสวงประโยชน์หรือถูกหลอกลวง และผู้ฉวยโอกาสแอบอ้างให้ความช่วยเหลือเพื่อหวังผลประโยขน์โดยมิชอบ
การให้สถานะไม่ใช่การแย่งสิทธิคนไทย เป็นการทำให้ทุกคนที่อาศัยอยู่ร่วมกันมีความชัดเจนในกฎหมาย
ดังนั้น การให้สถานะจึงไม่ใช่การแย่งสิทธิคนไทย แต่เป็นการทำให้ทุกคนที่อาศัยอยู่ร่วมกันมีความชัดเจนในกฎหมาย เพื่อให้รัฐบริหารจัดการได้อย่างเป็นระบบ ลดช่องโหว่การเอารัดเอาเปรียบ และที่สำคัญคือ ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนที่อาศัยอยู่ในประเทศเดียวกันให้เป็นธรรมและมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามหลักสิทธิมนุษยชน การรักษาความมั่นคง และผลประโยชน์แห่งชาติ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- โพลชี้คนไทยส่วนใหญ่เห็นใจประชาชนที่ถูกกดดันให้เลือกข้างทางการเมือง
- นายกฯ มอบบัตรปชช. กลุ่มชาติพันธุ์เชียงราย ย้ำความเสมอภาค - มีศักดิ์ศรี
- สมช.นัดถกด่วนวันนี้ ประเมินผลกระทบกัมพูชาหยุดซื้อไฟ-เน็ต
- "มาริษ" ขอบคุณทุกหน่วยงานที่ทำให้ช่วยตัวประกันคนไทยได้
- "มาริษ" ขอบคุณทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ทำให้ช่วยเหลือตัวประกันคนไทยได้