เอกชนกังวล! เจรจาไทย-สหรัฐฯ ลุ้นเส้นยาแดง 9 ก.ค.!
นายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในการเสวนาในหัวข้อ “ความเชื่อมั่นประเทศไทย : โจทย์ใหม่ในยุคเปลี่ยนแปลง” ถึงปัจจัยภายนอกที่กระทบต่อเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศไทย อย่างปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ สงครามการค้ากับสหรัฐฯ ที่ไทยต้องเร่งเจรจาอยู่ในขณะนี้ ก่อนจะครบกำหนดในวันที่ 9 กรกฎาคม 2568 ซึ่งเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้และมีความผันผวนสูง
โครงสร้างในประเทศ ‘จุดอ่อน’ กว่าประเทศอื่น
ขณะเดียวกันหลายๆประเทศก็กำลังเผชิญปัญหาเดียวกันกับไทย โดยโครงสร้างภายในของประเทศไทย นายเกรียงไกรมองว่า มีความไม่แข็งแรง อาจเป็นจุดอ่อนมากกว่าประเทศอื่นๆภายใต้สถานการณ์เดียวกัน
ซึ่งหลายปีที่ผ่านมาไทยได้รับอานิสงส์จากการเกิดสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน รวมไปถึงพันธมิตรอย่างประเทศญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน และโซนยุโรป ก็ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้เช่นเดียวกัน ทำให้เกิดการย้ายฐานการผลิตมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทยมากขึ้นด้วย
ซึ่งปีที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้ออกมาประกาศว่า เป็นความสำเร็จในรอบ 10 ปี ที่การลงทุนของไทย แตะถึง1.13 ล้านล้านบาท ส่งผลงให้ความเชื่อมั่นในต่างประเทศเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย แต่จากสถานการณ์ในขณะนี้ทำให้นักลงทุนทุกประเทศทั่วโลกต้องจับตาและชะลอการลงทุนออกไปก่อน
นักลงทุนทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย ต่างจับตาดูสถานการณ์ว่าการเจรจาการค้าระหว่างไทยและสหรัฐฯ จะมีอัตราภาษีศุลกากร (tariff) ที่ระดับเท่าไหร่ รวมไปถึงมองเปรียบเทียบกับประเทศคู่แข่งในภูมิภาคนี้ หากตัวเลขของไทยต่ำกว่าก็จะไม่มีปัญหา แต่หากประเทศอื่นต่ำกว่าก็จะมีการคิดโยกย้ายฐานการผลิตต่อไปที่ประเทศนั้นๆ
จี้หามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจริงจัง
ขณะเดียวกันภาคเอกชนได้มองถึง GDP ที่เป็นตัวชี้วัดในภาคของเศรษฐกิจ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เฉลี่ยอยู่ที่ 1.9% ยังไม่สามารถทะลุ 2% ได้อย่างต่อเนื่อง นี่คือสัญญาณเตือนว่ารัฐบาลต้องเร่งหามาตรการที่ชัดเจนและมีประสิทธิภาพในการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างจริงจัง
โดยในปีนี้คาดการณ์ว่า GDP จะอยู่ที่ 1.5 – 2% เป็นตัวชี้วัดสำคัญในการสะท้อนภาพรวมของเศรษฐกิจในหลายๆด้าน ทั้งนี้ ภาคเอกชนมีความกังวลในการเจรจาฯที่เหลืออีกไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ โดยระบุว่า หากไทยถูกขยายเวลาออกไปอาจไม่ใช่สิ่งที่ดี รวมไปถึงสถานการณ์ระหว่างไทย-กัมพูชา เนื่องจากยอดการค้าชายแดนที่หายไปประมาณวันละ 500 ล้านบาท และความไม่แน่นอนทางการเมือง ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต ทำให้ความเชื่อมั่นของไทยต่อนักลงทุนลดลงตามไปด้วย
ทั้งนี้ นายเกรียงไกร กล่าวทิ้งท้ายโดยเสนอแนะถึงรัฐบาลว่า หากทุกฝ่ายมองเห็นผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนอย่างแท้จริง จำเป็นต้องให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างสามัคคี และยังพอมีเวลาที่สามารถร่วมด้วยช่วยกันให้ผลลัพธ์ออกมาดีที่สุด
ทีดีอาร์ไอ การศึกษา-ว่างงาน ห่วงโซ่ฉุดไทยอ่อนแอ
ด้านดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวเพิ่มเติมว่า ในมิติทางสังคม ปัจจัยภายในประเทศที่ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจที่สำคัญ คือคุณภาพและการกระจายคุณภาพของประชากรไทย ในกรณีที่หากประเทศไทยต้องการลงทุนหรือหาแนวทางอะไรใหม่ๆ มองว่ารัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการสร้างคุณภาพพื้นฐาน โดยเฉพาะนักเรียนที่หลุดจากระบบการศึกษาไทยกว่า 30 ล้านคน หรือบุคคลว่างงาน
ซึ่งเป็นจุดที่ห่วงโซ่อ่อนแอเป็นอย่างมาก โดยเสนอให้มีการ Up skill / Re skill จำนวน 10 ล้านคนในทุกปี ผ่านระบบคูปอง อย่างที่ประเทศสิงค์โปร์ และอินโดนีเซียได้ทดลองทำ ซึ่งมีส่วนช่วยให้ GDP ของประเทศดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 2-3% รวมไปถึงการสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล อาทิ ให้ผู้คนรากหญ้าได้เข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายหรือราคาถูก และเมื่อโครงสร้างเหล่านี้แข็งแกร่งแล้ว จะส่งผลให้โครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจเติบโตตามไปด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เอกชนหวั่นโรงงานปิดกิจการเพิ่ม แรงงานตกงานมากกว่า 15,000 คน
รัฐฯ ย้ำ! พร้อมเจรจาสหรัฐ ด้านเอกชน แนะ! ควรเร่งคุย หวั่น ปัญหาบานปลาย
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : เอกชนกังวล! เจรจาไทย-สหรัฐฯ ลุ้นเส้นยาแดง 9 ก.ค.!
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
- Website : https://www.pptvhd36.com