ส่งออกครึ่งปีหลังเสี่ยงสูง-ตกงานอื้อ หากไทยดีลภาษีสหรัฐไม่จบ
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ (DEIIT) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ต้องการนำรายได้จากการเก็บภาษีนำเข้าโดยเฉพาะภาษีตอบโต้ทางการค้ามาชดเชยการขาดดุลงบประมาณ
หากการเจรจาภาษีตอบโต้การค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯยังไม่มีข้อสรุปตามกรอบเวลาเส้นตายและสหรัฐไม่ยืดเส้นตาย อุตสาหกรรมส่งออกครึ่งปีหลังเสี่ยงสูงมาก คาดการว่างงานเพิ่มสูงในหลายธุรกิจอุตสาหกรรมส่งออก หากมีข้อสรุปและไทยสามารถปรับลดภาษีได้ต่ำกว่า 20% หรือได้รับการยืดเส้นตาย ภาคส่งออกไทยจะยังขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง หากอัตราภาษีตอบโต้ถูกเรียกเก็บในอัตราสูงกว่า 20% ภาคส่งออกจะได้รับผลกระทบและชะลอตัวโดยเฉพาะในสินค้าส่งออกที่ไทยต้องแข่งขันกับเวียดนาม
สำหรับข้อเสนอในการเจรจาทางการค้าของไทยนั้น มีตั้งแต่
- เพิ่มช่องทางเปิดรับสินค้าสหรัฐฯ ไทยเสนอยอม ลดอัตราภาษีไทย บางรายการเพื่อเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ มีแผนขยายโควต้าการนำเข้าในสินค้าหลายประเภท เพื่อสร้างสมดุลดุลการค้า
- ป้องกันการลักลอบส่งออกผ่านประเทศที่สาม (transshipment) ไทยให้คำมั่นว่าจะ ปราบปรามการลักลอบ re-export โดยเฉพาะผ่านจีนหรือเอเชียอื่น ๆ มีการเสนอมาตรการตรวจสอบและเพิ่มความโปร่งใสในกระบวนการส่งออก
- ช่วยส่งเสริมนโยบายสร้างงานในสหรัฐฯ เสนอให้ไทย ลงทุนในสหรัฐฯ ผ่านโครงการที่สร้างงานและกระตุ้นเศรษฐกิจในสหรัฐฯ รูปแบบที่เสนอรวมถึงการสร้างโรงงานหรือโรงแรมในรัฐที่มีคนว่างงานสูง
- ลดภาระภาษีไทยเพื่อแลกกับภาษี 10% ไทยยืนยันจะยอมให้ลดภาษีให้มากที่สุดเพื่อขอแลกเป็นอัตรา reciprocal tariff 10% เท่านั้น
หากเปรียบเทียบข้อเสนอของไทยกับเวียดนามแล้ว เวียดนามให้ข้อเสนอที่สหรัฐอเมริกาพึงพอใจมากกว่าโดยเฉพาะการเปิดเสรีให้กับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯโดยไม่มีกำแพงภาษี
นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า DEIIT มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้วิเคราะห์ถึงการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรที่ได้สามารถบรรลุข้อตกลงได้และได้เงื่อนไขค่อนข้างดี เพราะ
- มีข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ อยู่แล้วบางส่วนสหรัฐฯ และ UK เคยลงนามใน ข้อตกลงความร่วมมือด้านการค้าและการลงทุน (Atlantic Charter) ตั้งแต่ปี 2021 แม้จะไม่มี FTA เต็มรูปแบบ แต่มี sectoral deal หลายฉบับ ซึ่งช่วยให้เจรจา reciprocal tariffs ได้รวดเร็ว
- เปิดตลาดด้านยานยนต์และอากาศยานให้สหรัฐฯ
- UK ตกลงเปิดตลาดให้กับ รถยนต์ไฟฟ้าและอะไหล่จากสหรัฐฯขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ผ่อนปรนภาษีนำเข้า ชิ้นส่วนอากาศยานและเครื่องบินจากอังกฤษ นอกจากนี้มีรายงานจาก U.S.-UK Reach Historic Trade Deal ระบุว่าข้อแลกเปลี่ยนแบบสองทางนี้คือหัวใจของข้อตกลง
- ความร่วมมือทางทหารและการข่าว
- UK เป็นพันธมิตรหลักในกลุ่ม Five Eyes และมีบทบาทสำคัญใน NATO สหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์นี้ และไม่ต้องการสร้างแรงเสียดทานทางการค้า
- มีดุลการค้าสมดุลกับสหรัฐฯ และ UK มี ดุลการค้าค่อนข้างสมดุลกับสหรัฐฯ (นำเข้าและส่งออกใกล้เคียงกัน) ไม่เหมือนประเทศที่โดนตั้งเป้า (เช่น จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม ไทย) ที่มีดุลการค้าเกินดุลสูงมาก
- ท่าทีเชิงบวกและการเร่งเจรจาเชิงรุก
- UK ส่งตัวแทนระดับสูงเข้าร่วมเจรจาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นเมษายน มีท่าทีประนีประนอม และรับข้อเสนอจากสหรัฐฯ หลายจุด เช่น การกำหนดกฎระเบียบเทคโนโลยีร่วมกัน ใช้แผนเจรจาแบบ sectoral (ไม่ใช่ FTA ทั้งระบบ) เน้นเปิดตลาดเฉพาะกลุ่มUK ยอมลดภาษี digital services tax เพื่อตอบโจทย์ข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ
นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า มาตรการคุมชิป AI ของสหรัฐอเมริกาในการส่งออกมาไทยและมาเลเซียเพื่อสกัดการลักลอบเข้าจีนสะท้อนการแข่งขันรุนแรงทางเทคโนโลยีเอไอระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา ที่อาจพัฒนาไปสู่การเป็นสงครามทางการค้าอีกรูปแบบหนึ่ง การกีดกันเพื่อให้คู่แข่งไม่สามารถเข้าถึง ความรู้ทางเทคโนโลยีและทรัพย์สินทางปัญญา
รวมถึงการควบคุมการเข้าถึงเทคโนโลยีเอไอ ภายใต้ นโยบาย AI Diffusion Rule มาตรการการควบคุมชิป AI ล่าสุดส่งผลกระทบอุตสาหกรมไฮเทคไทยและมาเลเซีย ส่งผลต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีใหม่ๆ นอกจากนี้ยังจะส่งผลต่อยุทธศาสตร์ในการสร้างอุตสาหกรรม Data Center ในประเทศไทยอีกด้วย