“หม่อมเจ้ารำเพย” พระนามพระบรมราชชนนี รัชกาลที่ 5 เกี่ยวอะไรกับไม้ “รำเพย” ?
“หม่อมเจ้ารำเพย” พระนามพระบรมราชชนนี รัชกาลที่ 5 เกี่ยวอะไรกับไม้ “รำเพย”
“รำเพย” คือพืชดอกชื่อเดียวกับสมเด็จพระนางเจ้ารำเพยภมราภิรมย์ หรือ “หม่อมเจ้ารำเพย” ซึ่งต่อมาคือสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี พระมเหสีในรัชกาลที่ 4 และพระบรมราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) ต้นไม้นี้มาจากไหน เป็นที่มาของพระนาม หรือนำพระนามไปตั้งเป็นชื่อต้นไม้กันแน่ ?
ข้อมูลทั่วไปของรำเพยคือ เป็นไม้ยืนต้น ความสูง 4-8 เมตร แต่คนนิยมปลูกเป็นไม้ประดับในกระถางทำให้สูงราว 2-3 เมตร ดอกมี 3 สี ได้แก่ เหลือง ส้ม และขาว ยางมีพิษ หากถูกผิวหนังจะบวมแดง เมล็ดใช้เป็นยาบำรุงหัวใจได้หากใช้ในปริมาณน้อย แต่ถ้าใช้มากอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ ส่วนอื่น ๆ มีสรรพคุณทางยาด้วย เช่น ต้นใช้แก้โรคผิวหนัง เปลือกใช้เป็นยาถ่าย รักษามาลาเรีย เป็นต้น
ดอกรำเพยยังเป็นสัญลักษณ์ของโรงเรียนเทพศิรินทร์ และเป็นที่มาของการเรียกขานตนเองด้วยความภาคภูมิใจว่า “ลูกแม่รำเพย”ของเหล่านักเรียนและบรรดาศิษย์เก่าเทพศิรินทร์
รำเพยมีหลายชื่อ เช่น กระบอก กระทอก บานบุรี ยี่โถฝรั่ง ฯลฯ เมื่อวิเคราะห์จากชื่อ ยี่โถฝรั่งแล้วก็ชวนให้คิดว่าคงเป็นพืชนำเข้า ยิ่งดูชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Thevetie peruviannaยิ่งชัดว่าต้องพบครั้งแรกในดินแดนของประเทศเปรู (Peru) ทวีปอเมริกาใต้
แล้วรำเพยมายังสยามยังไง ตั้งแต่สมัยไหน ? คำตอบของเรื่องนี้อาจวิเคราะห์ได้จากพระประวัติสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ซึ่งมีพระนามเดิมว่า “หม่อมเจ้ารำเพย”
หม่อมเจ้ารำเพย เป็นธิดาของกรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ (พระราชโอรสรัชกาลที่ 3) และหม่อมน้อย ประสูติเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2377 หนังสือ ลูกแก้วเมียขวัญของศันสนีย์ วีระศิลป์ชัยเล่าว่า พระองค์เจ้าหญิงบุตรี กรมหลวงวรเสรฐสุดา พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ทรงนำหม่อมเจ้าหญิง พระธิดากรมหมื่นมาตยาพิทักษ์ เข้ามารับใช้สนองพระเดชพระคุณในสมเด็จพระบรมอัยยิการาชเจ้า หน้าที่อยู่งานพัด
ปรากฏว่าหม่อมเจ้าหญิงปฏิบัติงานเป็นที่พอพระราชหฤทัย จึงพระราชทานนามว่า รำเพยแล้วต่อมาคือสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี พระราชชนนีในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
ด้านส. พลายน้อยเขียนถึงที่มาของต้นรำเพยในหนังสือ พืชพรรณไม้มงคล ว่า ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) มีพระสงฆ์ไทยไปศรีลังกา แล้วขากลับ พระศรีวิสุทธิวงศ์ หนึ่งในพระสงฆ์ในคณะ ได้นำต้นไม้ชนิดหนึ่งกลับมาน้อมเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ แล้วพระองค์ก็โปรดต้นไม้นั้น ดังว่า
“เล่ากันว่า ในเวลานั้นกำลังโปรดพระเจ้าหลานเธอพระองค์หนึ่ง ซึ่งอยู่งานพัดถวายเป็นที่พอพระราชหฤทัย และได้พระราชทานนามให้ว่า หม่อมเจ้าหญิงรำเพยซึ่งหมายความว่า พัดโชย ๆ
ฉะนั้นเมื่อจะตั้งชื่อต้นไม้ที่พระศรีวิสุทธิวงศ์นำมาถวายเลยพระราชทานชื่อต้นไม้นั้นว่า ต้นรำเพยไปด้วย แต่ในบรรดาชาวบ้านเรียกกันว่า ต้นกระบอก”
หากจริงตามนี้ ย่อมหมายความว่า “ไม้รำเพย” ถูกนำเข้ามาในสมัยรัชกาลที่ 3 และพระองค์เป็นผู้พระราชทานชื่อนี้ให้ด้วย
อย่างไรก็ตามปรีชา อภิวัฒนกุลแย้งเรื่องนี้ไว้ในบทความ “รำเพย ประวัติศาสตร์สับสนของต้นไม้”ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับกรกฎาคม พ.ศ. 2540 โดยระบุว่า มีร่องรอยของไม้รำเพยในสยามก่อนสมัยรัชกาลที่ 3 แล้ว เพราะกาพย์เห่เรือของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ (เจ้าฟ้ากุ้ง) ในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายก็มีกล่าวถึงรำเพยแล้ว ดังนี้
๏ ลำดวนหวลหอมตระหลบ กลิ่นอายอบสบนาสา
นึกถวิลกลิ่นบุหงา- รำไปเจ้าเศร้าถึงนาง
๏ รวยรินกลิ่นรำเพยคิดพี่เคยเชยกลิ่นปราง
นั่งแนบแอบเอวบาง ห่อนแหห่างว่างเว้นวัน
แปลว่าไม้รำเพยมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาหรือก่อนหน้านั้นแล้ว และหากเป็น “รำเพย” เดียวกับหม่อมเจ้ารำเพย พระนามพระองค์ย่อมมีที่มาจากต้นไม้ ไม่ใช่ชื่อต้นไม้มาจากพระนามของพระองค์
อ่านเพิ่มเติม :
- แรกมีปี่พาทย์มอญในงานพระศพสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี
- รัชกาลที่ 5 ทรงมี “พี่น้อง” ร่วมพระราชบิดาและพระราชมารดากี่พระองค์?
- พระนามคล้องจองของพระราชสันตติวงศ์ในรัชกาลที่ 4-5
สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม 12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!! สมัครสมาชิกคลิกที่นี่
อ้างอิง :
ศันสนีย์ วีระศิลป์ชัย. (2559). ลูกแก้วเมียขวัญ.กรุงเทพฯ : มติชน.
ส. พลายน้อย. (2540). พืชพรรณไม้มงคล. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : รวมสาส์น.
ปรีชา อภิวัฒนกุล. รำเพย ประวัติศาสตร์สับสนของต้นไม้.นิตยสารศิลปวัฒนธรรม ฉบับเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2540.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 27 กรกฎาคม 2568
อ่านข่าวต้นฉบับได้ที่ : “หม่อมเจ้ารำเพย” พระนามพระบรมราชชนนี รัชกาลที่ 5 เกี่ยวอะไรกับไม้ “รำเพย” ?
ติดตามข่าวล่าสุดได้ทุกวัน ที่นี่
– Website : https://www.silpa-mag.com