ปลุกตลาดลำไยไทย ต่อยอดสู่ความยั่งยืน ยกระดับ “ลำไยคุณภาพ” จากสวนสู่ตลาด
นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า คาดการณ์ว่าผลผลิตลำไยจะออกสู่ตลาดจำนวนมาก ในช่วงเดือนกรกฎาคม–สิงหาคม โดยกรมส่งเสริมการเกษตรได้ประสานความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ และภาคเอกชน ในการบริหารจัดการผลผลิตอย่างใกล้ชิด เพื่อพยุงราคาและดูดซับอุปทานส่วนเกิน ปัจจุบันกรมส่งเสริมการเกษตรหนุนให้เกษตรกร รวมกลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ที่มีพื้นที่การปลูกลำไย กว่า 240 กลุ่มทั่วประเทศ ครอบคลุมพื้นที่ปลูกทั่วประเทศ เช่น จ.ลำพูน เชียงใหม่ พะเยา ตาก จันทบุรี และปราจีนบุรี สำหรับภาคเหนือ จำนวน 195 แปลง พื้นที่ 77,544 ไร่ เปิดจุดรับซื้อลำไย ภาคเหนือ จำนวน 289 แห่ง โดยจำหน่ายผลสด อบแห้งทั้งเปลือก เนื้อสีทอง และแปรรูป โดยสนับสนุนองค์ความรู้ด้านการจัดการสวนให้ได้มาตรฐาน GAP และส่งเสริมการขึ้นทะเบียน GI เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับผลผลิต “แปลงใหญ่ไม่ใช่แค่การปลูกเหมือนกัน แต่คือการรวมพลังเพื่อจัดการต้นทุน คุณภาพ และตลาดร่วมกัน”
ตัวอย่างความร่วมมือในการขับเคลื่อนงานอย่างเป็นรูปธรรม เช่นจังหวัดลำพูน ได้จัดลงนาม MOU โดยผนึกกำลังระหว่างเครือข่ายแปลงใหญ่ และสมาคมผู้ผลิตลำไยอบแห้งภาคเหนือ เพื่อเชื่อมโยงตลาดลำไยภายในพื้นที่และเพิ่มโอกาสในการจำหน่ายผลผลิตลำไยรูดร่วงให้กับโรงงานแปรรูปอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีกลุ่มแปลงใหญ่และเครือข่ายในจังหวัดลำพูนกว่า 20 กลุ่ม นับเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนระบบการตลาดสินค้าเกษตรแบบมีส่วนร่วม พร้อมทั้งยกระดับการพัฒนาศักยภาพการผลิตของกลุ่มเกษตรกร
นอกจากนี้ยังได้ผลักดันผลผลิตลำไยคุณภาพจากแปลงใหญ่โดยตรง เข้าสู่ห่วงโซ่การค้า เช่น ตลาดค้าส่ง ตลาดค้าปลีก ตลาดส่งออก ไปจีน เวียดนาม อินโดนีเซีย และตะวันออกกลาง รวมถึง กรมฯ ได้เปิดตัวแคมเปญ “ผลไม้ไทยใกล้ฉัน” ภายใต้ธีม “ซื้อสินค้าเกษตรไทย เกษตรกรอยู่ได้ ประเทศไทยไปต่อ” เชิญชวนคนไทยเลือกซื้อผลไม้ไทยคุณภาพดีจากเกษตรกรโดยตรง ซึ่งสามารถสั่งซื้อผ่านช่องทางออนไลน์ ได้ที่เว็บไซต์ตลาดเกษตรกรออนไลน์.com และผ่านจุดจำหน่ายของตลาดเกษตรกรในทุกจังหวัดทั่วประเทศ จำหน่ายโดยเกษตรกรตัวจริงในราคาที่ยุติธรรมนอกจากนี้สนับสนุนให้กลุ่มเกษตรกรขอรับการสนับสนุนสินเชื่อ โดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ได้จัดทำโครงการสินเชื่อต่างๆ เพื่อรองรับกลุ่มเกษตรกรในฤดูกาลผลิตนี้ เช่น โครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย (ระยะที่ 2) เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรใช้เทคโนโลยีนวัตกรรม และขับเคลื่อนธุรกิจ โดยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อัตราร้อยละ 0.01 ต่อปี (3 ปีแรก) เป็นต้น