โบรกชี้‘ต่างชาติ’ขยับซื้อหุ้นไทย ทะลุ ‘หมื่นล้าน’ อานิสงส์ ‘ดอลลาร์อ่อน’ ลุ้นปิดดีล ‘ภาษีทรัมป์’
โบรกส่งสัญญาณ “โฟลว์ต่างชาติ” ทยอยกลับเข้าซื้อ “หุ้นไทย” ช่วงก.ค. มูลค่าทะลุ 1.1 หมื่นล้าน มองเป็นเชิงบวกแม้มีความไม่แน่นอนจากประเด็นเจรจาการค้าระหว่างไทย-สหรัฐ “บล.กสิกรไทย” มองอานิสงส์ดอลลาร์อ่อนลง 12% ตั้งแต่ต้นปี ส่งผลเม็ดเงินโยกเข้าหุ้น-พันธบัตร “บล.ฟินันเซีย ไซรัส” คาดมีความหวังมากขึ้นเกี่ยวกับโอกาสบรรลุข้อตกลงการค้าไทย-สหรัฐ “บล.เอเซีย พลัส” ชี้หุ้นไทยราคาถูกต่างชาติคาดจะทยอยเข้าช่วงครึ่งปีหลัง
แม้ความเคลื่อนไหว “ตลาดหุ้นไทย” วานนี้ (22 ก.ค.2568) ดัชนีSET INDEX ร่วง 16.38 จุด มาอยู่ที่ 1,191.75 จุด หรือ ลดลง 1.36% ด้วยมูลค่าซื้อขาย (วอลุ่ม) 49,012.85 ล้านบาท โดยดัชนีฯ กลับมาต่ำกว่า 1,200 จุดอีกครั้ง ทว่าหากดูภาพของการซื้อขายของนักลงทุนในช่วงเดือนก.ค. 2568 นั้น พบว่า “นักลงทุนต่างชาติ” ขยับเข้าซื้อสุทธิหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง สะท้อนภาพจากเม็ดเงินต่างชาติไหลกลับเข้าหุ้นไทย นับตั้งแต่วันที่ 7-22 ก.ค. 2568 มูลค่ารวมกว่า 11,058.86 ล้านบาท ซึ่งเมื่อวานนี้พบต่างชาติ “ซื้อสุทธิ” 1,821.45 ล้านบาท
นายสรพล วีระเมธีกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าทีมกลยุทธ์การลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย จำกัด ให้สัมภาษณ์กับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ภาพรวมของ “นักลงทุนต่างชาติ” พบมีเม็ดเงินไหลเข้าตลาดหุ้นไทยต่อเนื่อง ซึ่งปัจจัยหลักมาจากค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงประมาณ 12% นับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้เงินทุนไหลเข้ามาในภูมิภาคในตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตร
ทั้งนี้ เม็ดเงินต่างชาติส่วนใหญ่ไหลเข้าสู่ตลาดพันธบัตรเป็นหลัก ส่วนตลาดหุ้นไทยเพิ่งเริ่มเห็นการไหลเข้าในเดือนก.ค. 2568 แม้จะมีการไหลเข้า แต่ปริมาณยังไม่มากนัก เมื่อเทียบกับการไหลเข้าในประเทศอื่นๆ โดยยังอยู่ในหลักประมาณ 1,000 ล้านบาท อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นไทยปัจจุบันซื้อขายอยู่ที่ระดับราคาอยู่ในโซนที่ค่อนข้างถูกมาก เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของภูมิภาคที่เทรดอยู่ที่ประมาณ 1.5-2 เท่า
โดยการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติในรอบนี้ไม่ได้เข้าทุกกลุ่ม แต่กระจุกตัวในบางกลุ่ม โดยเฉพาะ “กลุ่มปิโตรเคมี” และ “กลุ่มธนาคาร” (แบงก์) นอกจากนี้ หุ้นในกลุ่มที่มีการจ่ายปันผลสูงก็เป็นอีกหนึ่งธีมที่ต่างชาติเริ่มกลับมาให้ความสนใจ
อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องจับตาการเจรจาการค้าไทยกับสหรัฐ หากไม่สำเร็จการรีบาวนด์และเงินต่างชาติไหลเข้ามาในรอบนี้อาจเป็นการจบในระยะสั้นได้เลยแต่ทว่าการเจรจาสามารถลดตัวเลขลงจาก 36% เหลือ 20% ได้ มีโอกาสฟันด์โฟลว์ก็จะมีโอกาสไหลเข้าต่อเนื่อง ซึ่งอาจเป็นปัจจัยหนุนดัชนีตลาดหุ้นให้ขึ้นไปถึง 1,275 จุดได้
นายวีระวัฒน์ วิโรจน์โภคา ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. ฟินันเซีย ไซรัส ให้ข้อมูลว่า ในช่วงที่ผ่านมามีกระแสฟันด์โฟลว์ต่างชาติไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาหลายวัน สาเหตุมาจากการที่เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ทำให้เงินสกุลเอเชียแข็งค่าขึ้น ส่งผลให้ดึงดูดให้เงินทุนไหลเข้ามาในภูมิภาค
นอกจากนี้ นักลงทุนมีความหวังมากขึ้นเกี่ยวกับโอกาสในการบรรลุข้อตกลงการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐ หลังจากที่มีตัวอย่าง กรณีเวียดนามและอินโดนีเซียที่เคยมีการทำข้อตกลงปรับลดลงมาได้ และส่งผลให้ตลาดหุ้นของประเทศเวียดนามและอินโดนีเซียปรับตัวสูงขึ้น จึงมีการคาดว่าไทยอาจมีทิศทางคล้ายกัน ทำให้มีการเก็งกำไรกระแสเงินทุนเข้ามาล่วงหน้า
“นักลงทุนต่างชาติกำลังจับจังหวะเพื่อรอดูว่าผลจาก Trade Deal จะออกมาเป็นอย่างไรและได้ประโยชน์มากน้อยแค่ไหน ก่อนที่จะตัดสินใจลงทุนเพิ่มเติมหรือถอนเงินออกไป”
นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม กรรมการบริหาร สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส จำกัด (ASPS) กล่าวว่า มองแนวโน้มฟันด์โฟลว์ต่างชาติคาดจะทยอยเข้ามาในช่วงครึ่งปีหลังต่อเนื่อง ด้วยปัจจัยเนื่องจากปัจจุบันราคาหุ้นไทยมี “ราคาถูก” จึงทำให้อาจมีแรงซื้อเข้ามาทยอยสะสมแบบช้าๆ ประกอบกับคาดว่าช่วงไตรมาส 3 ปี 2568 แรงขายจากนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนต่างชาติจะเบาลง ตามยอดเม็ดกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ที่อยู่เพียง 1.17 แสนล้านบาท ซึ่งลดลงมา 1.02 แสนล้านบาท นับตั้งแต่ช่วงต้นปี (YTD) และสัดส่วนต่างชาติถือหุ้นไทยทางตรงที่น้อยลงเรื่อยๆ จนล่าสุดอยู่ระดับ 24.2%
ขณะที่ ประเมินว่าปัจจัยลบที่เคยกดดันตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2568 เริ่มผ่อนคลายลง อาทิ สงครามในตะวันออกกลางสงบลงชั่วคราว, ปัจจัยการเมืองที่ไม่น่ากระทบการจัดทำ พรบ.งบประมาณฯ ปี 2569 และปัญหาระหว่างไทยและกัมพูชาที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยไม่ค่อยมากนัก จึงไม่น่ามีผลกระทบต่อดัชนีหุ้นไทยในช่วงครึ่งปีหลังมากแล้ว
ทั้งนี้ ประเด็นในความกังวลที่เหลืออยู่คือ การเจรจาภาษีนำเข้ากับสหรัฐ ซึ่งหากประเทศไทยยังโดนเรียกเก็บที่ระดับ 36% มองว่ามีความเสี่ยงกระทบต่อกำไรบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) เพียงสัดส่วน 1% อย่างไรก็ตาม หากถูกเก็บที่ระดับลดลงจากเดิมคาดว่ามีโอกาสที่ตลาดหุ้นไทยจะปรับตัวเพิ่มขึ้นได้มีสูงขึ้น
สำหรับ ทิศทางดอกเบี้ยไทย ในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2568 มีโอกาสลดดอกเบี้ยอีก 1-2 ครั้ง ราว 0.25-0.50% สะท้อนผ่านตราสารหนี้ไทยอายุน้อยกว่า 7 ปีที่ต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ย ขณะที่ นโยบายการคลังน่าจะมีมาตรการกระตุ้นออกมาในช่วงครึ่งปีหลังตามการเบิกจ่ายงบประจำปี 2569 ที่ยังคงกรอบเวลาเดิม หากกระบวนการของสภายังคงอยู่ และไม่มีการยุบสภาในเร็ววัน