ทางรอด!! กฎหมายหลัก 3 ฉบับ คำสั่งขึ้นภาษีของทรัมป์อาจเป็นโมฆะ
จึงทำให้สหรัฐขาดดุลการค้ากับประเทศคู่ค้าเกือบทุกประเทศ ซึ่งเป็นปัญหาที่มีมานานแล้ว ในยุคของประธานาธิบดีทรัมป์ใช้วิธีแก้ปัญหาการขาดดุลการค้าด้วยการออกคำสั่งฝ่ายบริหารขึ้นภาษีนำเข้าจากประเทศคู่ค้าที่ได้เปรียบดุลการค้า โดยไม่สนใจกติกาทางการค้าระหว่างประเทศภายใต้องค์การการค้าโลก
กฎหมายที่ประธานาธิบดีทรัมป์ใช้ออกคำสั่งขึ้นภาษี ที่สำคัญมี 3 ฉบับคือ
1.Trade Expansion Act of 1962 มาตราที่สำคัญคือมาตรา 232 บทบัญญัติที่เกี่ยวกับขั้นตอนการสอบสวนดำเนินการเมื่อมีกรณีสินค้าที่นำเข้าอาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงปลอดภัยของสหรัฐ และเสนอผลการพิจารณาต่อประธานาธิบดี เพื่อออกคำสั่งจำกัดการนำเข้าหรือขึ้นภาษีนำเข้าสินค้านั้นก็ได้
2.International Emergency Economic Powers Act of 1977 เป็นกฎหมายให้อำนาจประธานาธิบดีสหรัฐ ประกาศภาวะฉุกเฉินแห่งชาติเมื่อเห็นว่าจะมีภัยคุกคามที่ผิดปกติหรือรุนแรงจากต่างประเทศที่คุกคามต่อความมั่นคง เศรษฐกิจหรือผลประโยชน์ของสหรัฐ
ประธานาธิบดีมีอำนาจสั่งหยุดการทำธุรกรรมใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับภัยคุกคามนั้นได้ เช่น ห้ามการโอนเงิน การลงทุน การส่งออกนำเข้า หรือยึดอายัดทรัพย์สินของคนต่างชาติหรือรัฐบาลต่างชาติในสหรัฐ
3.The Trade Act of 1974 มาตราที่สำคัญคือมาตรา 301 ให้อำนาจประธานาธิบดีโดยสำนักงานผู้แทนทางการค้า USTR ในการสอบสวนและกำหนดมาตรการตอบโต้การค้าที่ไม่เป็นธรรม เช่น ขึ้นภาษีนำเข้า
คดีที่ฟ้องว่าคำสั่งขึ้นภาษีของทรัมป์ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ตั้งแต่ทรัมป์ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในสมัยที่หนึ่ง ระหว่างปี 2560- 2564 จนมาสมัยที่สองที่เริ่ม ม.ค.2568 ได้ดำเนินนโยบายเพื่อลดการขาดดุลการค้ากับประเทศคู่ค้าต่างๆ หรือตอบโต้ทางการค้ากับประเทศที่เป็นเป้าหมาย
โดยการออกคำสั่งที่เรียกว่า คำสั่งฝ่ายบริหารที่อาศัยอำนาจตามกฎหมายที่สำคัญสามฉบับดังกล่าวข้างต้นขึ้นภาษีนำเข้าประเทศคู่ค้าในอัตราต่างๆ เป็นรายประเทศมากมายหลายฉบับ
ผู้ประกอบการทั้งรายเล็กรายใหญ่และรัฐหลายรัฐที่ได้รับผลกระทบเสียหายจากคำสั่งขึ้นภาษีของทรัมป์ได้ยื่นฟ้องต่อศาลมลรัฐและศาลการค้าระหว่างประเทศ ว่าเป็นคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมาย มีการประเมินว่ารวมแล้วประมาณ 200 กว่าคดี
ประเด็นข้อกฎหมายที่สำคัญของคดี
กรณีการออกคำสั่งโดยอาศัยอำนาจตาม Trade Expansion Act of 1962 และ The Trade Act of 1974 ประเด็นหลักคือไม่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนตามกฎหมายหรือปฏิบัติไม่ครบถ้วน
กล่าวคือต้องมีการสอบสวนตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด เมื่อได้ผลการสอบสวนแล้วเป็นไปตามที่กำหนด จึงออกคำสั่งขึ้นภาษีเพื่อตอบโต้ได้ คดีเหล่านี้เมื่อสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์ ส่วนมากจะพิพากษาว่ามีการดำเนินตามขั้นตอนโดยชอบแล้ว
กรณีเป็นคำสั่งที่อาศัยอำนาจตามกฎหมาย International Emergency Economic Powers Act of 1977 ซึ่งเป็นคำสั่งที่ออกตามกฎหมายนี้มากที่สุด ประเด็นข้อกฎหมายที่สำคัญคือ ต้องมีประกาศภาวะฉุกเฉิน (ดังที่กล่าวอธิบายไว้ตอนต้น) ตัวอย่างคดีที่มีการฟ้องในกรณีนี้
- คดีระหว่าง V.O.S. Selections, Inc. และสหรัฐ โดย V.O.S. Selections, Inc ยื่นฟ้องต่อศาลการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐ (US Court of International Trade)
- คดีระหว่าง Learning Resources และ Trump โดย Learning Resources ฟ้องประธานาธิบดีทรัมป์ต่อศาล Columbia District Court. ต่อมามีการโอนคดีไปยังศาลการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐ
- คดีที่รัฐ Oregon และรัฐอื่นรวม 14 รัฐ ฟ้องประธานาธิบดีทรัมป์และพวก โดยยื่นฟ้องต่อศาลการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐ
ผลคดี คดีทั้งสาม ศาลการค้าระหว่างประเทศ มีคำพิพากษาสรุปได้ว่า คำสั่งของประธานาธิบดีทรัมป์ ที่ออกคำสั่งโดยอาศัยอำนาจตาม International Emergency Economic Powers Act of 1977 เป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ประเด็นสำคัญคือ ตามกฎหมายดังกล่าวต้องประธานาธิบดีประกาศภาวะฉุกเฉิน ว่ามีภัยมีภัยคุกคามที่ผิดปกติหรือรุนแรงจากต่างประเทศที่คุกคามต่อความมั่นคง เศรษฐกิจหรือผลประโยชน์ของสหรัฐ
ประเด็นนี้ศาลเห็นว่า การขาดดุลการค้าไม่เข้าข่ายเป็นภัยที่คุกคามผิดปกติ ตามที่ฝ่ายบริหารใช้เป็นเหตุประกาศภาวะฉุกเฉิน ประเด็นที่สองเมื่อประกาศภาวะฉุกเฉินแล้ว ฝ่ายบริหารมีอำนาจดำเนินมาตรการต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนดไว้
การขึ้นภาษีนำเข้าไม่ใช่มาตรการที่กฎหมายให้อำนาจดำเนินการได้ เป็นการทำเกินอำนาจ พิพากษาให้ฝ่ายบริหารหยุดการขึ้นและเรียกเก็บภาษีนำเข้าตามคำสั่งดังกล่าว
การอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นและขอทุเลาการบังคับคดี
ฝ่ายบริหารของสหรัฐได้ยื่นอุทธรณ์ คำพิพากษาของศาลการค้าระหว่างประเทศดังกล่าวทั้งสามคดีต่อศาลอุทธรณ์แห่งสหรัฐ และยื่นคำขอคุ้มครองชั่วคราวขอทุเลาการบังคดีตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้นไว้ทั้งสามคดี
ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้ทุเลาการบังคับคดีของศาลชั้นต้นไว้ทั้งสามคดี เป็นผลให้ฝ่ายบริหารยังคงเรียกเก็บภาษีนำเข้าตามคำสั่งไว้ได้ต่อไปจนกว่าจะมีคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์
การพิจารณาคดีของศาลสูงแห่งสหรัฐ
มีการคาดกันว่า คดีฟ้องว่าคำสั่งของทรัมป์ที่ออกโดยอาศัยอำนาจตาม International Emergency Economic Power Act of 1977 ว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายคงจะสู้คดีจนสู่การพิจารณาของศาลสูงแน่ เพราะมีประเด็นข้อกฎหมายที่สำคัญหลายประเด็น
คำพิพากษาของศาลสูงจะเป็นบรรทัดฐานที่สำคัญ หากศาลสูงวินิจฉัยว่าเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย บรรดาคำสั่งของทรัมป์ในการขึ้นภาษีนำเข้าที่ออกตามกฎหมายนี้ก็เป็นโมฆะ ใช้บังคับไม่ได้ ภาษีที่เรียกเก็บไว้แล้วก็ต้องคืนให้ผู้นำเข้า
นักกฎหมายขององค์การเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร ที่มีวัตถุประสงค์ส่งเสริมการศึกษากฎหมายรัฐธรรมนูญของสหรัฐและสำนักงานกฎหมายเอกชนบางแห่ง
เชื่อว่าโอกาสที่ศาลสูงจะพิพากษาว่าคำสั่งขึ้นภาษีของทรัมป์โดยอาศัยกฎหมายฉบับนี้ เป็นโมฆะใช้บังคับไม่ได้ ค่อนข้างสูง เพราะเกินอำนาจที่กฎหมายให้ไว้อย่างชัดเจน
ข้อสังเกต มีข้อน่าคิดว่าหากศาลสูงแห่งสหรัฐพิพากษาว่าคำสั่งขึ้นภาษีของทรัมป์ ตามกฎหมายฉบับนี้เป็นโมฆะ ประเทศที่ไปตกลงลดภาษีนำเข้าหรือยอมให้นำเข้าสินค้าหรือซื้อสินค้าจากสหรัฐเพิ่มขึ้น เพราะกลัวคำสั่งขึ้นภาษีดังกล่าว จะทำอย่างไร จะกลับคำหรือปล่อยเลยตามเลยยอมเสียค่าโง่ไปโดยดี