ทำไม “ไฮโดรเจน” คืออนาคตพลังงานไทยที่จะมุ่งสู่ Net Zero ในปี 2065?
เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2050 และ Net Zero ภายในปี 2065 คือคำมั่นของประเทศไทยบนเวทีโลก แต่การจะไปให้ถึงจุดนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่แค่การลดการใช้พลังงานจากฟอสซิล แต่ต้องเร่งหาพลังงานสะอาดใหม่ ๆ เข้ามาเติมระบบ และหนึ่งในตัวเลือกที่ทั่วโลกให้ความสำคัญมากขึ้นคือ “พลังงานไฮโดรเจน”
ไฮโดรเจนไม่ใช่ของใหม่ แต่เป็นพลังงานที่กำลังถูกปรับบทบาทใหม่ในฐานะเครื่องมือสำคัญในการลดคาร์บอนและเสริมเสถียรภาพของระบบพลังงานในอนาคต
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- กกพ. เร่งปลดล็อกขั้นตอนติดโซลาร์รูฟท็อป หลังยอดติดตั้งภาคประชาชนทะลุเป้าเร็วเกินคาดภายใน 3 ปี ช่วยประชาชนผลิตไฟฟ้าใช้เองและลดภาระค่าไฟ
- รู้จัก “BESS”: Power Bank ของระบบไฟฟ้าไทย ช่วยให้ไฟไม่ดับในยุคพลังงานใหม่ เสริมความมั่นคงระบบพลังงานไทย
- ประชาชนซื้อขายไฟฟ้าเองใกล้เป็นความจริง! กกพ. สนับสนุนการทดสอบซื้อขายไฟฟ้า P2P ในจุฬาฯ ทำได้จริง เพิ่มความมั่นใจให้ฝ่ายนโยบายก่อนขยายผล
ทำไมต้องไฮโดรเจน?
ไฮโดรเจนเป็นธาตุที่เบาที่สุดในจักรวาล ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ติดไฟง่าย และเมื่อถูกนำมาใช้เป็นพลังงาน ไม่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ในการเผาไหม้
เมื่อไฮโดรเจนถูกใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าหรือในรูปแบบของเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) จะสามารถผลิตพลังงานได้โดยไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งต่างจากเชื้อเพลิงฟอสซิลทั่วไป นั่นทำให้มันเป็นพลังงานสะอาดที่ได้รับความสนใจทั่วโลก
ประเทศที่พัฒนาแล้วต่างให้ไฮโดรเจนเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลักของการลดคาร์บอน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมหนัก การขนส่งระยะไกล และระบบไฟฟ้าที่ต้องการพลังงานเสถียร
ในกรณีของไทย ไฮโดรเจนถูกบรรจุอยู่ในแผนพีดีพีฉบับใหม่ โดยกำหนดให้โรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติต้องผสมไฮโดรเจนในสัดส่วน 5% เริ่มในปี 2030 เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความต้องการเชิงพาณิชย์ในประเทศ
ไฮโดรเจนมีกี่แบบ และไทยควรเดินหน้าแบบไหน
แม้ไฮโดรเจนจะเป็นพลังงานสะอาดในการใช้งาน แต่กระบวนการผลิตมีความหลากหลาย ซึ่งถูกจัดประเภทด้วย “สี” เพื่อให้ง่ายต่อการสื่อสาร
- Grey Hydrogen (สีเทา): ผลิตจากก๊าซธรรมชาติหรือถ่านหิน มีการปล่อย CO2 สูง
- Blue Hydrogen (สีน้ำเงิน): ผลิตจากก๊าซธรรมชาติเช่นเดียวกับสีเทา แต่มีการจับและกักเก็บคาร์บอน (CCS) ทำให้ลดการปล่อย CO2 ลงได้
- Green Hydrogen (สีเขียว): ผลิตด้วยการแยกน้ำโดยใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เช่น ลม แสงอาทิตย์ ไม่ปล่อยคาร์บอนเลย
สำหรับประเทศไทย ไฮโดรเจนที่ควรผลักดันคือ “น้ำเงิน” และ “เขียว” เพราะตอบโจทย์การลดคาร์บอน โดยเฉพาะไฮโดรเจนสีเขียวที่ใช้พลังงานลมและแสงอาทิตย์ในการผลิต หากราคาลดลงในอนาคต ก็จะกลายเป็นพลังงานที่สะอาดจริงในทุกขั้นตอน
ข้อมูลจาก การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
กรณีศึกษาประเทศต่าง ๆ ทำอะไรกับไฮโดรเจน?
สหรัฐอเมริกา ตั้งเป้าว่าภายในปี 2030 จะมีการผลิตไฮโดรเจนสะอาด 10 ล้านตันต่อปี และเพิ่มเป็น 50 ล้านตันภายในปี 2050 โดยได้จัดสรรงบประมาณหลายพันล้านดอลลาร์เพื่อสนับสนุนการพัฒนา Hydrogen Hub ทั่วประเทศ ทั้งนี้จะเน้นการใช้ในอุตสาหกรรมหนัก การบิน การเดินเรือ และการเก็บพลังงานระยะยาว
เยอรมนีนั้น มีเป้าหมายในการผลิตไฮโดรเจน 10 GW ภายในปี 2030 โดยคาดว่า 50-70% ของปริมาณไฮโดรเจนจะต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และจะนำไปใช้ในอุตสาหกรรมเหล็ก ปิโตรเคมี และภาคการขนส่ง
สหราชอาณาจักรก็ตั้งเป้าผลิตไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำ 10 GW ภายในปี 2030 โดยอย่างน้อยครึ่งหนึ่งเป็นไฮโดรเจนสีเขียว โดยลงทุนกว่า 2 พันล้านปอนด์ในโครงการไฮโดรเจน 11 โครงการ โดยจะใช้ในอุตสาหกรรม การให้ความร้อน และการผลิตไฟฟ้า
ส่วนญี่ปุ่น ก็ตั้งเป้าผลิตไฮโดรเจนคาร์บอนต่ำ 12 ล้านตันในปี 2040 ซึ่งมีบทบาทนำในเอเชีย พร้อมความร่วมมือข้ามประเทศ มีการใช้ไฮโดรเจนในหลากหลายภาคส่วน รวมถึงรถยนต์และการผลิตไฟฟ้า
บทเรียนจากประเทศเหล่านี้คือ รัฐบาลต้องจริงจังกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานไฮโดรเจน (สถานีเติมเชื้อเพลิง ท่อส่ง โรงงานผลิตไฮโดรเจนสีเขียว) พร้อมนโยบายจูงใจ (เงินอุดหนุน ลดหย่อนภาษี สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ) เพื่อกระตุ้นเอกชนให้ลงทุนและใช้ไฮโดรเจนมากขึ้น การกำหนดมาตรฐานและข้อบังคับสากลจะสร้างความเชื่อมั่นและรับประกันคุณภาพความปลอดภัย ปัจจัยเหล่านี้จะช่วยให้ไฮโดรเจนเป็นแหล่งพลังงานหลักในอนาคตได้อย่างยั่งยืน
ประเทศไทยกับไฮโดรเจน เดินทางมาถึงไหนแล้ว?
ในร่างแผน PDP 2024 ของไทย ได้กำหนดเป้าหมายให้โรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติผสมไฮโดรเจน 5% ในปี 2030 และเพิ่มเป็น 20% ระหว่างปี 2035–2037
ข้อมูลจาก SCB EIC ระบุว่า หากทำได้ตามแผนจะมีการใช้ไฮโดรเจนประมาณ 141–151 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี และอาจเพิ่มขึ้นเป็น 2,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันในปี 2050 คิดเป็นมูลค่ากว่า 80,000 ล้านบาท
ดร.นรินทร์ เผ่าวณิช
รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
ดร.นรินทร์ เผ่าวณิช รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ให้ข้อมูลว่า กฟผ. เตรียมพร้อมด้วยโครงการนำร่องผลิตไฮโดรเจนจากพลังงานลม (ที่ลำตะคอง) และจากแสงอาทิตย์ (ที่พระนครเหนือ)
โครงการนำร่องการผลิตไฮโดรเจนจากพลังงานลม ที่ศูนย์การเรียนรู้ กฟผ.ลำตะคอง
กฟผ. ยังเตรียมโรงไฟฟ้า 2 แห่ง ได้แก่ วังน้อย และน้ำพอง เพื่อรองรับการผสมไฮโดรเจนกับก๊าซธรรมชาติ โดยโรงวังน้อยจะใช้รถบรรทุกส่งไฮโดรเจนมาเติมก่อนเข้าสู่ระบบ ส่วนโรงน้ำพองจะฉีดไฮโดรเจนเข้าระบบท่อส่งโดยตรง
อย่างไรก็ตาม ดร.นรินทร์ เตือนว่า ราคาของไฮโดรเจนยังสูงกว่าก๊าซธรรมชาติมาก หากเร่งใช้ทันทีอาจกระทบต่อต้นทุนค่าไฟ จึงควรรอให้ราคาไฮโดรเจนปรับลดลง ซึ่งคาดว่าอาจเกิดขึ้นหลังปี 2030
ไฮโดรเจนคือพลังงานแห่งอนาคตของไทย
ไฮโดรเจน คือส่วนหนึ่งของอนาคตพลังงานไทยที่เริ่มต้นแล้ว ทั้งในเชิงนโยบาย เทคโนโลยี และโครงการนำร่องที่จับต้องได้จริง
การเดินหน้าสู่ Net Zero ต้องมีพลังงานสะอาดหลายรูปแบบ ไฮโดรเจนจะเป็นพลังงานที่เข้ามาเสริมระบบให้มั่นคง ยืดหยุ่น และลดคาร์บอนได้จริง
แต่ทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นได้ ต้องมีการกำกับดูแลที่สมดุล ไม่เร่งจนกระทบประชาชน และไม่ช้าเกินไปจนเสียโอกาส โดยเฉพาะบทบาทของหน่วยงานกำกับอย่างสำนักงาน กกพ. ที่ต้องเตรียมกรอบกติกาและมาตรฐานด้านความปลอดภัย การผสมผสานกับระบบพลังงานเดิม และการส่งเสริมผู้เล่นใหม่ในตลาดไฮโดรเจน
ในที่สุด ไฮโดรเจนคือหนึ่งในคำตอบสำคัญของการเปลี่ยนผ่านพลังงาน และเป็นทางเลือกที่ไทยต้องพร้อมรองรับอย่างจริงจัง