การฉีดวัคซีนช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นโรคสมองเสื่อม
โรคสมองเสื่อมและโรคทางเดินหายใจ
ผมเชื่อว่าผู้สูงอายุเช่นผมหลายคนคงจะมีความกลัว 2 โรคเป็นพิเศษ คือโรคมะเร็งและโรคสมองเสื่อม ส่วนโรคหัวใจและโรคสมองตีบตันนั้น การป้องกันคือ การควบคุมความดันและระดับคอเลสเตอรอลในเลือด ยาและแนวทางในการรักษาและลดความเสี่ยงของ 2 โรคนี้ ก็พัฒนาไปอย่างมากในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ผมจึงเชื่อว่าหลายคนไม่ได้กลัว 2 โรคนี้เท่ากับโรคมะเร็งและโรคสมองเสื่อม
ในส่วนของโรคมะเร็งนั้น ผมจะขอกล่าวถึงในอนาคต ครั้งนี้จะขอกล่าวโดยสรุปว่า มะเร็งที่ปอดและที่เต้านมผู้หญิงเกิดขึ้นบ่อยที่สุด แต่มะเร็งทั้งสองประเภทนี้สามารถลดความเสี่ยงได้ โดยไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ ควบคุมน้ำหนักตัวและออกกำลังกายให้เป็นประจำ
รวมทั้งการตรวจร่างกายเพื่อให้พบมะเร็งก่อนที่จะแพร่กระจายจากตำแหน่งเริ่มต้นไปยังส่วนอื่นๆ ของร่างกาย แต่ที่มาแรงในระยะหลังคือ มะเร็งที่ลำไส้ใหญ่ ซึ่งพบว่า เริ่มเกิดขึ้นกับผู้ที่อายุน้อยลง และมีจำนวนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ครั้งนี้ผมนำเสนองานวิจัยที่พบว่า วัคซีนที่ผู้สูงอายุควรฉีดนั้นจะช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นโรคสมองเสื่อมได้อีกด้วย
วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ งานวิจัยเมื่อปี 2564 นำข้อมูลของทหารผ่านศึกช่วงปี 2552-2562 มาวิเคราะห์พบว่า ผู้ที่อายุเกินกว่า 65 ปีนั้น กลุ่มที่ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ลดความเสี่ยงจากการเป็นโรคสมองเสื่อม (Dementia ซึ่งครอบคลุมโรคสมองเสื่อมทุกประเภทรวมทั้งโรคอัลไซเมอร์) ได้ประมาณ 14% เทียบกับคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ โดยเก็บข้อมูลจากผู้ที่ฉีดวัคซีน 66,822 คน และผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน 56,925 คน เฉลี่ยอายุ 75.5 ปี แต่เป็นผู้ชายสัดส่วนสูงถึง 91.6%
ก่อนหน้านี้มีงานวิจัยในปี 2563 ซึ่งเป็นการวิเคราะห์อภิมาน (Meta-analysis) คือ วิธีการทางสถิติที่เปรียบเทียบและรวบรวมสรุปข้อมูลจากงานวิจัยหลายๆ ชิ้นที่มีวัตถุประสงค์เดียวกัน ซึ่งพบว่า การฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นโรคสมองเสื่อมได้มากถึง 29% เทียบกับคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนดังกล่าว
วัคซีนป้องกันโรคงูสวัด ปัจจุบันมี 2 ชนิดโดยวัคซีนป้องกันงูสวัดชนิดใหม่คือซับยูนิตวัคซีน (ไม่ใช่เชื้อเป็น) Recombinant subunit zoster vaccine (RZV) มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคงูสวัด 97% วัคซีนงูสวัดนี้จำเป็นมากเพราะงูสวัดเกิดจากเชื้อไวรัส VZV ซึ่งเป็นไวรัสที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใส (เมื่อหายจากโรคอีสุกอีใส เชื้อไวรัสอีสุกอีใสจะยังไปหลบอยู่ในปมประสาท)
เราเกือบทุกคนเคยเป็นโรคอีสุกอีใส ดังนั้น การจะเป็นงูสวัดจึงไม่ใช่เรื่องยาก โดยมีปัจจัยเสี่ยง เช่น ความเครียด พักผ่อนไม่เพียงพอ อายุมากกว่า 50 ปี ได้รับยากดภูมิคุ้มกันและโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ติดเชื้อเอชไอวี เป็นโรคมะเร็ง เป็นต้น (อ้างอิงข้อมูลจาก รพ. สมิติเวช)
ที่สำคัญคือ มีงานวิจัยในปี 2564 และ 2567 รวม 3 ชิ้น พบว่า การฉีดวัคซีนประเภทนี้ลดความเสี่ยงของการเป็นโรคสมองเสื่อม ได้มากถึง 17 ถึง 20%
ล่าสุดคือ เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2568 มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดได้ทำการวิจัยเปรียบเทียบผู้ที่ฉีดวัคซีนป้องกันงูสวัด ผู้ที่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อบริเวณทางเดินหายใจ (RSV) เทียบกับคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนทั้งสอง และเทียบกับคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนใดเลย
- ผู้ที่ฉีดวัคซีน RSV ลดความเสี่ยงของการเป็นโรคสมองเสื่อมได้ 29%
- ผู้ที่ฉีดวัคซีนป้องกันงูสวัด ลดความเสี่ยงของการเป็นโรคสมองเสื่อมได้ 18%
- ผู้ที่ฉีดวัคซีนครบทั้งสองประเภทลดความเสี่ยงของการเป็นโรคสมองเสื่อมได้ 37%
นักวิจัยสันนิษฐานว่า สาเหตุที่วัคซีนดังกล่าวช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นโรคสมองเสื่อมนั้น อาจเป็นผลมาจากการที่วัคซีนช่วยลดการติดเชื้อ ซึ่งทำให้เกิดการอักเสบ (inflammation) และการอักเสบดังกล่าวเป็นอันตรายต่อเส้นเลือดและต่อเส้นเลือดสมอง นอกจากนั้น ประโยชน์ในการปกป้องสมองอาจจะมาจากสารเพิ่มประสิทธิภาพ (adjuvant) ที่ใช้ชื่อว่า AS01 ซึ่งใส่เอาไว้ในวัคซีนดังกล่าว
วัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ โรคปอดอักเสบ (Pneumonia) หรือปอดบวม พบบ่อยในผู้ที่มีภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ เช่น เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ป่วยที่พักฟื้นในโรงพยาบาล โรคปอดบวมมักเกิดจากการติดเชื้อไวรัส แบคทีเรียและเชื้อรา มีงานวิจัยเมื่อต้นปี 2567 พบว่า คนที่ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปอดบวมจะช่วยลดความเสี่ยงของการเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้ 63% เทียบกับคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนดังกล่าว ทั้งนี้ เป็นข้อมูลจากชาวอเมริกันที่อายุเท่ากับหรือเกินกว่า 65 ปี จำนวน 142,874 คน ที่ได้รับวัคซีน เทียบกับคนที่ไม่ได้รับวัคซีน 14,392 คน