สะท้อนปัญหา-ทางออก จักรวาลขยะ กทม. จ้างเอกชน เพิ่มค่าตอบแทน จนท.จัดเก็บ
วันที่ 15 ก.ค.68 นางสาวรัตติกาล แก้วเกิดมี สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตสายไหม กล่าวถึงปัญหาขยะตกค้างในพื้นที่กรุงเทพมหานครว่า ในภาพรวมกรุงเทพฯ มีขยะต้องจัดเก็บประมาณ 9,000 ต่อวัน ขยะกว่าร้อยละ 50 คือเศษอาหาร หากมีการตกค้างจะส่งกลิ่นเหม็น เป็นแหล่งเชื้อโรค ถึงแม้ กทม.จะมีนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมในการจัดการมูลฝอยหลายโครงการ เช่น โครงการไม่เทรวมโครงการ BKK Zero Waste เพื่อส่งเสริมการลดมูลฝอยและคัดแยกมูลฝอยอย่างเหมาะสม แต่ยังมีข้อร้องเรียนเรื่องมูลฝอยตกค้างจำนวนมาก ซึ่งเกิดจากการบริหารจัดการที่ไม่สอดคล้องกับปริมาณมูลฝอยเช่น เจ้าหน้าที่และรถเก็บขนมูลฝอยไม่เพียงพอ รถเก็บขนมูลฝอยไม่สามารถเข้าถึงพื้นที่ รวมทั้งรอบเวลาการจัดเก็บมูลฝอยไม่เหมาะสม
โดยเฉพาะในพื้นที่เขตสายไหม มีพื้นที่ 44.615 ตารางกิโลเมตร ทั้งหมด 79 ชุมชน (ขึ้นทะเบียน) ประชากรรวม 212,865 คน หรือ 112,477 หลังคาเรือน โดยตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.67-31 พ.ค.68 (243วัน) มีขยะจัดเก็บได้จำนวน 49,957.96 ตัน เฉลี่ย 205.59 ตันต่อวัน จากการสำรวจ พบปัญหาร้องเรียนและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการบริหารจัดการขยะ ดังนี้
1.ในหมู่บ้าน ชุมชน ที่อยู่อาศัยมานาน ไม่มีตัวกลาง หรือนิติบุคคล ยังไม่สามารถจัดหาพื้นที่รวมขยะในจุดเดียวเพื่อให้ กทม.จัดเก็บอย่างสะดวกได้ เนื่องจากบ้านที่อยู่ใกล้จุดรวมขยะไม่ยินยอม เพราะต้องทนต่อกลิ่นเหม็น ขณะที่การจัดเก็บยังไม่ต่อเนื่อง หลายพื้นที่เจ้าหน้าที่ไม่สามารถเข้าไปจัดเก็บตามรอบกำหนด 2 ครั้งต่อสัปดาห์ได้ ติดปัญหารถจอดขวาง ทางเข้าคับแคบ ซอยลึก ต้องใช้เจ้าหน้าที่เข้าไปลากขยะออกมา ส่งผลให้ล่าช้า ขยะตกค้าง เช่น ในย่านบ้านเอื้ออาทร ซึ่งมีถึง 87 อาคาร อาคารละ 45 ยูนิต
2.เรื่องสำคัญคือ จำนวนเจ้าหน้าที่จัดเก็บขยะไม่เพียงพอต่อปริมาณขยะและจำนวนพื้นที่เขต การเกลี่ยเจ้าหน้าที่จากเขตชั้นในยังไม่บรรเทาปัญหาขยะตกค้าง เนื่องจากไม่ใช่เจ้าหน้าที่ประจำ ไม่คุ้นชินเส้นทาง สภาพพื้นที่ ต้องใช้เจ้าหน้าที่กวาดเข้ามาช่วย จากการหารือกับสำนักงานเขต และผู้ที่เกี่ยวข้องพบว่า สำนักงานเขตพยายามเปิดรับสมัครเจ้าหน้าที่จัดเก็บขยะ แต่ติดปัญหาคนไม่ค่อยสนใจสมัคร หรือมาสมัครแต่ทำงานได้ไม่นานก็ลาออกไป เพราะมองว่าเงินเดือนรวมประมาณ 12,000 บาท และสวัสดิการประกันสังคม ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพ และไม่คุ้มค่าต่อความเสี่ยงด้านสุขภาพในระยะยาว จึงลาออกไปทำอย่างอื่น
3.การเพิ่มค่าธรรมเนียมขยะเพื่อกระตุ้นให้เกิดการคัดแยกขยะเป็นเรื่องดี ประชาชนพร้อมให้ความร่วมมือ แต่ในทางปฏิบัติ สังคมผู้สูงอายุในวันนี้ หลายคนยังเข้าไม่ถึง และไม่เท่าทันเทคโนโลยี การลงทะเบียน การถ่ายภาพคัดแยกขยะยืนยันในแอปพลิเคชั่นเพื่อรักษาสิทธิ์ในการเสียค่าธรรมเนียม 20 บาทต่อเดือน จึงเป็นเรื่องยากสำหรับผู้สูงอายุหลายคน รวมถึงอุปสรรคในการเดินทางไปลงทะเบียนที่สำนักงานเขต หลายคนจึงสะท้อนว่า ค่าขยะเดือนละ 60 บาท เฉลี่ยวันละ 2 บาท ก็ไม่แพง ไม่ต้องแยกขยะก็ได้ อาจส่งผลให้ภาระแยกขยะวนกลับมาที่เจ้าหน้าที่จัดเก็บขยะ
นางสาวรัตติกาล กล่าวถึงทางออกในเรื่องเหล่านี้ว่า 1.ควรประชาสัมพันธ์เรื่องการลงทะเบียน การยืนยันการคัดแยกขยะให้ชัดเจน สร้างความเข้าใจ โดยเฉพาะกลุ่มผู้สูงอายุที่อยู่บ้านเป็นส่วนใหญ่ เพื่อให้แนวทางคัดแยกขยะของ กทม.ได้ผลต่อเนื่อง และรักษาสิทธิ์ของผู้ที่ต้องการให้ความร่วมมือ รวมถึงลดภาระเจ้าหน้าที่จัดเก็บ
2.ควรให้ความสำคัญกับรายได้ สวัสดิการ ของเจ้าหน้าที่จัดเก็บขยะ เพิ่มเงินเดือนหรือค่าตอบแทนให้สอดคล้องต่อภาระหน้าที่ เพื่อจูงใจคนทำงาน ปัญหาเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอต่อปริมาณขยะในพื้นที่ส่งผลกระทบหลายอย่างเป็นห่วงโซ่
"การจัดสรรเจ้าหน้าที่ของกทม. น่าสังเกตว่า ทำไมในพื้นที่ชั้นในจึงมีเจ้าหน้าที่จัดเก็บขยะเท่ากับพื้นที่ชั้นนอก หรือมากกว่าพื้นที่ชั้นนอก ทั้งที่มีขนาดพื้นที่และประชากรน้อยกว่า ทำให้เจ้าหน้าที่ไม่มีกำลังใจที่จะทำงาน ขณะที่กทม. รับสมัครเจ้าหน้าที่อย่างต่อเนื่องและมีแนวคิดจูงใจด้วยการให้โบนัสแทนการจ้างเอกชนมาทำงาน แต่ปัญหาคือ เจ้าหน้าที่ที่เข้ามาทำงาน-ทำงานได้ไม่นานก็ลาออก แล้วจะให้โบนัสใคร ดังนั้นควรพิจารณาเพิ่มค่าตอบแทนและสวัสดิการมากกว่า หรือหาเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วย เนื่องจากปัญหาพนักงานไม่เพียงพอจะทำให้ระบบการจัดเก็บขยะต่าง ๆ รวนไปหมด"
3.หากติดข้อจำกัดด้านเพดานงบประมาณ 40% ของเงินเดือนบุคลากร กทม. ไม่สามารถจ้างพนักงานเพิ่มได้ เสนอให้ กทม.จ้างเอกชนมาดำเนินการจัดเก็บขยะทดแทน เนื่องจากภาคเอกชนมีเทคโนโลยี และมีข้อจำกัดด้านการจ้างพนักงานน้อยกว่า รวมถึง กทม.สามารถกำหนดสัญญาจ้างได้ เพื่อรับผิดชอบไม่ให้เกิดความเสียหายต่อ กทม. ทั้งนี้ เข้าใจว่าการจ้างเอกชนอาจใช้งบประมาณสูง แต่สำคัญเพื่อแก้ปัญหาที่มีมานาน ขณะที่หมู่บ้านในปัจจุบันเพิ่มขึ้น แต่จำนวนเจ้าหน้าที่และรถขยะไม่เพียงพอ
4.หากศึกษาตัวอย่างในหลายประเทศ เช่น เวียดนาม มีการใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการจัดเก็บขยะ โดยเฉพาะรถขยะที่มีระบบการจัดเก็บในตัว โดยใช้พนักงานขับรถเพียงคนเดียว ลดการใช้บุคลากรลง จึงสนับสนุนให้ กทม.นำเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น เพราะเทคโนโลยีในวันนี้ไปไกลมากแล้ว
"ควรเพิ่มสวัสดิการให้พนักงาน เพิ่มแรงจูงใจให้คนที่จะเข้ามาทำงานให้กับเรา หรือควรจ้างบริษัทเอาท์ซอร์ส หากอุปกรณ์ของกรุงเทพมหานครมีไม่เพียงพอหรือไม่ทันสมัย ปัจจุบันคนไทยไม่ค่อยสนใจมาทำงานด้านนี้แล้ว แต่หากจ้างเอกชนมาทำงานเขาสามารถจ้างคนต่างด้าวหรือคนอื่น ๆ มาทำงานด้านนี้ได้ ถ้ารถเสียหรือคนขาดหรือเกิดปัญหาอื่น ๆ เอกชนก็ต้องจัดการรับผิดชอบตามสัญญาที่กำหนดขึ้น รวมถึงควรมีการให้ความรู้การคัดแยกขยะ เพราะประชาชนยินดีให้ความร่วมมือ แต่ต้องมีบริการที่ดีและชัดเจน โดยเฉพาะคนที่ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ เพื่อความสะดวกและสร้างแรงจูงใจในการคัดแยกขยะ" นางสาวรัตติกาล กล่าว