เลขาฯ สภาพัฒน์ เผยต้องทบทวน GDP ปี 68 ใหม่ หลังไทยยังเจรจาสหรัฐไม่สำเร็จ
กรุงเทพฯ 6 ก.ค. – เลขาฯ สภาพัฒน์ ยอมรับต้องประเมิน GDP ปี 68 ใหม่ หลังไทยยังเจรจาสหรัฐไม่สำเร็จ ขณะที่เวียดนามถูกเรียกเก็บ 20% และต้องรอดูประเทศอื่นๆ ด้วย ย้ำต้องพิจารณาหลายปัจจัย เตรียมพิจารณาโครงการใช้งบ 1.57 แสนล้านบาท
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ กล่าวภายหลังเป็นวิทยากรในโครงการพัฒนาศักยภาพผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจระดับสูง (พศส.) ประจำปี 2568 หัวข้อ “รู้ทันโลกการเงิน ทลายหนี้ สู่ความยั่งยืน” ของสมาคมผู้สื่อข่าวเศรษฐกิจ ที่จัดร่วมกับธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ถึงการทบทวนตัวเลขการขยายตัวเศรษฐกิจปี 2568 หลังการเจรจากับสหรัฐยังไม่เป็นผลว่า ต้องดูปัจจัยหลายอย่าง เดิมให้กรอบจีดีพีไว้ที่ 1.3-2.3% ค่ากลาง 1.8% ในกรณีที่ไทยถูกเรียกเก็บอัตราภาษีสูงสุด 36% และประเทศอื่นไม่เปลี่ยนแปลง แต่ขณะนี้เวียดนามบรรลุการเจรจาถูกเรียกเก็บภาษีในอัตรา 20% เพราะฉะนั้นจำเป็นต้องมีการประเมินจีดีพีใหม่ และต้องรอดูประเทศอื่นๆ ทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย ที่สำคัญไทยเองจะถูกเรียกเก็บภาษีในอัตราเท่าใด ซึ่งเป็นไปได้ตั้งแต่ 10-36% พร้อมย้ำว่าสมมติฐานในการคำนวณจีดีพี มีหลากหลายมาก และมีความเป็นไปได้หลากหลายเช่นกัน จึงจำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ
“ขณะนี้ทุกอย่างมีความเป็นไปได้ทั้งหมด ซึ่งไม่มีใครสามารถเดาใจประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ ได้ หากจะถามว่าจีดีพีจะเป็นเท่าไร หลังจากตรงนี้ บนพื้นฐานที่ยังไม่รู้ว่าไทยจะถูกเรียกเก็บภาษีอัตราเท่าใด สมมติฐานในการคำนวณเยอะมาก” นายดนุชา กล่าว
สำหรับเศรษฐกิจช่วงครึ่งหลังของปี 2568 ปัจจัยเสี่ยงหลักอยู่ที่การส่งออกที่ขึ้นอยู่กับการเจรจาภาษีด้วย อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยบวก การลงทุนภาคเอกชน และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดีแม้ว่านักท่องเที่ยวจีนจะลดลง เนื่องจากนักท่องเที่ยวใช้จ่ายเพิ่มขึ้น นอกจากนี้การลงทุนภาครัฐที่จะต้องมีการใช้อย่างเต็มที่เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
นายดนุชา ยังกล่าวถึงการใช้งบกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.57 แสนล้านบาท เพื่อพิจารณาโครงการที่เสนอเข้ามาในระบบของสำนักงบประมาณกว่า 40,000 ล้านบาท นั้นเป็นโครงการที่จังหวัดและกลุ่มจังหวัดเสนอเข้ามา โดยต้องดูว่าจะบรรเทาผลกระทบในด้านไหน และต้องมีการทบทวนพิจารณารายละเอียด เนื่องจากยังมีข้อมูลไม่ตรงกันกับที่เสนอเข้ามาในระบบของสำนักงบประมาณ เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน ซึ่งโครงการเหล่านี้จะได้รับการพิจารณาก่อน หลังจากนั้นจะพิจารณาโครงการอื่นๆ.-516-สำนักข่าวไทย