ไทย-กัมพูชาระอุ! โบรกฯเตือนเสี่ยงฉุด GDP ครึ่งหลัง กระทบหุ้นเครื่องดื่ม-โรงหนัง-โรงพยาบาล
ประเด็นความขัดแย้งระหว่างไทย กัมพูชา บานปลายต่อเนื่อง ล่าสุดถึงขั้นเปิดฉากโจมตีกันไปเป็นที่เรียบร้อย หลังจากวานนี้ลดระดับความสัมพันธ์ทางการทูต สั่งปิดจุดผ่านแดน 4 แห่ง ได้แก่ ช่องอานม้า, ช่องสะงำ, ช่องจอม และช่องสายตะกู ปิดการเข้าชมปราสาท 3 แห่ง ได้แก่ ปราสาทตาเมือนธม, ตาเมือนโต๊ด และปราสาทตาควาย
ความเห็นนักวิเคราะห์บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด มองว่า สถานการณ์นี้กำลังถูกจับตามองจากสื่อระหว่างประเทศ และอาจส่งผลต่อความสัมพันธ์ทางการทูตและเศรษฐกิจระหว่างสองประเทศในระยะยาว
และสร้างปัจจัยเสี่ยงเพิ่ม DOWNSIDE GDP ไทยในช่วงครึ่งหลังปี 68 เป็นต้นไป จากตัวเลข NET EXPORTS (การค้าระหว่างประเทศ) ที่มีสัดส่วนราว 5%ของ GDP โดยกัมพูชามีดุลการค้ากับไทยราว 8พันล้านเหรียญฯ ณ ปี 2567 (ไทยเกินดุลการค้ากับกัมพูชาเป็นอันดับ 2)
โดยหากพิจารณา10 สินค้าส่งออกมากสุดของไทยไปกัมพูชา ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ(ซึ่งส่วนใหญ่คือทองคำ) สัดส่วน 36.65% น้ำมันสำเร็จรูป 13.71% น้ำตาลทราย 5.13% เครื่องดื่ม 4.58% เคมีภัณฑ์ 2.55% เป็นต้น
ซึ่งส่วนที่จะกระทบกับหุ้นในบริษัทจดทะเบียน น่าจะเป็นกลุ่มเครื่องดื่ม : คาด CBG ได้รับผลกระทบด้านลบ เนื่องจากมียอดขายเครื่องดื่มชูกำลังจากต่างประเทศหลัก มาจากประเทศกัมพูชา คิดเป็นสัดส่วนราว 37% ของยอดขายเครื่องดื่มชูกำลัง และ 21% ของยอดขายทั้งหมด
นอกจากนี้ CBG ยังมีแผนเข้าไปลงทุนสร้างโรงงานในกัมพูชาในรูปแบบ JV ซึ่งตามแผนจะเริ่มผลิตได้ในต้นปี 2569 ส่วน OSP คาดได้รับผลกระทบน้อย เนื่องจากยอดขายในกัมพูชา คิดเป็นเพียง 1-2% ของยอดขายรวม
ขณะที่ความเห็นนักวิเคราะห์บริษัท หลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด มอง กลุ่มสื่อ เป็น SENTIMENT เชิงลบระยะสั้นต่อ MAJOR ซึ่ง MAJOR มีโรงหนัง 6 แห่ง รวม 33 จอในประเทศกัมพูชา คิดเป็น 3.8% (ของจำนวนจอภาพยนตร์ทั้งหมดของ MAJOR ที่มี 863 จอ) 4-5% ของรายได้ ช่วง 2 เดือนที่ผ่านมากระทบรายได้ลดลง 15-20%
แต่มองผลกระทบดังกล่าวในเชิงจำกัด หากราคาปรับลดลงยังมองเป็นจังหวะเข้าลงทุน โดยคาดผลประกอบการจะพลิกกลับมาเติบโตเด่นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในครึ่งหลังปี 2568 เนื่องจากหนังฟอร์มใหญ่ปีนี้มาอยู่ในช่วงครึ่งปีหลัง มูลค่าพื้นฐาน 13.50 บาท
ส่วนกลุ่มโรงพยาบาล: คาดกระทบในระยะสั้นต่อกลุ่มโรงพยาบาลที่มีรายได้จากลูกค้ากัมพูชา ซึ่งโรงพยาบาลที่อยู่ตามขอบชายแดนไทย-กัมพูชา อาจทำให้ลูกค้าชะลอเข้าใช้บริการบ้างเล็กน้อย สร้าง SENTIMENT เชิงลบต่อโรงพยาบาลที่เกี่ยวข้อง
สำหรับ BDMS มีโรงพยาบาล 2 แห่งที่อยู่ในประเทศกัมพูชา สัดส่วนรายได้ 3-4% ขณะที่ BCH เนื่องจากมีโรงพยาบาล 1 แห่งที่ อรัญประเทศ สัดส่วนรายได้ 1-2% กระทบบ้างแต่ไม่มาก